Taxi : มีจุดหมาย แต่ไม่ถึงปลายทาง

Taxi : มีจุดหมาย แต่ไม่ถึงปลายทาง

Taxi : มีจุดหมาย แต่ไม่ถึงปลายทาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มีหลากหลายรูปแบบวิธี ทั้งขึ้นรถลงเรือ หรือการเดินทางยอดฮิตใน พ.ศ.นี้ อย่าง รถไฟฟ้า แต่ก็ยังมีบางคนที่อาจต้องไปในจุดหมายที่รถไฟฟ้าไปไม่ถึง ทำให้บางครั้ง แท็กซี่ ดูจะเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วกว่า อย่างเช่นในกรณีของ ปอนด์ หนุ่มวิศวกรรถไฟฟ้าคนนี้

ปอนด์เป็นโปรแกรมเมอร์หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งโดยปกติแล้ว การเดินทางของเขาจะมีรถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เพราะที่ทำงานของเขาอยู่แถวๆ สีลม ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องรถติดเป็นอันดับต้นๆ

แต่ครั้งนี้การเดินทางของเขาไม่ใช่ที่ทำงาน แต่เป็นถนนลาดพร้าว เพราะมีนัดกับ น้องส้ม หวานใจที่เขากำลังจะตัดสินใจแต่งงานด้วยในปีหน้า ครั้งนี้เขาต้องไปรับเธอเพื่อไำปดูบ้านที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคต

ปอนด์ : น้องส้ม นี่พี่กำลังจะออกจากที่ทำงานแล้วนะจ๊ะ เดี๋ยวพี่นั่งแท็กซี่ไปรับหนูที่บ้านแล้วให้แท็กซี่พาไปตระเวนดูบ้านแล้วกันนะ

ส้ม : ค่ะ เร็วๆ นะคะ วันนี้ส้มจะได้ไม่ต้องกลับดึก

หลังจากที่ปอนด์ขึ้นแท็กซี่เรียบร้อยแล้ว ก็ตกลงกันว่าจะเดินทางไปยังบ้านน้องส้มบริเวณลาดพร้าว แต่แล้วปรากฏว่า แท็กซี่กลับมุ่งหน้าขึ้นทางด่วนเลยไปยังถนนแจ้งวัฒนะ

ปอนด์จึงถามขึ้นว่า

ปอนด์ : พี่ๆ ผมจะไปลาดพร้าวนะครับ ทำไมพี่ขับมาทางนี้ล่ะครับ มันคนละทางแล้วพี่

แท็กซี่ : ถ้าขับตรงไปรถมันจะติด ไม่ไหวหรอก ไปทางนี้ดีกว่า เร็วกกว่ากันเยอะ

ปอนด์ : คงไม่ขนาดนั้นมั้งพี่ ผมว่าพี่อย่าอ้อมเลย ขับตรงๆ ไปเลยน่าจะดีกว่านะครับ

แท็กซี่ : เอาน่า เชื่อผมเถอะ ไปทางนี้เร็วกว่า ผมพาไปเอง

หลังจากนั้นเวลาผ่านไปเกือบสามสิบนาที มิเตอร์แท็กซี่ขึ้นราวๆ เกือบสามร้อยบาท และระยะทางที่จะไปสู่เล้นลาดพร้าวก็ยังไปไม่ได้ถึงไหน ทำให้ปอนด์รู้สึกอึดอัด เพราะน้องส้มก็โทรมาตามหลายครั้งแล้ว

ปอนด์ : นี่พี่ ทางลัดของพี่มันยังไงเนี่ย ผมนั่งรถมานานแล้วนะครับ มิเตอร์ขึ้นเกือบจะสามร้อยแล้ว ถ้าพี่เชื่อผมป่านนี้ก็ถึงแล้ว

แท็กซี่ : ก็ผมบอกแล้วไงว่าทางนี้มันเป็นทางลัด ถ้าน้องไม่พอใจก็ลงไปเลย

แล้วแท็กซี่ก็ไล่ปอนด์ลงจากรถทันที อย่างนี้แล้วปอนด์จะสามารถทำอย่างไรกับแท็กซี่คันนี้ได้ จะเรียกร้องหาสิทธิคุ้มครองได้หรือไม่ แล้วจริงๆแล้ว แท็กซี่ทำเช่นนี้มีความผิดหรือไม่ อย่างไร

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ขับรถอ้อมเกินควรโดยไม่ขับไปตรงทางให้สั้นที่สุด เพื่อเป็นการเรียกเก็บค่าโดยสารให้มากขึ้น กับการพาปอนด์ซึ่งเป็นผู้โดยสารไปทอดทิ้งระหว่างทาง มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 100 แยกไดเป็น 2 กรณีดังนี้

ในกรณีแรก การที่คนขับรถแท็กซี่ขับรถอ้อมเกินควรโดยไม่ขับไปในทางที่สั้นที่สุด เพื่อเป็นการเก็บค่าโดยสารให้เพิ่มมากขึ้นนั้น ผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 100 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 158 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนในกรณีที่ 2 การที่คนขับรถแท็กซี่พาปอนด์ซึ่งเป็นผู้โดยสารไปทอดทิ้งระหว่างทางไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 100 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 158 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยังมีคนโดยสารแท็กซี่อีกจำนวนมากที่ถูกกระทำจากแท็กซี่ แต่ไมไ่ด้ติดใจเอาความหรือเป็นเพราะไม่ทราบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นโทษร้ายแรงสำหรับคนขับรถแท็กซี่ เพราะมีโทษถึงจำคุกอยู่ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook