งามปะล้ำปะเหลือ! รวมความอลังการ รู้ลึกกว่าจะเป็นชุด ของ แต้ว มิว ใน รากนครา
กลับมาแรงไม่แพ้ของเก่าสำหรับละครรีเมคเรื่อง "รากนครา" ซึ่งในเวอร์ชั่นเก่านักแสดงนำคือ "บรุ๊ค ดนุพล", "อั้ม พัชราภา", และ "นุ่น วรนุช" ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ 2017 นี้ นำแสดงโดย "หมาก ปริญ", "แต้ว ณฐพร" และ "มิว นิษฐา" ได้ถูกนำกลับมาสร้างอีกครั้งโดยผู้กำกับฝีมือดี "พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง"
นางเอกสุดฮอตอย่าง "แต้ว ณฐพร" ที่รับบท "เจ้าแม้นเมือง" และ "มิว นิษฐา" ที่รับบท "เจ้ามิ่งหล้า" ประกบเล่นเป็นพี่น้องต่างแม่ ที่หน้าเหมือนกัน(เป็นการเลือกนักแสดงได้ดีมากๆ) แต่นิสัยต่างกันลิบลับ
ซึ่งตอนนี้นอกจากความครบรส ดุเดือดของละคร พร้อมกระเสชื่นชมนักแสดงแล้ว เรื่องของเสื้อผ้าที่นักแสดงใช้สวมใส่ ก็ได้รับเสียงชื่นชมที่ดีงามไม่แพ้กัน เพราะทั้ง "แต้ว มิว" สวย สง่า สมเป็นสาวเหนือจริงๆ กว่าจะได้ชุดที่ออกมาสวยอลังการ และชุดที่นักแสดงใส่จะถอดแบบมาจากของจริงแค่ไหน Sanook! Women จะพาไปยลโฉมความงาม พร้อมรู้ลึกถึงที่มากันค่ะ
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย คุณภูริวัตร กิตติศรีไสว คุณสุทธิพันธ์ เหรา และคุณวสิน อุ่นจะนำ
เจ้าห่มฟ้าแห่งแสนหวี เจ้านางแว่นทิพย์แห่งเชียงตุง และเหล่านางกำนัล
ส่วนนี้เป็นภาพของ "เจ้าศุขวงศ์ เจ้าแม้นเมือง และเหล่านางกำนัล" ในละครเรื่อง "รากนครา"
ชุดแต่งงานของ "เจ้าแม้นเมือง" งดงาม อลังการ รายละเอียดของเสื้อกาบคำ ปักประดับด้วยดิ้นและเลื่อมนานาชนิด และผ้าซิ่นไหมคำปิง
เจ้านางแว่นทิพย์ สวมเสื้อกาบคำ ในพิธีแต่งงานกับเจ้าห่มฟ้าแห่งแสนหวี
พิธีแต่งงานระหว่างเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ และเจ้านางสุคันธา ณ เชียงตุง นับเป็นพิธีแต่งงานยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคนั้น เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างสองเมือง
ภาพเปรียบเทียบระหว่างภาพเก่า (บน) พิธีแต่งงานเจ้าขุนส่าแห่งเมืองล๊อกจ๊อก และเจ้านางแว่นแก้วแห่งเชียงตุง ภาพใหม่ (ล่าง) พิธีแต่งงานเจ้าศุขวงศ์แห่งเชียงพระคำและเจ้าแม้นเมือง แห่งเชียงเงิน
"เจ้ามิ่งหล้า" สวมเสื้อปั๊ดไหมสีเขียว คู่กับผ้าซิ่นไหมคำแบบทอยาวไปตลอดทั้งผืนไม่ต่อเชิง ผ้าซิ่นไหมคำแบบนี้ นับเป็นแบบพิเศษที่พบไม่มากนัก ด้วยความที่ทอจากเส้นไหมคำ ตลอดตัวถึงตีนซิ่นเช่นนี้ มีปริมาณไหมคำมากกว่าซิ่นไหมคำทั่วไป จึงเข้าใจว่าทอขึ้นสำหรับเจ้านางที่มีตำแหน่งสูง
"เจ้าแม้นเมือง" เจ้านางแม้นเมือง สวมเสื้อปั๊ดไหมสีครีม คู่กับผ้าซิ่นไหมคำที่ทอในโครงสร้างแบบมาตรฐานของซิ่นไทลื้อ คือ เป็นลายริ้วขวางลำตัวแบบริ้วไม่สม่ำเสมอ สอดสลับด้วยไหมคำระยิบระยับ ต่อเชิงแพรสีเขียว ประดับเลื่อมและเม็ดเงินดุนลายรูปวงกลม "หมากดาวเงิน" ชาวไทลื้อเรียกซิ่นลักษณะนี้ว่า "ซิ่นตา" หรือจะเรียกว่า "ซิ่นตาลื้อ" ก็ได้ เมื่อทอด้วยไหมคำ ก็เรียกว่า "ซิ่นตาลื้อไหมคำ"
"เจ้าแม้นเมือง" ใส่เสื้อปั๊ดสีม่วงดอกตะแบก สวมคู่กับผ้าซิ่นไหมคำ ที่ทอเลียนแบบผ้าซิ่นตาของชาวไทยวน คือมีลายริ้วแบบสม่ำเสมอเท่ากัน ต่อเชิงด้วยกำมะหยี่สีม่วงเข้ม ประดับเลื่อมทองงดงาม เรียกผ้าซิ่นชนิดนี้ว่า "ซิ่นตาโยน" หากทอด้วยเส้นไหมคำทอสลับด้วย ก็เรียกว่า "ซิ่นตาโยนไหมคำ"
ผ้าซิ่นที่ใช้ในละครนี้ ทอขึ้นเลียนแบบผ้าซิ่นโบราณของชาวไทเขินและชาวไทลื้อในเขตฉาน ซึ่งในปัจจุบันหาชมได้ยาก ภาพผ้าซิ่นโบราณจากคอลเลคชั่นสะสมของ "คุณอัคเดช นาคบัลลังก์" พิพิธภัณฑ์สบันงา
กว่าจะได้ชุดสวยๆ ของนัดแสดงไม่ใช่เรื่องยากเลย มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ชุดแต่ละชุดจะงดงามแค่ไหน มาดูเพิ่มกันค่ะ
อัลบั้มภาพ 48 ภาพ