โรคตามฤดูกาล กับ โรคระบาดใหม่ ป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งครอบครัว

โรคตามฤดูกาล กับ โรคระบาดใหม่ ป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งครอบครัว

โรคตามฤดูกาล กับ โรคระบาดใหม่ ป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งครอบครัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายนหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ ย่างก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้วนะคะ แม้ว่าบ้านเราจะยังไม่หนาวสักเท่าไหร่แต่การระบาดของโรคภัยต่างๆ ที่มักจะระบาดขึ้นในช่วงนี้ก็มีหลากหลายโรคและเริ่มสำแดงฤทธิ์ให้เราได้เห็นกันบ้างแล้วนอกจากโรคตามฤดูกาลแล้ว ในปีนี้เราก็ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งโรคคือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 ที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะระบาดหนักในช่วงต้นฤดูหนาวนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัวเรามาเตรียมพร้อมในการรับมือกับทั้งโรคตามฤดูกาลและโรคที่ระบาดใหม่ในปีนี้กันดีกว่าค่ะ

ในช่วงฤดูหนาวอย่างนี้มีหลากหลายโรคภัยที่ระบาดเป็นประจำได้แก่

ไข้หวัด
ไข้หวัดเป็นการติดเชื้อที่จมูกและคอ โดยมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเรียกรวมว่า Coryza Viruses เมื่อเชื้อเข้าสู่จมูกและคอจะทำให้เยื่อจมูกบวมและแดง มีการหลั่งของเมือก อาการที่เราจะสังเกตได้ว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา คือ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีอาการไข้และปวดกล้ามเนื้อ สาเหตุที่เราต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดานั้น เพราะว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า โดยอาการทั่วไป รุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา โรคแทรกซ้อนที่มักจะเกิดในผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาที่สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ คือ ปอดบวม ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัด เนื่องจากมีเชื้อไวรัสมีหลายชนิด วิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อหวัดสามารถทำได้ง่ายๆ เช่น หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชู่ปิดปากและล้างมือบ่อยๆ

ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Influenza virus หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสดังกล่าวนี้สามารถแพร่ระบาดได้กว้างขวาง และบางครั้งเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะระบาดในช่วงฤดูหนาว ในแต่ละปีมีการประมาณว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกสูงถึง 10-15% ของประชากรทั้งหมด ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบันมีพันธุกรรมที่กระจายอยู่ในระหว่างไวรัสด้วยกัน ทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีความสามารถแตกต่างจากเดิมและเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีนสำคัญ ที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในร่างกายได้ง่าย อาการแรกเริ่มของไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการไข้สูง 38.5-40 องศาเซลเซียสปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆสามารถติดต่อกันได้โดยการหายใจ สัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรค หรือการที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือเอามือเข้าปาก ปัจจุบันเราสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้แล้ว โดยกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน คือ เด็กเล็กผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรังและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง หากมีไข้สูงควรปรึกษาแพทย์ทันที

โรคหัด
หัดเป็นโรคที่เกิดในเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กในวัยเรียน ช่วงที่เด็กมักจะเป็นโรคหัดมักอยู่ในช่วงตั้งแต่อายุ 2 ถึง 12 ปี ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 เดือนจะยังไม่เป็นโรคนี้ เพราะได้รับภูมิคุ้มกันจากมารดา สามารถติดต่อกันได้จากการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาเสมหะน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป โรคหัดมักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อต้นฤดูร้อน อาการของโรคหัดจะคล้ายกับโรคหวัด อาการแรกเริ่มคือ มีไข้ก่อนมีน้ำมูก ไอแห้งๆ ผู้ปกครองจะทราบว่าเด็กเป็นหัดเมื่อเด็กมีอาการตาแดง และแฉะ หลังจากมีไข้ประมาณ 3-4 วันก็จะเกิดผื่นตามตัวโดยอาการทุเลาลงภายใน 1-2 วัน ปัจจุบันเรามีวัคซีน สำหรับป้องกันเป็นวัคซีนรวม หัด หัด-เยอรมัน และคางทูม ซึ่งเด็กทุกคนควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด ตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 

โรคหัดเยอรมัน
โรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่ารูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอจาม หรือหายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือหัด โดยมีระยะฟักตัวในร่างกาย 14-21 วัน หัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้ และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรก-ซ้อนน้อยกว่าหัด ลักษณะสำคัญคือ "ผื่น"ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นเม็ดละเอียดสีแดง มองเห็นเป็นปื้นๆ หรือจุดๆ กระจัดกระจาย เริ่มต้นขึ้นที่ใบหน้าก่อนจากนั้นจะลุกลามแผ่กระจายลงมาตามหน้าอก ลำตัว แขนขา จนกระทั่งทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงและจะหายไปภายใน 3 วัน ไร้ร่องรอยเหมือนไม่เคยมีมาก่อน ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งสังเกตพบได้ คือต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหูโต ซึ่งมักเกิดขึ้นมาก่อนมีผื่นประมาณ 1 สัปดาห์ แต่จะคงอยู่ ต่อไปอีก ภายหลังผื่นหายไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์ หากพบในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุ ครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ทารกที่เกิดมามีโอกาสพิการสูง และความพิการที่เกิดขึ้น ค่อนข้างรุนแรงสำหรับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หัดเยอรมันสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ และหากบังเอิญคุณไปฉีดวัคซีนป้องกัน โรคนี้ขณะตั้งครรภ์ ก็ไม่่ต้องวิตกกังวล เพราะเท่าที่มีรายงานในโลกนี้ ไม่มีทารกรายใดเลยที่พิการด้วยวัคซีนนี้

โรคไข้สุกใส
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใส หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก มีระยะฟักตัวในร่างกาย 10-20 วันโรคสุกใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้างมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก พบการระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคม-เมษายน)เช่นเดียวกับโรคหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี อาการที่เราสังเกตได้คือ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ผู้ป่วยจะมีผื่นซึ่งจะขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง และตกสะเก็ด บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส(มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส) และเปลี่ยนเป็นโรคสุกใสในปัจจุบัน ปัจจุบันวัคซีนฉีดป้องกันโรคสุกใสมีใช้ในเด็กที่มีอายุไม่เกิน 13 ปี ให้ฉีด 1 เข็ม สำหรับเด็กอายุเกิน 13 ปี ต้องฉีด 2 เข็ม โดยมีระยะเวลาห่างกัน 1-2 เดือน

โรคมือเท้าปาก
มีลักษณะเฉพาะคือ มีตุ่มน้ำใสที่มือ ปาก และเท้า โรคมือเท้าปากพบครั้งแรกเมื่อปี 2500 ที่ประเทศแคนนาดา โรคมือ เท้า ปากนี้มักจะระบาดแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่สำหรับประเทศเขตหนาวจะพบในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง ส่วนในเมืองไทยและประเทศที่อยู่เขตที่มีอากาศร้อนชื้นจะพบได้ตลอดทั้งปี จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือช่วงที่มีอากาศร้อนชื้น ในการติดต่อของโรคนี้จะติดต่อกันได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ และน้ำจากในตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสอยู่ ช่วงที่มีการแพร่กระจายของโรคมากที่สุดคือช่วงสัปดาห์แรกที่มีอาการแสดงออกมาและจะยังแพร่เชื้อได้จนกว่ารอยโรคจะหายไป อาการแรกเริ่มจะมีไข้ต่ำๆ ประมาณ1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มมีอาการเจ็บปากโดยจุดที่เราจะพบตุ่มบ่อยที่สุดคือ เพดานปาก ลิ้น และเยื่อบุกระพุ้งแก้ม เริ่มแรกจะเป็นรอยแดงก่อน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำสีเทาขนาดเล็กขอบแดงที่บริเวณผิวหนังบริเวณอื่นๆ ที่เราสามารถพบได้คือ ก้น แขน ขา และอวัยวะเพศ ส่วนในเด็กทารกนั้นอาจจะมีตุ่มกระจายไปทั่วตัว

โรต้าไวรัส
โรต้าไวรัสเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภาวะอุจจาระร่วงในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี โดยกลุ่มเด็กที่พบบ่อยคือ เด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี สำหรับในทารกแรกเกิดก็มีโอกาสพบเชื้อนี้ในอุจจาระได้เช่นกัน แต่มักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เนื่องจากได้รับการปกป้องจากภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการกินนมแม่ เพราะในนมแม่จะมีสารที่ช่วยป้องกันและยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโรต้า การระบาดของเชื้อไวรัสโรต้า เราจะสามารถพบได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-มีนาคมและในช่วงที่อากาศเย็นจะพบการติดเชื้อนี้ในเด็กมากขึ้น เด็กจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำร่วมกับอาการไข้และอาเจียน อาการถ่ายเป็นน้ำจะหายได้เองภายใน 3-7 วัน เด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้ามักมีอาการขาดน้ำรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าโรคอุจจาระร่วงจากการสาเหตุอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการแสดงที่คล้ายคลึงกับโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้ออื่น จึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยโรคนี้ด้วยอาการที่พบเพียงอย่างเดียวต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการด้วย การป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับการล้างมือบ่อยๆ การดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป การดื่มน้ำที่สะอาด การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการเกิดโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้แล้ว โดยสามารถขอคำปรึกษาได้จากกุมารแพทย์ตามโรงพยาบาลทั่วไป

โรคไข้หวัดนก
สาเหตุเกิดจากการรับเชื้อไวรัส A/H5N1 เข้าสู่ร่างกาย โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะระบาดในสัตว์ปีกเท่านั้น การที่มาติดในคนนั้นเกิดจากการที่เราไปสัมผัสถูกสารคัดหลั่งของสัตว์ อาการแรกเริ่มจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีอาการรุนแรงกว่าคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาจมีอาการแทรกซ้อนของระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และอาจจะมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีกเช่น ปอดบวม เป็นต้น ถ้าหากมีอาการอยู่ในข่ายต้องสงสัย และได้สัมผัสกับสัตว์ปีกให้ไปพบแพทย์ทันที ปีนี้นอกจากโรคที่ระบาดประจำปีแล้ว ยังมีโรคที่กลับมาระบาดใหม่อย่างชิคุน-กุนยา และโรคที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกอย่างโรคหวัด 2009 หรือไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 เพิ่มขึ้นมาอีก 2 โรค ซึ่งทำให้เราต้องระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้นและต่อไปนี้คือวิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกันตัวจากโรคระบาดใหม่ทั้ง 2 โรค

โรคชิคุนกุนยา
เป็นโรคที่พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495 ในประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศไทยนั้นพบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ที่โรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็พบว่ามีการระบาดบ้างเป็นครั้งคราวโดยพบการระบาด ครั้งล่าสุดคือ วันที่ 19 กันยายน 2551 โดยทิ้งระยะห่างจากการระบาดคราวก่อน 13 ปี ซึ่งปัจจุบันโรคชิคุนกุนยาระบาดอยู่แถบจังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง เช่น ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น โรคชิคุนกุนยามีพาหะนำโรคเป็นยุงลายที่สามารถทำให้เกิดโรคติดต่อได้ โดยทั่วไปโรคชิคุนกุนยามีระยะฟักตัวอยู่ที่ 1-12 วัน จะมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ลักษณะที่มีอาการแสดงออกมา คือ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงอักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือข้อเท้า และข้อต่อของแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขา มักไม่คันหรืออาจมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ไข้อาจจะหายในระยะนี้ (ระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย) ผื่นนี้จะลอกเป็นขุยและหายได้เองภายใน 7-10 วัน พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตได้บ่อย แต่อาการชาหรือเจ็บบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าพบได้ไม่มากอาการปวดข้อจะหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ และบางรายอาจเป็นเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี อาจพบอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่ตา ระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อบางส่วนมีอาการอ่อนๆ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกวินิจฉัยโรค หรือวินิจฉัยเป็นไข้เด็งกี่ แต่ในผู้สูงอายุอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคชิคุน-กุนยาเป็นการจำเพาะ แพทย์จะใช้การรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการปวดข้อ กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาดเนื่องจะทำให้เกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น)และเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อช่วยลดไข้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แม้ว่าจะยังไม่มีการผลิตวัคซีนมาใช้ในการรักษาโรคนี้แต่เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบบ้านเพราะยุงลายเป็นพาหะนำโรคอื่นๆ อีกด้วย

ไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่2009
ไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่าหวัด 2009 นั้นเป็นการแพร่ระบาดของของไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 สายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ไข้หวัดใหญ่จากสุกร ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในประเภทไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ชนิด A เริ่มการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยระบาดครั้งแรกที่นครเม็กซิโกซิตี้ และส่วนอื่นๆของประเทศเม็กซิโก และในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดครั้งนี้มีอาการใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่แต่มีอาการที่รุนแรงกว่าจากการนำตัวอย่างสารคัดหลั่งไปวิเคราะห์จะพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวะดีเอ็นเอภายใน โดยมีวิวัฒนาการบางส่วนมาจากเชื้อ A/H1N1 และอีกส่วนหนึ่งมาจากเชื้อไวรัสชนิด A/H5N1 หรือไข้หวัดนก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีรายงานการติดเชื้อในคนมาบ้างแล้ว ในปีนี้มีการติดเชื้อจากคนสู่คนด้วยทำให้องค์กรที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขทั่วโลกแสดงความตระหนักและความกังวลในการระบาดครั้งนี้ และสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ มีการแพร่ระบาดจากคนสู่คนทำให้องค์การอนามัยโลกแจ้งให้แต่ละประเทศเฝ้าระวังในการระบาดที่ผิดปกติ แต่อัตราเสี่ยงจากการรับประทานเนื้อหมูและอาหารที่ประกอบจากเนื้อหมูแทบจะไม่มีโอกาสเลย สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มพบการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 โดยพบในผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเม็กซิโก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วยดังนั้นวิธีการที่ป้องกันไม่ให้เราได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่งดดื่มเหล้า หากมีอาการไข้ มีน้ำมูก หรือเสมหะให้พบแพทย์ในทันที สำหรับการระบาดระลอกที่ 2 ในฤดูหนาวปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้แจ้งเตือนกับประเทศซีกโลกเหนือที่ไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าให้เตรียมรับมือการระบาดรอบที่ 2 ส่วนประเทศที่อยู่ในแถบร้อนชื้นที่เชื้อจะแพร่กระจายได้ช้ากว่าให้เตรียมความพร้อมรับจำนวนผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศในซีกโลกใต้ให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยกลุ่มที่เสี่ยงจะติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันจะลดลงไปบ้างแล้วแต่ยังพบอยู่บ้างประปราย โดยแนวทางในการรักษาปัจจุบันหากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีอาการหนักแพทย์จะสั่งยาต้านไวรัสทันที และเฝ้าระวังการเป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆอาการของผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก ต้องนำมาแยกเชื้อดูในห้องปฏิบัติการ เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีการแพร่ติดต่อเช่น เดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป เชื้อที่อยู่ในเสมหะน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด (ในระยะ 5 เมตรทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง) หรือติดจากมือ สิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา เป็นต้นแนวทางการรักษาในปัจจุบันนี้ทางองค์การอนามัยโลกได้ แจ้งไปยังประเทศต่างๆ ว่าหากพบผู้ติดเชื้อควรให้ยาทามิฟลู และยารีเลนซา ซึ่งสามารถต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ในขณะนี้ แต่ต้องรับยาภายใน 48 ชั่วโมง เพราะมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ได้อีก แต่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลนั้นยังไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ในขณะนี้ สำหรับวัคซีนที่จะนำมาฉีดป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นั้นยังอยู่ในขั้นของการผลิต แม้ว่าโรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศจะสามารถผลิตวัคซีนได้แล้วแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของทั่วโลก

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook