วางแผน แต่งบ้าน ไม่ให้งบบานปลาย

วางแผน แต่งบ้าน ไม่ให้งบบานปลาย

วางแผน แต่งบ้าน ไม่ให้งบบานปลาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หัวใจสำคัญในการจะลงมือทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตกแต่ง ต่อเติมบ้านหรือรีโนเวทเป็นบางส่วน สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดก็คือ ‘งบประมาณ' ไม่ว่าจะใช้ซื้อวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง จ้างสถาปนิก มัณฑนากรหรือผู้รับเหมา รวมทั้งค่าเดินทางในการติดต่อประสานงานกับบุคคลที่จะมาสร้างบ้านให้เรานั้น ถ้านับรวมทั้งหมดก็เป็นจำนวนไม่น้อย
ปัญหาที่พบคือ คนส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซึ่งมักจะเกินงบประมาณที่ตนเองตั้งไว้ในตอนแรกเสมอ ฉะนั้น H & D จึงมีวิธีที่จะช่วยให้คุณคุมงบประมาณให้อยู่กับร่องกับรอยมาฝากกันดังนี้

1. ตั้งงบประมาณที่สามารถจ่ายได้

หรือเต็มใจที่จะจ่ายหากคุณมีความตั้งใจที่ตกแต่งบ้าน ขอให้รู้ไว้เลยว่า ทุกอย่างที่คิดจะทำนั้นเป็นเงินเป็นทองแทบทั้งสิ้น เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะตกแต่งในจุดไหนหรือซ่อมแซมห้องใด สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ แง้มกระเป๋าสตางค์ แล้วสำรวจว่ามีเงินที่สามารถใช้เพื่อการนี้ได้เท่าไหร่ ให้ตั้งงบประมาณที่คุณเต็มใจจะจ่าย จากนั้นก็ขอให้บวกเพิ่มไปอีก 15 - 20% สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่เผื่อเหลือเผื่อขาด แต่ถ้าใครรู้ตัวว่ามือหนักหรือลืมตัวเวลาช้อปของเข้าบ้านก็อนุโลมให้เผื่อไปมากกว่านั้นได้
สำหรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจะมาจาก
1.1 หากมีการจ้างสถาปนิกหรือมัณฑนากรให้ออกแบบ-ตกแต่งและคุมงาน
1.2 ค่าจ้างช่างก่อสร้างหรือผู้รับเหมา
1.3 ค่าวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งบ้านทั้งหลาย ซึ่งข้อนี้สามารถเพิ่มหรือลดได้ตามคุณภาพหรือเกรดของสินค้าที่เลือกใช้

 

2. ออกแบบให้จบตั้งแต่อยู่ในกระดาษ
หากคุณต้องการให้บ้านออกมาดูดี ก็ควรเลือกใช้นักออกแบบมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกหรือมัณฑนากรซึ่งมีทั้งที่เป็นสำนักงานที่รับออกแบบทั่วไปและแบบรับจ้างอิสระหรือที่เรียกว่าฟรีแลนซ์ ราคาก็จะย่อมเยาลงมาอีกขั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหากเลือกใช้นักออกแบบ มืออาชีพที่เป็นลักษณะสำนักงานออกแบบก็คือ การเปลี่ยนแบบหรือแก้แบบซึ่งมักจะยอมให้เปลี่ยนแบบตามจำนวนครั้งที่ตกลงกัน หากเกินกว่านั้นอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม

ในกรณีที่คุณคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้นักออกแบบมืออาชีพเพราะผู้รับเหมาที่คุณหามาเสนอตัวออกไอเดียตกแต่งบ้านให้แล้วคุณเกิดประทับใจ ตกลงให้ทำงาน เมื่อทำไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่าแบบที่ช่างทำอยู่นั้นไม่ตรงตามความต้องการ อยากจะแก้ไข ช่างบางคนใจดีก็แก้ให้ แต่บางคนหัวหมอขอเรียกค่าทุบรื้อสิ่งที่ทำไป โดยอ้างว่าเป็นความรับผิดชอบของเรา ก็ต้องเสียทั้งค่าแรง ค่าของ เสียเวลา และที่สำคัญเสียความรู้สึกอีกด้วย

 

3. เลือกวิธีการดำเนินงานให้เหมาะสม
ในการลงมือตกแต่งหรือปรับปรุงบ้านมีวิธีดำเนินการหลายรูปแบบ การเลือกวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสมก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณไปได้มากทีเดียว ดังนี้

+ การจ้างบริษัทรับออกแบบ-ตกแต่งเป็นผู้ดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นออกแบบ หาวัสดุอุปกรณ์มาให้เจ้าของบ้านเลือกหาผู้รับเหมามาก่อสร้าง หาสถาปนิกมาควบคุมงาน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาที่จะลงมือกำกับดูแลเองจึงมีค่าใช้จ่ายสูงแต่ก็ได้รับความสะดวกสบายแทน
+ จ้างนักออกแบบอิสระ จ้างผู้รับเหมาและให้หาซื้อวัสดุด้วย คุณต้องบอกรายละเอียดของวัสดุที่จะใช้ให้กับผู้รับเหมาและเผื่อตัวเลือกให้หากวัสดุที่ต้องการหมด วิธีนี้ผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะบวกค่าดำเนินการลงไปด้วย ทำให้ของที่ซื้อมามีราคาแพงกว่าร้านค้าทั่วไป บางครั้งวิธีนี้นักออกแบบและผู้รับเหมาอาจจะประสานงานกันในการเลือกซื้อวัสดุตามที่คุณกำหนด
+ จ้างนักออกแบบอิสระ จ้างผู้รับเหมา แต่คุณหาซื้อของเอง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาพอสมควรและมีรถยนต์เพราะต้องเดินทางไปสั่งซื้อวัสดุตกแต่งก่อสร้างเอง วิธีนี้ดูเผินๆ เหมือนจะประหยัดแต่ในกรณีที่คุณต้องเป็นผู้ขนสินค้ากลับมาที่บ้านเอง ก็จะทำให้มีต้นทุนแฝงในการเดินทางขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย


4. เลือกวัสดุให้เหมาะสม
หลายครั้งที่งบประมาณบานปลายก็มาจากการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม หรือนำไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ของวัสดุนั้นๆ อาจเกิดจากความไม่รู้หรือไม่มีผู้แนะนำจึงทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงจากการใช้งาน นอกจากวัสดุต่างๆ แล้วการตัดสินใจให้ความสำคัญกับส่วนต่างๆ ของบ้านก็มีส่วนที่จะช่วยประหยัดงบได้ เช่น ห้องที่ต้องใช้งานบ่อย อาทิ ห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ควรเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานและราคาไม่แพงเกินไป นอกจากนี้ในขั้นตอนของการซื้อของ หากใช้บริการของบริษัทรับออกแบบควรให้ทำรายการประกอบราคาสินค้าหรือ B.O.Q. (Bill of Quality) อย่างละเอียดที่สุดด้วยเพื่อเทียบกับราคากลางของสินค้าในท้องตลาด


5. วางแผนการเดินทางให้ดี
การวางแผนการเดินทางที่ดีเพื่อซื้อวัสดุและของตกแต่งบ้านสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ ยิ่งในยุคที่น้ำมันทะลุลิตรละ 30 บาทไปแล้ว จะไปไหนมาไหนแต่ละทีต้องคุ้มค่า ร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจรจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะในปัจจุบันแม้ราคาจะแพงกว่าร้านค้าทั่วไปสักนิด แต่เมื่อคิดรวมกับค่าน้ำมันที่ต้องขับรถไปหลายๆ ร้านแล้วก็อาจจะคุ้มกว่าก็เป็นได้ ที่สำคัญคือ ลองค้นหาข้อมูลสินค้าในอินเตอร์เน็ตก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปด้วยตัวเอง

ทั้ง 5 วิธีนี้คุณสามารถลงมือทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยให้คุณประหยัดงบประมาณในการสร้างและตกแต่งบ้านไม่ให้บานปลายได้

.......................................................................................

ทำอย่างไรเมื่องบบานปลาย แต่ไม่อยากกู้เงิน

1. ลดสเปควัสดุ
การลดสเปคของวัสดุที่เลือกใช้จะช่วยให้คุณสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ เช่น เปลี่ยนจากใช้กระเบื้องนำเข้า
เป็นกระเบื้องที่ผลิตในประเทศ ผนังที่จะปูกระเบื้องเปลี่ยนเป็นทาสีแทน หรืออื่นๆ ตามที่สถาปนิกหรือมัณฑนากรแนะนำโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของบ้าน

2. ลดปริมาณงาน
หากลดสเปควัสดุแล้วยังเกินงบที่ตั้งไว้อีก คุณอาจจะกลับมาดูรายการต่อเติมตกแต่งบางอย่าง อาจจะต้องตัดใจหยุดพักงานบางส่วนที่ยังไม่จำเป็นต้องทำจริงๆ ออกไปก่อน เมื่อหาเงินได้จึงค่อยๆ ทำต่อทีหลัง จะได้ไม่เป็นการรบกวนกระเป๋าสตางค์มากไปแถมไม่ต้องเป็นหนี้อีกด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook