อธิบายเด็กๆอย่างไรถึงการจากไปของสัตว์เลี้ยง
การจากลามักนำมาซึ่งความเสียใจอยู่เสมอๆ ยิ่งในวัยเยาว์ด้วยแล้วการทำใจกับความสูญเสียดูจะเป็นเรื่องยาก ผู้ปกครองก็ควรจะมีวิธีการในการอธิบายให้เขาเข้าใจถึงความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจากไปของสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของเด็กๆ
An Informal Guide to a Child's Psyche
ความเข้าใจของเด็กๆที่ต่อความตายนั้นจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเด็กและพัฒนาการของเด็ก ความด้านล่างต่อไปนี้ คือแนวทางความเข้าใจของเด็กๆในแต่ละช่วงอายุ
ต่ำกว่า 2 ปี
เด็กๆสามารถรู้สึกและตอบรับกับการตายของสัตว์เลี้ยง โดยขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของคนรอบกาย สามารถรับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆมาจากคนในครอบครัว
2 ถึง 5 ปี
เด็กวัยนี้จะคิดถึงสัตว์เลี้ยงของพวกเขาในฐานะเพื่อนเล่น แต่อาจจะไม่ได้มีเรื่องราวของความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถเข้าใจความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นรอบๆตัวได้ อย่างไรก็ตามพวกเขาอาจจะแสดงออกถึงความเศร้าโดยผ่านพฤติกรรมต่างๆ เช่น อมนิ้วมือ
5 ถึง 9 ปี
ช่วงนี้เริ่มรับรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่พวกเขาก็จะเว้นที่ว่างไว้ให้กับความคิดที่ว่า สิ่งมหัศจรรย์อาจจะเกิดขึ้น โดยเชื่อว่าความตายสามารถต่อรองได้ เช่น เด็กๆอาจจะเข้ามาดูแลสัตว์เลี้ยงที่กำลังจะตายและอธิษฐานขอพร ซึ่งเมื่อสัตว์เลี้ยงจากไปจะรู้สึกว่าเป็นความผิดของตน ผู้ปกครองต้องพยายามทำความเข้าใจกับเด็กว่า เขาไม่ใช่สาเหตุของการที่สัตว์เลี้ยงเสียชีวิต
10 ปีขึ้นไป
เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะเข้าใจแล้วว่า ทุกสิ่งที่เกิดมาจะต้องตาย และความตายเป็นจุดสิ้นสุด ความเข้าใจกับการยอมรับนั้นเป็นคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังคงเต็มไปด้วยความเศร้าโศก เริ่มตั้งแต่โกรธ รู้สึกผิด เศร้าโศก อาจจะแสดงออกในวิธีการที่ต่างไป เช่น อาจกลัวที่จะถูกทอดทิ้ง พวกเขาจะคิดว่า "ถ้าสัตว์เลี้ยงตายได้ มันก็มีเหตุผลว่าพ่อแม่อาจจะเสียชีวิตลงได้เช่นกัน" หรือมักจะมีความสงสัยเกี่ยวกับความตายด้วยการถามคำถามที่คุณไม่สะดวกใจที่จะตอบ ซึ่งการตอบคำถามเหล่านั้นคุณควรทำด้วยความตรงไปตรงมา อย่างอ่อนโยนและระมัดระวัง
สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเมื่อสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต
สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเมื่อสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตลงก็คือ การโกหกเด็กๆ เช่น การบอกว่าสัตว์เลี้ยงไปสวรรค์ หรือนอนหลับ เพราะสุดท้ายแล้วเด็กๆก็จะรู้ความจริง ซึ่งการโกหกก็อาจจะส่งผลกระทบไปถึงความเชื่อใจระหว่างผู้ปกครองกับเด็กๆ เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้นแล้วรู้ความจริง พวกเขาจะเกิดความสงสัยว่า พ่อแม่โกหกอะไรไว้อีก
ถ้าคุณบอกว่าสัตว์เลี้ยงหลับไป เด็กๆก็อาจจะกลัวเรื่องการนอน ถ้าคุณบอกว่าสัตว์เลี้ยงต้องไปอยู่ที่อื่นๆ เด็กๆก็จะเฝ้ารอคอยว่าเมื่อไหร่สัตว์เลี้ยงจะกลับมา และถ้าคุณบอกว่าพระเจ้ามาพาสัตว์เลี้ยงไปเพราะเขาพิเศษ เด็กๆก็จะไม่พอใจพระเจ้าและกลัวว่าใครจะเป็นคนต่อไปที่พระเจ้าจะมาพาตัวไป
ผู้ปกครองต้องเปิดเผยและซื่อสัตย์ ถ้าสัตว์เลี้ยงเจ็บปวดมากและกำลังจะตาย ผู้ปกครองต้องรีบบอกให้เด็กๆทราบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้คำว่า "ตาย" เพื่อให้ความหมายตรงตามสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าเด็กๆต้องการเห็นวิธีการที่ทำให้สัตว์เลี้ยงพ้นทุกข์และสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอน ผู้ปกครองก็ควรจะตอบคำถาม ส่วนจะได้เห็นด้วยตาตัวเองหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับวัยของเด็กและสัตว์แพทย์ว่าอนุญาตหรือไม่
พ่อแม่ต้องแน่ใจว่า เด็กเข้าใจความหมายของ "ความตาย" อาจจะบอกว่าร่างกายของสัตว์เลี้ยงหยุดทำงานแล้ว ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละครอบครัว และบอกแบบไหนที่จะทำให้เด็กเข้าใจ แต่ประเด็นก็คือ เด็กๆต้องรับรู้ว่าสัตว์เลี้ยงตายไปแล้วและจะไม่สามารถกลับมาหาเขาได้อีก
คุณต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆได้พูดคุยถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะจัดพิธีการเล็กๆขึ้นมาเพื่อแสดงการไว้อาลัยต่อการจากไปของหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว บางครอบครัวปลูกต้นไม้ไว้ตรงที่ฝังร่างของสัตว์เลี้ยง ผลักดันให้เด็กๆบอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อสัตว์เลี้ยง อาจจะด้วยการพูดหรือเขียนก็ได้
พ่อแม่ต้องแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กๆรู้ว่าสัตว์เลี้ยงมีความพิเศษ และเขาไม่ใช่คนเดียวที่โศกเศร้า ควรบอกกับคุณครูของเด็กๆถึงการสูญเสีย เพื่อให้เขาเข้าใจว่าทำไมเด็กถึงมีพฤติกรรมที่แปลกออกไป
อย่าตำหนิสัตวแพทย์ ผู้ปกครองบางคนเลี่ยงที่จะตอบคำถามของลูกๆ เลยตัดสินใจหาทางออกง่ายๆด้วยการโยนความผิดไปให้คุณหมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ทั้งยังอาจจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นโดยมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับสัตวแพทย์รวมไปถึงคุณหมอโดยทั่วไปอีกด้วย พ่อแม่ไม่ควรโยนภาระในการบอกความจริงกับเด็กๆไปให้สัตวแพทย์ด้วยเช่นเดียวกัน คุณหมออาจะช่วยได้บ้างในการแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามถ้าจำเป็นเท่านั้น
ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้านทันทีหลังจากที่ตัวเดิมเสียชีวิต เพราะจะทำให้เด็กๆรู้สึกว่าสมาชิกของครอบครัวสามารถทดแทนกันได้ ควรรอจนกระทั่งเด็กๆบอกกล่าวว่ากำลังสนใจในสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เสียก่อน และถ้าเด็กๆยังเผชิญหน้ากับความโศกเศร้าเป็นระยะเวลานาน หรือมีอาการฝันร้ายก็อาจจะต้องพึ่งพาจิตแพทย์ หรือที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเด็ก เพื่อหาทางแก้ไข้