เลือกได้ให้เลี่ยง! 4 สารตกค้างตัวร้าย ที่แฝงในผลิตภัณฑ์สำหรับผิว
ไม่เฉพาะฉลากบนผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารเท่านั้น ที่เราต้องตั้งใจอ่านก่อนซื้อ เพื่อพิจารณารายละเอียดของส่วนผสมต่างๆ ว่ามีสารกันเสียมากน้อยแค่ไหน มีวัตถุดิบอะไรที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือเปล่า ฯลฯ แต่ฉลากที่แสดงถึงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวพรรณก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะผิวหนังไม่ต่างอะไรกับกำแพงด่านหน้าที่คอยปกป้องร่างกายจากภายนอก รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ถ้าเราไม่อ่านฉลากให้ดี แล้วเผลอรับเอาสารตกค้างที่แฝงอยู่ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สำหรับผิว ให้ซึมเข้าไปในร่างกาย จากการทำความสะอาดและบำรุงผิว สามารถเปลี่ยนเป็นเพิ่มสารตกค้างที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้
การเป็นแม่บ้านสุดประหยัดนั้นย่อมส่งผลดีต่อกระเป๋ารายจ่ายของครอบครัว แต่อย่าให้ราคาและโปรโมชั่นของสินค้า เอาชนะความรอบคอบในการอ่านฉลากส่วนผสมผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ ฉะนั้น ก่อนที่คุณแม่บ้านจะตัดสินใจซื้อสบู่ ยาสระผม ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ยันโฟมล้างมือ ครั้งหน้า โปรดสละเวลาใส่ใจอ่านฉลากให้ถ้วนถี่ แล้วระวังสารอันตราย 4 ตัวนี้เอาไว้ให้ดี
Parabens สารกลุ่มพาราเบน ชื่อที่หลายคนคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นสารกันเสีย (Preservative) ยอดนิยม ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เครื่องสำอางเสียง่าย จึงปรากฏในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมโกนหนวด น้ำยาดัดผมถาวร ยาสีฟัน และยาระงับกลิ่น เรียกว่าหยิบขวดไหนมาใช้ก็ต้องเจอพาราเบน
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขของไทยมีการรับรองให้ใช้สารในกลุ่มพาราเบนได้ 4 ชนิดในปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเคยมีการตรวจพบพาราเบนในเซลล์มะเร็ง ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความกลัวสารตัวนี้ ดังนั้น ถ้าเลือกได้ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้สารชนิดอื่นที่ผลิตจากธรรมชาติเป็นสารกันเสียแทน และไม่มีส่วนผสมของพาราเบน โดยที่ข้างขวดจะเขียนเอาไว้ว่า Paraben-free
Triclosan ไตรโคลซาน เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาสีฟัน และโรลออน มีฤทธิ์ช่วยลดหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันเหงือกอักเสบ แต่หากใช้ในปริมาณที่เกินกำหนดจะทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ การหดตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ และส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ยิ่งถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโคลซานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะยิ่งเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยา นั่นทำให้ตอนนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาห้ามผสมสารนี้ในครีมอาบน้ำและโฟมล้างมือแล้ว
Methylisothiazolinone (MIT) เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน เป็นสารกันเสียที่พบมากในครีมอาบน้ำ แชมพู ครีมบำรุงผิว และทิชชูเปียก แต่ความน่าสะพรึงยิ่งกว่านั้นคือ เป็นสารกันเสียตัวเดียวกับที่ใช้ในสีทาบ้าน! ดังนั้น หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการควบคุมให้ใช้ MIT ในความเข้มข้นที่กำหนด และให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น
Sodium Lauryl Sulfate (SLS) โซเดียมลอริลซัลเฟต เป็นสารลดแรงตึงผิวและช่วยให้เกิดฟอง พบมากในครีมอาบน้ำ แชมพู โฟมล้างหน้า เมื่อใช้มากจะทำให้เยื่อบุตาระคายเคือง ผิวแห้ง เกิดสิว และผดผื่นคัน ใครมีประวัติแพ้สาร SLS ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารนี้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ว่า SLS-Free หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเป็น Sodium Laureth sulfate หรือ SLES แทน เพราะเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า
นอกจากการระวัง 4 สารอันตรายดังกล่าวแล้ว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงผิวหนัง มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และวันเดือนปีที่ผลิต รวมถึงวันหมดอายุที่ชัดเจน หากเป็นผลิตภัณฑ์ของเด็ก ควรผ่านการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กและทารก ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารกันเสีย ที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวของคนในครอบครัว เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงไปได้อีกขั้นแล้ว
เอกสารอ้างอิง
1. ความปลอดภัยของสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสําอาง ศูนย์วิทยบริการ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15755&id_L3=3113
2. Parabens as urinary biomarkers of exposure in humans: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1764178/
3. สารเคมีในชีวิตประจำวัน สารกันเสีย : http://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d003.htm
4. Parabens : https://www.cdc.gov/biomonitoring/parabens_factsheet.html
5. Safety of ingradients used in cosmetics. J Am Acad Dermatol 2005 Jan;52(1):125-32.
6. Exposure to chemicals in Cosmetics : http://www.breastcancer.org/risk/factors/cosmetics
7. 5 Things to how about triclosan https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm205999.htm
8. Antibacterial soap? You can skip it. Use palin soap and water. https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm
9.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับที่ 4 เล่มที่ 132 หน้า 16 ฉบับปรับปรุงปี 2559
[Advertorial]