เนื้องอกรังไข่ โรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงควรรู้ไว้ก่อนสาย
เนื้องอกรังไข่ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้หญิงอย่างมาก และผู้หญิงหลายคนก็มีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกรังไข่มากทีเดียว วันนี้เราจะพาสาวๆ ไปทำความรู้จักกันค่ะว่าเนื้องอกรังไข่คืออะไร สาเหตุ ความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะเป็นและอาการของเนื้องอก โดยศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้ค่ะ
เนื้องอกรังไข่ คืออะไร?
เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor) คืออาการที่มีก้อนเนื้องอกยื่นออกมาจากรังไข่ โดยมีสาเหตุเกิดจากเซลล์รังไข่แบ่งตัวผิดปกติจนกลายมาเป็นก้อนเนื้องอกหรือเป็นถุงหุ้มที่มีน้ำอยู่ภายใน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมจึงมีการแบ่งตัวออกมาอย่างผิดปกติ สำหรับเนื้องอกรังไข่นั้นสามารถแบ่งออกได้ 3 ชนิด ดังนี้
1.ชนิดที่เป็นถุงน้ำหรือซีสต์ (Cyst)
มีลักษณะเป็นถุง โดยมีของเหลว น้ำและเนื้อเยื่อต่างๆ บรรจุอยู่ภายใน เกิดขึ้นได้พร้อมกับการมีรอบเดือน และยังสามารถโตขึ้นหรือยุบลงได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจกลายมาเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้ด้วยเช่นกัน
2.เนื้องอกธรรมดา (Benign)
มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อที่สามารถเกิดขึ้นได้ในรังไข่ แต่เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ไม่ร้ายแรง และไม่ใช่เนื้อร้าย
3.เนื้องอกชนิดเนื้อร้าย (Malignant) หรือมะเร็งรังไข่
หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งรังไข่ กรณีนี้ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม โอกาสในการพบเนื้องอกประเภทนี้ก็มีน้อยกว่าประเภทอื่นๆ อยู่มากคือ ประมาณเพียง 6% เท่านั้นที่เนื้องอกจะแปรสภาพกลายมาเป็นมะเร็ง
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกรังไข่
- ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัว(ฝ่ายหญิง)เป็นมะเร็ง
- ผู้ที่มีประจำเดือนมาเร็ว หรือมีตั้งแต่อายุยังน้อย
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป หรือเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ เนื่องจากหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองนั้นจะมีความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกรังไข่น้อยกว่า
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วน เพราะความอ้วนจะส่งผลทำให้ฮอร์โมนเกิดความเปลี่ยนแปลง
- ผู้ที่ทานยาต่อต้านฮอร์โมนเพศหญิงหรือทานยาคุมกำเนิดแบบติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก
- ผู้ที่สูบบุหรี่
อาการเนื้องอกรังไข่
กรณีที่เนื้องอกรังไข่มีขนาดก้อนเล็กๆ อยู่มักจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวว่ามีเนื้องอกรังไข่ แต่เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดที่โตขึ้นแล้ว ก็สามารถสังเกตอาการของตนเองได้ดังนี้
- ปวดท้องน้อย
- ประจำเดือนมีความผิดปกติ
- คลำพบก้อนบริเวณหน้าท้อง
- คลื่นไส้ ท้องอืด
- ปัสสาวะบ่อย เมื่อก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
- เมื่อก้อนกดหรือเบียดทับลำไส้ผู้ป่วยจะมีอาการท้องผูกและขับถ่ายยาก
- ท้องมีลักษณะโตหรือบวมคล้ายคนท้องป่องหรืออ้วนลงพุง ทั้งที่ไม่ใช่คนอ้วน แต่กลับสัมผัสได้ถึงความอึดอัดและแน่นท้อง
- กรณีก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่โตมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า "ภาวะรังไข่บิดตัว" ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันร่วมกับมีอาการไข้ขึ้น ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณรังไข่อาจแตกออกจนมีอาการตกเลือดและเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
และสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนอีกกรณีหนึ่งก็คือ หากก้อนเนื้อเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนกว่าแค่การเป็นก้อนเนื้อธรรมดา โดยจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เกิดภาวะท้องมานหรือมีน้ำอยู่ภายในช่องท้อง จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อร้ายเกิดการลุกลามต่อไป
ทราบกันแล้วว่าเนื้องอกรังไข่คืออะไร สาเหตุของการเกิด ใครบ้างเสี่ยงที่จะเป็นและอาการของเนื้องอกที่สามารถสังเกตได้ จากนี้ใครที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวก็ต้องหมั่นสังเกตตัวเองอย่างชัดเจน หรือพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติก็ได้