เธอสู้เพื่อสิทธิ

เธอสู้เพื่อสิทธิ

เธอสู้เพื่อสิทธิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

คอลัมน์ ฎีกาชีวิต
โดย รศ.พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช

เธอไม่คาดคิดว่าสามีจะทำเรื่องไม่ถูกต้อง เรื่องที่เขาก่อขึ้นมานั้นมีผลกระทบต่อความเป็นสามีภริยาที่พึงจะมีและรักษาความซื่อสัตย์ต่อกัน เธอคิดว่าก่อนทุกสิ่งจะสายเกินไปเธอจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรักษา ความถูกต้องและเป็นการรักษาสิทธิของเธอเองในฐานะภริยา

สิบปีย้อนหลัง เขาและเธอต่างขวนขวายหาความรู้ด้วยการเรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านบริหารรัฐกิจที่มหาวิทยาลัยของรัฐมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ทั้งสองช่วยกันทำรายงานรายวิชาเพื่อเสนออาจารย์ผู้สอน จากความเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันเริ่มมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น บางวันกว่าจะช่วยกันเขียนรายงานจนแล้วเสร็จเวลาล่วงเลยเกินเที่ยงคืน เขาขออาสาขับรถไปส่งถึงบ้านอ้างว่าผู้หญิงคนเดียวนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านดึกดื่นไม่เหมาะอาจเกิดอันตรายได้

สองปีเต็มในมหาวิทยาลัย ทั้งสองคนมีความใกล้ชิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ต่างเริ่มถามถึงเรื่องส่วนตัว ชายบอกหญิงว่าเขาหย่ากับภริยาจึงเป็นหม้ายมีลูกติดหนึ่งคนวัยเจ็ดขวบ ปัจจุบันเป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากร หญิงบอกชายว่าเธอทำงานอยู่ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

เธอเล่าเรื่องส่วนตัวให้เพื่อนชายคนนี้ หลังจากเขากล่าวคำขอโทษและถามเธอในเรื่องส่วนตัวบ้างว่า เธอเคยมีคนรัก แต่เขาเป็นคนชอบหึงหวงเธออย่างไม่มีเหตุผล และชอบแสดงความไม่พอใจจนออกนอกหน้า เธอพูดติดตลกปนเศร้านิดๆ ว่าเธอได้ปริญญาโท 1 ใบ แต่เสียคนรักไป 1 คน ไม่รู้ว่าคุ้มกันรึเปล่า

ฤดูหนาวผ่านไปอีกหนึ่งรอบ จากความเป็นเพื่อนใกล้ชิดสนิทสนมกลายเป็นความรักและลงเอยด้วยการแต่งงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขนับแต่วันนั้น สามีภริยาคู่นี้ต่างขยันทำงานอดออมช่วยกันสร้างฐานะและซื้อที่ดินสร้างตึกแถว 2 คูหาราคาหลายล้านบาท แต่น่าเสียดายไม่มีบุตรด้วยกัน

หลังจากนั้น สามีได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ยกที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างให้แก่ลูกชายอันเกิดจากภริยาคนแรก ภริยาไม่พอใจที่สามีตัดสินใจโดยพลการไม่ปรึกษากับเธอเสียก่อน สามีอ้างว่าเราไม่อาจมีทายาทไว้สืบสกุลได้จึงเตรียมการไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องคนรับมรดกหากเราเสียชีวิต

ฝ่ายภริยาไม่เห็นดีด้วย เธอโต้แย้งว่าเหตุผลของสามีไม่ถูกต้อง และเตือนสามีว่าการจัดการกับทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสเธอต้องยินยอมด้วย การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อมานั้นจะใส่ชื่อผู้ใดก็ได้ เธอยินยอมให้ใส่ชื่อสามีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ทรัพย์สินได้มาระหว่างสมรสจึงถือว่าเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัว เธอเห็นว่าสามีดื้อแพ่งจึงฟ้องสามีให้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างแบ่งคนละครึ่งหรือคนละหนึ่งคูหา สามีภริยาต่างต่อสู้ทางกฎหมายและอ้างสิทธิสู้คดีกันถึงสามศาล

ที่สุด ศาลวินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงโจทก์อ้างเจ้าของที่ดินเดิมมาเบิกความเป็นพยานว่าได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยมาหลายปีแล้ว ส่วนจำเลยอ้างตัวเองว่าได้ซื้อจากผู้ขายและปลูกสร้างตึกแถวก่อนจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์

ศาลเห็นว่าการเบิกความของเจ้าของที่ดินมีน้ำหนักและเป็นคนกลาง มิได้มีผลประโยชน์กับฝ่ายใด ส่วนจำเลยเบิกความลอยๆ ว่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินล่าช้าเพราะว่าที่ดินดังกล่าวติดจำนอง แต่หาเป็นอุปสรรคในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายกันไม่ เพราะผู้ขายที่ดินย่อมได้เงินจากการขายเพื่อไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยได้ในวันเดียวกัน

ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิในทรัพย์สินกันคนละครึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมด้วย จำเลยจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์ที่พิพาทเกินกว่าส่วนของตนให้แก่คนอื่นหรือลูกชายได้ และทรัพย์พิพาทส่วนที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งเป็นสินสมรสไม่ใช่ทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในอายุความ 1 ปีตามที่กฎหมายบัญญัติ

ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook