อ้วน&ผอม ไม่ดีทั้ง 2 แบบ
แบบไหนจึงเรียกว่าอ้วนไป ผอมไป
คนอ้วน หมายถึง มีไขมันส่วนเกินอยู่ในร่างกายมากเกิน ความจำเป็น ซึ่งความอ้วนเราสามารถดูได้ด้วยสายตาในกรณี ที่อ้วนจริงๆ แต่จะให้แน่นอนต้องดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัว ส่วนสูง กับการเปรียบเทียบกราฟการเจริญเติบโต คนผอมก็ตรงข้ามกับคนอ้วน คือ ไม่มีไขมัน ตัวเล็กมากเกินไป เหมือนเด็กไม่ค่อยโต ซึ่งการหาค่าว่าผอมหรือไม่ก็ใช้วิธีเดียวกับคนอ้วนนั่นเอง
ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงความอ้วนหรือความผอมที่เกิดจากสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เกิดจากโรคทางพันธุกรรม หรือมีโรคภัยไข้เจ็บ ที่ต้องใช้ยา แต่จะขอพูดถึงในเรื่องของการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมาเท่านั้น
อาหารสาเหตุหลักที่ทำให้อ้วนหรือผอม
ร่างกายต้องการอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน และช่วยให้ การทำงานภายในร่างกายทำงานอย่างปกติ ซึ่งแบ่งอาหารออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. อาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ อาหารประเภท โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ที่จะเข้าไปทำให้ร่างกายเจริญเติบโต
2. อาหารที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานให้เป็นไปอย่างปกติ และราบรื่น ได้แก่ อาหารที่ให้วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ
ซึ่งการได้รับอาหารถ้ามากไปก็ก่อให้เกิดความอ้วน ร่างกาย ได้รับสารอาหารเกินความพอดี วิตามินหรือแร่ธาตุบางตัวก็เข้าไป ก่อโรค ส่วนไขมันที่ร่างกายใช้ไม่หมด ก็เข้าไปสะสมในร่างกาย ถ้าขาดก็เช่นกัน ร่างกายไม่พอใช้ ระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติ ก็ทำให้เกิดโรค และทำให้การเจริญเติบโตไม่เป็นไปอย่างปกติ
อ้วน...แบบนี้ไม่ดีแน่
สาเหตุที่ทำให้อ้วน
+ การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม
+ โรคทางพันธุกรรม
+ กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่อ้วน ลูกมีสิทธิ์อ้วนถึงร้อยละ 80 แต่ถ้าพ่อหรือแม่อ้วน ลูกมีสิทธิ์อ้วนร้อยละ 40 แต่ก็ต้องย้อนดูอีกว่าที่พ่อแม่อ้วนเป็นเพราะอาหารการกินที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นเพราะพันธุกรรม
+ การใช้ยาบางชนิด
อันตรายจากความอ้วน
ร่างกาย : เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เมื่ออายุมากขึ้นก็เสี่ยง ต่อโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ถุงน้ำดี และมะเร็งบางชนิด ในเด็ก จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ ซึ่งมีผลให้การเจริญเติบโตชะงักได้
โรคเบาหวาน
เราคุ้นเคยกันดีว่า โรคเบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรม และมักจะเกิดขึ้นกับคนสูงวัย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่วิถีการกินเปลี่ยนแปลงไป ทำให้โรคเบาหวานเกิดขึ้นในเด็ก มากขึ้น (ตามสถิติทั่วโลกมีอุบัติการณ์เกิดโรคเบาหวานมากขึ้น เช่นกัน และ 4 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก เป็นชาวเอเชีย) องค์การอนามัยโลกกำลังกังวลกับตัวเลขเด็กที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2* เพิ่มขึ้นถึงวันละ 200 คนทั่วโลก (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2550) เด็กไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะ 20% ของเด็กอ้วน พบว่า มีความผิดปกติในการเผาผลาญกลูโคสในเลือด และในกลุ่มนี้ พบว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 แล้วถึง 3% (ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมแต่เกิดจากพฤติกรรมการกิน)
* เบาหวานประเภทที่ 2 คือ สภาพการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีการเปลี่ยนแปลงของไขมันที่ไม่ต้องการ ซึ่งกว่าจะพบว่าเป็นเบาหวานมักจะมีโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาการภายนอกที่พบบ่อย คือ กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด ไม่มีแรง ตาพร่ามัว แผลหายช้า ปวดหรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณมือหรือเท้า เกิดการติดเชื้อซ้ำ ที่ผิวหนัง เหงือก ช่องคลอด และระบบปัสสาวะ
โรคหัวใจขาดเลือด
เป็นอีกโรคที่เกิดจากความอ้วน โดยปกติมักจะเกิดกับผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มการเกิดโรคนี้ในคนที่อายุน้อยลง ซึ่งการลดอัตรา การเกิดโรคนี้ ต้องรู้จักดูแลเรื่องอาหารการกินตั้งแต่ยังเด็ก
โรคหัวใจขาดเลือด หมายถึง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง หรือไม่มี การทำงานของหัวใจก็เกิด ความผิดปกติ ถ้าเป็นมากจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย
หลอดเลือดที่ตีบหรือตันนั้น เกิดจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลไปยังหัวใจไม่สะดวก อาการสำคัญที่พบ คือ เจ็บ แน่นบริเวณ กลางหน้าอก ค่อนมาทางด้านซ้าย โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรง หายใจไม่สะดวก บางรายอาจมีการเจ็บร้าวที่หัวไหล่ แขน หรือคอ
ถ้าเด็กอ้วนที่ยังไม่ถึงขั้นเกิดโรค แต่ก็นับได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่อไป ในอนาคต และยังส่งผลต่อการเรียน มีแนวโน้มที่เด็กจะสมาธิสั้น ทำกิจกรรมไม่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง นอกจากโรคทางร่างกายแล้ว เด็กยังได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วย เพราะเด็กอ้วนมักโดนล้อเลียน มีผลต่อบุคลิกภาพ และการเข้าสังคมต่อไป
............................................
ผอมไป...ก็น่าเป็นห่วง
โดยมาก โรคที่เกิดจากการขาดอาหารมักจะเห็นได้ในประเทศที่ยากจน ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่เข้าข่ายนั้นก็ตาม แต่ก็ยังมีการขาดวิตามิน ซึ่งเกิดจากการกินอาหารที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ร่างกายมีความต้นทานโรคน้อย เกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้เช่นกัน เช่น
โรคเหน็บชา
เกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินบี 1 และยังเกิดขึ้นจากภาวะช่วงที่ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ เด็กในวัยเจริญเติบโต คนที่ทำงานหนัก ซึ่งวิธีการป้องกันโรคนี้ง่ายมาก เพียงแต่กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่แดง ข้าวซ้อมมือ
เลือดออกตามไรฟัน
ส่วนใหญ่เราจะคิดว่าเกิดจากการขาดวิตามินซี แต่ในความเป็นจริงบ้านเรา มีผักผลไม้ค่อนข้างมาก ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โอกาสเกิดโรคนี้จึงน้อย ถ้าในผู้ใหญ่มักจะเกิดจาก อาการเหงือกอักเสบมากกว่า แต่ในเด็กเล็กๆ ที่ถูกเลี้ยงด้วยนมข้นหวาน หรือไม่ได้รับผักผลไม้อย่างเพียงพอ ก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน
อาการของโรคนี้ นอกจากเลือดออกตามไรฟันแล้ว ยังมีอาการเหงือกบวม บางคนอาจเลือดกำเดาไหลง่ายขึ้นด้วย
โลหิตจาง
อาจจะเรียกว่าเป็นภาวะอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่โรคก็ได้ เกิดกับเด็กที่ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
โรคที่เกิดจากภาวะ ทุพโภชนาการ มักไม่ค่อย เกิดขึ้นกับเด็กเมืองเท่าไหร่ แต่ก็อาจมีเป็นบางอาการ เช่น ขาดวิตามินบางตัว อย่างไรก็ดี พ่อแม่คงไม่อยาก ให้ลูกเจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการ กินอาหารที่ถูกต้อง