Life Is Elsewhere สิทธิคนพิการอยู่หนใด
ย้อนกลับไปเมื่อวันสตรีสากลที่ผ่านมา (8 มีนาคม) สำนักข่าวบีบีซีไทย www.bbc.com/thai ทำให้สังคมไทยได้รู้จักกับ หนู นลัทพร ไกรฤกษ์ นักข่าวสาววัย 24 ปี จากสำนักข่าวประชาไท www.prachatai.com และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการทางเลือก www.thisable.me ขณะเดียวกันเธอยังคงใช้ชีวิตติดวีลแชร์ในการทำงานภาคสนามมาตลอด เนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่แรกเกิด
แม้จะเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เธอกลับวางพู่กันชั่วคราว และเลือกเดินตามวิถีของคนทำงานสื่อ เพื่อพิสูจน์ความรัก อุดมการณ์ และตรวจสอบจิตวิญญาณของตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้เราเห็นว่า แม้โลกจะเป็นพื้นที่ที่รองรับความหลากหลายของมนุษย์ทุกสภาวะ และสังคมพึงให้การสนับสนุนทุกย่างก้าวของหนทางชีวิตที่คนคนหนึ่งจะดำเนินไปอย่างเป็นปกติสุข แต่ตามสภาพความเป็นจริง บ่อยครั้งความหลากหลายดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างพร้อมใจ และเป็นหนทางการต่อสู้อันไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะกับประเด็น 'สิทธิคนพิการ’ ที่ถูกกล่าวถึงมาตลอดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความขาดเหลือทางกายภาพของกลุ่มคนพิการ บวกรวมกับการพิจารณาทิศทางการพัฒนาสังคมที่ราวกับจะตัดพวกเขาให้กลายเป็นคนชายขอบ คือปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูท่าจะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน
ทว่าคำถามที่เกิดขึ้นในใจของเราคือ จำเป็นหรือไม่ที่ประเด็นเกี่ยวกับคนพิการจะต้องถูกกล่าวถึง นำเสนอ และพูดคุยด้วยโทนเสียงที่กดดัน หดหู่ หรือสิ้นหวัง ความสงสัยดังกล่าวมากขึ้นอีกเป็นกำลังเมื่อได้สนทนากับนักข่าวสาวสายสิทธิคนพิการ ภายใต้บรรยากาศสบายๆ จากมุมมอง ความคิด บุคลิก ชีวิต และทัศนคติของเธอทำให้เราลืมไปได้อย่างสนิทใจว่าเธอเป็นคนพิการ แต่เป็นเพื่อนที่มีความฝัน ความหวัง และความเป็นมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับคนอื่นทั่วไปในสังคม
และเราอยากให้คุณได้สัมผัสกับบทสนทนาที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ที่ความขาดไร้ทางกายภาพไม่อาจลดทอนจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ของเธอลงไปได้
ก่อนอื่นอยากให้ช่วยแนะนำตัวอีกสักครั้ง
นลัทพร : ชื่อนลัทพร ไกรฤกษ์ จบการศึกษาสายวิทย์จากเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แต่พอเข้ามหาลัยวิทยาลัยก็เลือกเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสีน้ำมัน และทัศนศิลป์ ส่วนเหตุผลที่ข้ามสายไปศิลปกรรม เพราะการเรียนจบสายวิทย์มันทำให้รู้ว่า เราน่าจะไม่ถนัดกับเส้นทางในสายวิชานั้น
ตั้งแต่เรียนจบด้านศิลปกรรมคุณก็หันมาจับงานข่าวอย่างเต็มตัวเลย นั่นเป็นเพราะใจอยากทำ หรือโอกาสมันเข้ามาพอดี
นลัทพร : สารภาพว่า ตอนเรียนไม่ได้มีความคิดอยากจะเป็นนักข่าวเลย เพราะเราเรียนทางด้านทัศนศิลป์ สีน้ำมัน ศิลปะ วาดรูป มันทำให้เรื่องการทำงานเขียนไม่ได้อยู่ในสารบบความคิดเราเลยด้วยซ้ำ เรามองตัวเองเป็นนักวาด ศิลปิน นักจัดนิทรรศการ หรือไม่ก็เรียนต่อทางด้านนั้น แต่พอได้เข้าค่ายเขียนข่าวเพื่อสิทธิคนพิการของประชาไท เรามองเห็นตัวเองพอทำได้ สามารถต่อยอดได้ และนั่นก็เป็นที่มาของการทำงานข่าวในปัจจุบัน
โดยปกติทำงานประจำอยู่ออฟฟิศ หรือออกภาคสนามมากกว่ากัน
นลัทพร : ส่วนใหญ่ก็ลงภาคสนามบ้าง เพียงแต่อาจจะไม่ได้เข้มข้นอย่างการไปตามหมายข่าว ด้วยสภาพร่างกายของเรา แต่จะไปในที่ที่พอไปได้สะดวก อย่างงานสัมมนา เสวนา หรืองานแถลงข่าวที่โรงแรม
ครอบครัวของคุณเริ่มจับสัญญาณอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ตั้งแต่ตอนไหน
นลัทพร : จริงๆ คุณพ่อคุณแม่ทราบตั้งแต่ตอนเราอายุ 8 เดือน คือเราอายุเท่านั้นแต่ยังไม่เริ่มคลาน คุณแม่ก็เลยเปิดหนังสือ หาข้อมูล พาไปหาคุณหมอ แต่ก็ยังไม่พบสาเหตุ เรื่อยมาจนเราอายุประมาณ 11-12 ขวบ ก็พบว่าเราเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Spiral Muscular Atrophy) แต่ถามว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นโรค มันค่อนข้างพูดยาก คือเราเองก็นั่งรถเข็นมาตั้งแต่อยู่ประถมต้นแล้ว คือเราเดินไม่ไหวมาแต่เดิม พอมารู้สาเหตุก็จะเป็นความรู้สึกว่าเราเป็นโรคนะ แต่ไม่ได้ถึงกับประหลาดใจ หรือช็อคอะไรมาก แต่ตอนที่คุณหมอเรียกตัวเองกับคุณแม่ไปพบ หมอให้เราออกจากห้องเพื่อคุยกับคุณแม่เพียงสองคน แต่กลายเป็นว่ายิ่งทำแบบนั้นเราก็ยิ่งสงสัยหนักกว่าเดิมว่า เราเป็นอะไรกันแน่
พอจะทราบไหมว่า ประเทศไทยมีคนเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากน้อยแค่ไหน
นลัทพร : ถ้าเทียบอัตราส่วนแล้ว จะอยู่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 6,000 คน ซึ่งจริงๆ มันเป็นจำนวนที่สูงอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนมากคนที่เป็นก็จะอยู่ในระดับร้ายแรง ซึ่งจะอยู่ได้เพียงแค่ 1 ปีก็เสียชีวิต นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่ค่อยได้เห็นผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงในประเทศไทยมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแพทย์ไทยก็จะวัดระดับของโรคจากระยะเวลาที่เป็น เช่น ถ้าเป็นตั้งแต่แรกเกิดจะเป็น Type 1 แต่กรณีของเรามันมีความคาบเกี่ยวกัน คือถ้าวัดโดยการแพทย์ไทยเราเป็นก่อนช่วง 18 เดือน ก็จะเป็น Type 2 แต่ถ้าวัดโดยต่างประเทศจากระดับพัฒนาการเราจะเป็น Type 3 เราก็พยายามมองในแง่ดีว่า เราคงเป็น Type 3 เพราะอยู่มาได้จนถึงขนาดนี้ เพื่อนของเราบางคนเป็น Type 2 ขยับได้แค่นิ้วเดียว
จริงๆ แล้วการใช้ชีวิตอยู่กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมันยากลำบากตรงไหน
นลัทพร : ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกยากลำบากอะไร เพราะเราก็อยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก บางคนมาเป็นเอาช่วงหลังของชีวิตก็อาจจะรู้สึกปรับตัวยาก เคยทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองแล้วจู่ๆ กลับทำไม่ได้ แต่เราอยู่กับมันตั้งแต่จำความได้ ซึ่งมันอาจจะลำบากในด้านใดด้านหนึ่ง แต่มันก็เป็นเรื่องปกติที่เจอมาตลอด เลยไม่ได้รู้สึกลำบากอะไร
การอยู่กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่จำความได้ ทำให้คุณมองประเด็นสิทธิคนพิการของประเทศไทยอย่างไร จัดอยู่ในระดับดีหรือไม่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
นลัทพร : จริงๆ สิทธิคนพิการของเมืองไทยนั้นอยู่ในระดับที่ดีมากๆ ในกรณีที่เราพูดถึงในแง่ตัวบทกฎหมาย อาจจะดีพอๆ กับที่ญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำ แต่ในทางปฏิบัติ เรายังมีข้อบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดมากพอ ทีนี้ กฎหมายที่ไม่ถูกบังคับใช้ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า สิทธิคนพิการของประเทศไทยยังไม่ดีและทั่วถึงเท่าที่ควร
แล้วของการบังคับใช้ที่ไม่ทั่วถึงเป็นผลจากสิ่งใด เป็นเพราะภาครัฐ หรือการเรียกร้องสิทธิจากคนพิการนั้นยังไม่มากพอ
นลัทพร : เรามองว่าสิทธิคนพิการไม่น่าใช่สิ่งที่ควรต้องเรียกร้องนะ เพราะมันน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจัดหาเตรียมเอาไว้เป็นพื้นฐานด้วยซ้ำ ซึ่งมันไม่ผิดถ้าคนพิการจะออกมาเรียกร้อง แต่นั่นมันก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีมาตั้งแต่แรก ซึ่งมันไม่ใช่รึเปล่า แต่ทั้งนี้ ก็อาจจะขึ้นกับทัศนคติของคนด้วย ว่าพอไม่เห็นว่ามีกลุ่มคนพิการที่มากพอ เป็นเพียงบางส่วนของสังคม ก็ทำให้เกิดการปล่อยปละละเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าใดนัก
ในฐานะนักข่าวที่ทำประเด็นสิทธิคนพิการ คุณมีส่วนช่วยให้คนพิการในสังคมไทยตระหนักรู้ในสิทธิของตนเองมากน้อยเพียงใด
นลัทพร : ตอบยาก เพราะเราเองก็พึ่งเข้ามาทำได้ไม่นาน ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่าเราได้สร้างผลกระทบ หรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่อย่างตอนเราเขียนสิทธิคนพิการกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก และทำให้เราได้รู้ว่าสิทธิไหนที่ยังอยู่ สิทธิไหนที่ขาดหายไป และก่อให้เกิดการตระหนักรู้ว่าคนพิการจะต้องปฏิบัติอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญนี้
คำว่า ‘คนพิการต้องปฏิบัติตัวอย่างไร’ มันฟังดูค่อนข้างแปลกอยู่ อยากให้ช่วยขยายความจุดนี้
นลัทพร : มันก็ฟังดูแปลกจริงๆ เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่า คนพิการนั้นมีอยู่หลายประเภท ถ้าเป็นคนที่มีความพิการทางด้านการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งพิการทางด้านการมองเห็น มันยากมากที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นมาทำความเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญที่หนาเป็นปึกๆ ที่แม้แต่คนที่ปกติดียังยากที่จะทำความเข้าใจ ทีนี้ มันก็กลายเป็นว่า ไม่รับรู้ ไม่สนใจซะดีกว่า ซึ่งมันทำให้เราคิดว่า ควรจะดึงเอาจุดที่เป็นแก่นหลักออกมา สร้างการรับรู้ให้กว้าง และเป็นมิตรกับคนพิการให้มากขึ้น
มาถึงเรื่องการก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารคนพิการทางเลือก www.thisable.me กันบ้าง
นลัทพร : เรามองว่า ข่าวของคนพิการมันควรจะได้รับการบันทึกไว้เช่นเดียวกับข่าวประเภทอื่นๆ ให้สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น เพราะอย่างเวลาเราทำข่าวสิทธิคนพิการในประชาไท มันอาจจะถูกกลืนเข้าไปในหมวดอื่นๆ ซึ่งถ้ามีพื้นที่ที่ให้คนพิการได้แสดงออก ค้นหาข่าวเพื่อเรียนรู้สิทธิของตนเอง และสามารถแบ่งปันเรื่องราวของตนเองได้ก็คงจะดี ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นความคิดที่อยู่กับเรามานานมาก แต่มาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมถึงทำเพจเพซบุ๊คให้เป็นอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อให้ข่าวสามารถถูกแชร์ และแบ่งปันออกไปได้ง่ายขึ้น
ความคาดหวังที่มีต่อ www.thisable.me สูงขนาดไหน
นลัทพร : เราตั้งความหวังกับเว็บไซต์นี้ที่แตกต่างจากเว็บไซต์ข่าวคนพิการทั่วไป เพราะเราตั้งกลุ่มคนอ่านเป็นคนทำงานทั่วไปที่ไม่ใช่คนพิการ เพราะคิดว่าข่าวคนพิการมันไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่แต่ในวง ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า ข่าวคนพิการไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เปิดข้ามผ่านไป ซึ่งไม่ได้ช่วยในการส่งผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปสู่วงกว้างเลย เราเลยตั้งเป้าใหม่ ทำเนื้อหาให้ดูน่าสนใจมากขึ้น คนไม่พิการก็สามารถเข้ามาอ่านได้ ให้เป็นคนกลุ่มกลางๆ ไว้ก่อน
มุมมองของคนในสังคม คนพิการ และคนไม่พิการ แยกขาดออกจากกันมากน้อยเพียงใด
นลัทพร : ในปัจจุบันคนทั่วไปที่ไม่พิการ ก็เริ่มให้ความสนใจกับกิจกรรมของคนพิการมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน อย่างเช่น กิจกรรมทำร่วมกับคนพิการ หรือทำเพื่อคนพิการ แต่ข่าวที่นำเสนอออกไป มันทำให้การรับรู้เกี่ยวกับคนพิการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ในสังคมอยู่มาก เช่น การใช้คำในการนำเสนอ หรือแม้กระทั่งการใช้คำเปรียบเทียบที่ทำให้เป็นภาพจำ เช่น ของชิ้นนี้ดูพิการจังเลย หรือหนังสือเล่มนี้ดูง่อยมาก คือมันยังถูกใช้ในเชิงลบเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเราก็มองว่าอย่างน้อยที่สุด มันควรจะมีแง่มุมของความเป็นคนขึ้นมาบ้าง คนพิการไม่ควรถูกมองในแบบที่น่าสงสารจนเกินไป และไม่ควรไปทำให้บางอย่างที่คนทั่วไปสามารถทำได้เป็นปกติกลายเป็นเรื่องที่พิเศษเกินกว่าที่ควร คือมองกลางๆ ได้มั้ย มองให้เป็นคนเหมือนกัน ซึ่งที่กล่าวไปทั้งหมด มันกระทบกับคนพิการโดยตรงเลย และมันควรจะต้องเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
แง่มุมของคนพิการใดที่คุณอยากบอกคนทั่วไป เพราะส่วนใหญ่ยังอาจจะเข้าใจผิดอยู่
นลัทพร : เราคิดว่าคนพิการไม่น่ากลัว คนพิการก็คือคนทั่วไป พูดคุยได้ มีชีวิตเป็นปกติได้ หลายครั้งเลยที่คนทั่วไปไม่กล้าคุยกับคนพิการ กลัวว่าจะทำตัวไม่ถูก หรือทรีตคนพิการให้เป็นพิเศษ ดีเกินกว่าคนอื่น ซึ่งเราก็จะรู้สึกว่าไม่นะ เราไม่ได้ต้องการการปฏิบัติที่เป็นพิเศษมากมายขนาดนั้น แต่ทั้งนี้เราก็เข้าใจ เพราะถ้าไม่ได้สนิทสนมรู้จักกันจริงๆ มันจะมีความรู้สึกกระอักกระอ่วน ว่าเราควรจะปฏิบัติกับเขาในระดับไหน ดีมากน้อยเท่าใด ต้องอำนวยความสะดวเรื่องอะไร แต่พอรู้จักกันดีขึ้น ก็จะเริ่มรู้ว่าก็ช่วยเฉพาะเรื่องที่มันเกินมือเราจริงๆ เท่านั้นก็พอ หรือแม้แต่ที่นั่งรถเข็นคันนี้ ก็รู้สึกว่ามันเป็นหนึ่งในอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตเราเท่านั้น และมันก็เท่ดี พวกพี่ๆ ที่ประชาไทก็เอาไปเล่นกันบ่อย (หัวเราะ)
สาธารณูปโภคสำหรับคนพิการในกรุงเทพฯ มีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานของคนพิการมากน้อยเพียงใด
นลัทพร : ไม่พอ คือถ้ามองโดยปริมาณแล้วมันเยอะ เพียงแต่ในความเยอะ สัดส่วนที่มันใช้ได้จริงๆ มันน้อย แต่อันที่ใช้ไม่ได้กลับเยอะกว่า อย่างเช่น แผงกั้นรถมอเตอร์ไซค์หน้าที่ทำงาน มันเป็นทางลาดที่ดีมากๆ สำหรับคนพิการ แต่พอมีที่กั้นมาขวางไว้ก็จบกัน หรือสาธารณูปโภคที่หวังดี แต่ยังต้องรบกวนพึ่งพาคนทั่วไป อย่างเช่นประตูกั้นบนรถไฟฟ้า คือมันออกแบบมาดี แต่ก็ต้องรบกวนพี่ๆ พนักงานบนสถานีให้มาช่วยเปิดให้ ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น เราน่าจะทำเองได้ ที่ญี่ปุ่นมีช่องทางสำหรับคนพิการให้ตีตั๋วเข้าไปเป็นปกติเลย ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าการสร้างระบบแบบของเมืองไทยมันผิด แต่มันเกิดจากความคิดที่ว่าคนพิการต้องมีคนที่คอยช่วยเหลือมาตั้งแต่แรก
คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่สาธารณูปโภคสำหรับคนพิการของเมืองไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
นลัทพร : เราจะได้ยินมาตลอดว่า ‘คนไทยมีน้ำใจ’ ซึ่งมันส่งผลต่อการสร้างสาธารณูปโภค ที่ในความเป็นจริง มันควรจะทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตและช่วยเหลือตนเองได้อย่างเป็นปกติสุขอยู่ไม่ใช่หรือ
ปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อสารมวลชน ส่งผลต่อการทำงานในด้านการข่าวสิทธิคนพิการมากน้อยเพียงใด
นลัทพร : เรื่องสิทธิคนพิการนั้นคนทั่วไปยอมรับและให้ความเข้าใจที่มากกว่า มันไม่ถึงกับถูกปิดกั้นหรือเซนเซอร์ อาจจะเพราะเวลาพูดถึงคนพิการแล้ว มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ นั้นดูดี แต่พอเราทำข่าวที่ไปแตะในส่วนของนโยบายภาครัฐแล้ว มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อการค้นคว้าและได้มาของข้อมูลนั้นยากกว่าที่ควร อย่างเช่นนโยบาย โครงการ งบประมาณ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องยากสำหรับนักข่าวทั่วไปอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาเห็นคุณเคยเขียนบทความเรื่อง 'คนพิการไม่ได้มีแต่เรื่องป่วยไข้ มีเรื่องใคร่ๆ ด้วย' ซึ่งเป็นผลงานที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะเมื่อพูดเรื่องเพศหลายคนมักจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ แล้วอะไรทำให้คุณสนใจในประเด็นดังกล่าว
นลัทพร : ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเปิดอ่านเว็บไซต์หรือเพจข้อมูลคนพิการของต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้มีแค่เรื่องคนพิการ แต่จะร่วมถึงเรื่องการใช้ชีวิต การมีครอบครัว จนถึงเรื่องเพศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ เลยสำหรับคนทั่วไป คือยังไม่ต้องขยับไปถึงเรื่องสิทธิคนพิการ เอาแค่เรื่องความเป็นคนของกลุ่มคนพิการที่จะสามารถรู้เรื่องพวกนี้ได้ มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรมาทำความเข้าใจให้มากกว่านี้ เพราะถ้าสังคมยังไม่อาจมองว่าคนพิการสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป ยังมองว่าคนพิการต้องมีแต่เรื่องป่วยไข้ เรื่องเศร้าใจ เรื่องรันทด มันยากมากที่จะก้าวขึ้นไปถึงเรื่องสิทธิซึ่งเป็นอีกระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างเป็นไปในทางบวก คือถ้าพูดเรื่องคนพิการโดนตัดสิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิคนพิการไม่ครอบคลุม คนทั่วไปก็คงรู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรา แต่พอเราพูดถึงเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องเพศ ซึ่งเป็นเรื่องทีไม่ได้รับการพูดอย่างเปิดเผยในสังคมปกติด้วย ก็ทำให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
พูดถึงแง่มุมความรักของคุณในปัจจุบันบ้าง มีความเป็นไปอย่างไร
นลัทพร : (หัวเราะ) อันนี้ขอมองเปรียบเทียบตัวเรากับคนไม่พิการนะ คือเราเองก็ไม่รู้ว่ามันแตกต่างอย่างไร เพราะเราก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด ก็อาจจะเหมือนกับคนไม่พิการ ที่นึกภาพไม่ออกว่าถ้าคนพิการมีชีวิตแบบปกติ มีความรัก มีความสัมพันธ์ มันจะออกมาในรูปแบบใด แต่โดยส่วนตัว ก็เจอทุกรูปแบบของคนมีคู่นะ มีทะเลาะกันบ้าง ไม่เข้าใจกันบ้าง แต่มันก็อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเกิดคุณเจอคนที่ใช่ คนที่ชอบ ตรงตามแบบทุกอย่าง แต่เขา/เธอ เป็นคนพิการ จะตัดสินใจเริ่มความสัมพันธ์หรือไม่ หลายคนก็ดูจะคิดหนักขึ้น ซึ่งเราก็ยอมรับว่า มันเป็นประเด็นที่ชวนให้คิด แต่ยืนยันว่า คนพิการก็มีความสัมพันธ์เหมือนคนไม่พิการ เพียงแต่สังคมทั่วไปอาจจะไม่ได้เห็นแง่มุมนั้นบ่อยนัก
ส่วนมากความสัมพันธ์เกิดขึ้นระหว่างคนพิการกับคนพิการ หรือคนพิการกับไม่พิการมากกว่ากัน
นลัทพร : จริงๆ แล้วถ้าคนพิการจะคบหามีความสัมพันธ์กัน ก็จะเกิดจากการได้เรียนร่วมกันในโรงเรียนสำหรับคนพิการ ก็ชอบกัน ก็จีบกัน เหมือนคนทั่วไป แต่สำหรับคนพิการที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนเฉพาะทาง ก็มีชีวิตไม่แตกต่างจากคนทั่วไปนะ อย่างตัวเราเองก็ไม่เคยอยู่ในโรงเรียนเฉพาะทางเลย
แล้วความสัมพันธ์ของคนพิการมักมีเงื่อนไขอะไรเป็นพิเศษ หรือต้องนำมาพิจารณาบ้าง
นลัทพร : มันอาจจะไม่ใช่เงื่อนไขอะไรที่แตกต่างจากทั่วไป แต่จะมีบ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาพของตัวเรา เช่น บางสถานที่เราไปเองไม่ได้นะ ถ้าจะไปก็ช่วยมารับหน่อย ซึ่งถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เราว่ามันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ของคู่รักโดยทั่วไป ซึ่งอาจจะมีข้อตกลงที่แตกต่างกัน แต่เงื่อนไขจำพวก ฉันพิการ เธอจะทนได้มั้ย เรามองว่าถ้าถึงกับต้องมาทนกันเบอร์นั้น ต้องมาชี้ความพิการของเราเป็นข้อจำกัดในการคบหา มันก็ดูทรมานทั้งสองฝ่าย สู้ต่างคนต่างไปเลยไม่ดีกว่าหรือ คือการคบกันมันก็ต้องดูแลซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย มันไม่ใช่เรื่องที่ใครเสียสละให้ใคร หรือทำไปแล้วได้บุญอะไรแบบนั้น
เคยคิดไปถึงเรื่องแต่งงาน มีครอบครัว และมีลูกหรือเปล่า
นลัทพร : คิดนะ ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเด็กมาก อาจจะเพราะว่าเรามีน้อง ช่วยพ่อแม่ดูแล คงเป็นเหตุผลหลัก แต่ถามว่าจำเป็นที่จะต้องมีลูกเองหรือไม่ เราก็ไม่ได้มองไว้เป็นหนทางเดียว
เท่าที่คุยกันมา คุณดูเหมือนเป็นคนมองโลกในแง่ดีพอสมควร
นลัทพร : เป็นคนตรงๆ มากกว่า บางจังหวะก็ไม่ได้แง่ดีสดใสได้ตลอด เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมองโลกแบบความเป็นจริงด้วยซ้ำ ออกจะค่อนข้างแพนิคขี้กังวลเลย เพราะเวลาจะไปไหน จะทำอะไร เราก็จะต้องคิดทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่นั่นจะเอื้อให้กับสภาพตัวเรามั้ย คนอื่นจะมองเราแบบไหน แล้วทีนี้ มันทำให้เวลาเราต้องออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ มันก็ทำให้เรากังวลอยู่ไม่น้อย
หากเกิดอาการแพนิคขึ้นมาจะรับมือกับมันอย่างไร
นลัทพร : เรามองว่าถ้าจะแพนิคสติแตกก็ปล่อยให้มันแตกไปเลย (หัวเราะ) แต่พอจบการกังวลไปแล้วก็จดจำ และเรียนรู้ เพื่อให้คราวหน้าไม่รู้สึกกลัวเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์เหล่านั้นอีก แต่ถ้าเรื่องไหนที่มันเกินกว่าจะทำได้ทำไหวก็เลี่ยงมันไปเลยดีกว่า
เคยคิดอยากกลับไปทำงานศิลปะแบบเต็มตัวบ้างหรือเปล่า
นลัทพร : เคยนะ มันก็ต้องมีบางช่วงที่เรารู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันมันเหนื่อย แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ทุกสิ่งก็มีความเหนื่อยของมัน สีน้ำมันก็มีความลำบากในแบบหนึ่ง แต่เมื่อเรามาทำในสิ่งที่ไม่ได้ร่ำเรียน หรือเป็นความถนัด การเปรียบเทียบมันก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่เราก็คิดอยู่ตลอดว่า มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราจะทำทั้งงานข่าว และทำงานศิลปะควบคู่กันไป แต่ก็พบว่ามันยาก ที่จะทุ่มเทแบ่งเวลาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งสองทาง แต่ถ้าถามว่าเราอยากจะหยุดทำข่าวแล้วไปทำงานศิลปะในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ ก็คงบอกได้ว่ายังไม่ได้คิดไปถึงขั้นนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะหยุดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการถาวรเพื่อไปทำอีกสิ่งอย่างเต็มตัว อีกอย่างเราเองก็พึ่งอายุ 24 ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยลองทำ ก็คงยากที่จะบอกได้ว่าอนาคตต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร