หลากรสชาติชีวิตของ ‘เชฟหงส์’ เชฟสาวที่สร้างชื่อให้กับอาหารไทยในอเมริกา

หลากรสชาติชีวิตของ ‘เชฟหงส์’ เชฟสาวที่สร้างชื่อให้กับอาหารไทยในอเมริกา

หลากรสชาติชีวิตของ ‘เชฟหงส์’ เชฟสาวที่สร้างชื่อให้กับอาหารไทยในอเมริกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมี่ยงคำรสชาติเข้มข้น ห่อมาขนาดพอดีคำ เสิร์ฟมาในดอกบัวสีชมพูเข้ม คือคำทักทายแรกจาก เชฟหงส์ – งามพร้อม ไทยมี เชฟสาวชาวไทยเจ้าของร้าน ‘Ngam’ ในย่านอีสต์วิลเลจ ที่นำประสบการณ์หลายปีในนิวยอร์กของเธอ มาใช้ในการสร้างสรรค์ดินเนอร์มื้อพิเศษที่จัดขึ้น ณ โรงแรม SO Sofitel เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

ถัดจากเมี่ยงคำคำแรก ความอร่อยยังคงถูกลำเลียงออกจากครัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งอาหารตะวันตกและอาหารไทย ซึ่งอย่างหลังนั้น แม้ทุกรายการจะเป็นเมนูที่เราคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว แต่เชฟหงส์ก็ยังมีลูกเล่นให้คนกินได้ตื่นเต้นกับทุกจานที่เสิร์ฟ อย่างเช่นข้าวซอยที่ใช้เส้นบะหมี่ที่ทำจากหมึกดำและกินคู่กับลอบสเตอร์เนื้อแน่น ให้รสชาติหลากหลายในจานเดียว

ความเอร็ดอร่อยและความช่างคิดในแต่ละเมนูที่เสิร์ฟในคืนนั้น ทำให้เราไม่แปลกใจว่า ทำไมเชฟสาววัยสี่สิบต้นๆ คนนี้ จึงเป็นหนึ่งในเชฟที่น่าจับตามองที่สุดในนิวยอร์ก

และเมื่อได้คุยกับเธอในอีกไม่กี่วันถัดมา เราจึงได้รู้ว่าไม่ใช่แค่เพียงอาหารของเธอเท่านั้นที่มีความหลากหลาย แต่ชีวิตของเธอก็มีหลายรสชาติและเป็นส่วนผสมระหว่างความเป็นไทยและความเข้าใจในตะวันตกเช่นเดียวกัน

ด.ญ.งามพร้อม ไทยมี

“หงส์เกิดและโตที่เชียงใหม่ แต่ตอนเด็กๆ เวลาไปโรงเรียนส่วนใหญ่ครูจะเรียกว่า งาม หรือนางงาม เพราะว่าชื่อจริงเราคืองามพร้อม คุณพ่อเป็นคนตั้งชื่อนี้ให้ เพราะพ่อบอกว่าเป็นผู้หญิงต้องสวยทั้งข้างในและข้างนอก ตอนเด็กไปไหนก็โดนแซวเรื่องชื่อตลอดเวลา”

“จำได้ว่าเราเป็นคนที่ชอบทำอะไรท้าทายมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ชอบค้นหาชีวิต อย่างเวลาดูหนังก็จะชอบสงสัยว่าทำไมคนบินไม่ได้ หรือทำไมเราอยู่ในสองที่ในเวลาเดียวกันไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกอยากรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้มาตลอด แล้วก็ชอบค้นหาคำตอบ เรียกว่าเป็นเด็กที่ครีเอทีฟมาตั้งแต่เด็ก อาจจะเพราะคุณยายเป็นคนครีเอทีฟด้วย หงส์โตมาแบบครอบครัวใหญ่ คุณยายก็อยู่บ้านเดียวกัน ตอนเด็กก็เลยได้อยู่กับคุณยายเยอะ”

“เรื่องทำอาหารคุณยายก็เป็นคนจุดประกาย เพราะคุณยายทำกับข้าวอร่อย เวลาอยู่ในครัวกับคุณยาย เราก็จะได้กินของอร่อยๆ ก็เลยชอบเข้าไปช่วย เลยทำให้ได้เรียนรู้เรื่องอาหารแบบครูพักลักจำ คุณยายเป็นคนภาคกลาง พอแม่แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่กับพ่อที่เชียงใหม่ คุณยายก็เลยย้ายไปด้วย แต่ก่อนหน้านั้นคุณยายอยู่กับคุณตาซึ่งรับราชการอยู่ทางใต้ เพราะฉะนั้นที่บ้านเราเลยจะมีอาหารทุกอย่าง ทั้งเหนือ ใต้ กลาง ครบทุกรส”

“แล้วบ้านเราไม่ได้มีแค่อาหารไทย เพราะถ้าเป็นตอนเช้า คุณพ่อจะปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรมการกินแบบตะวันตก เพราะฉะนั้นเราจะกินอาหารเช้าแบบ continental breakfast กัน ใช้ส้อมมีด กินไข่ลวก ไข่ดาว หมูแฮม แต่พอตอนบ่ายส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับคุณยาย เมนูที่คุณยายทำแล้วชอบมากคือ ไข่ดาวทรงเครื่อง ซึ่งเราเรียกของเราเอง เป็นไข่ดาวทอดกรอบๆ ด้านบนเป็นหมูทอดกรอบๆ แล้วคุณยายก็ซอยพริกขี้หนู บีบมะนาว ใส่น้ำปลา กินกับข้าวอร่อยมาก เวลากลับมาจากโรงเรียนแล้วได้กินไข่ดาวของคุณยายจะมีความสุขมาก”

หงส์ E for Teen

“ตอน ม.ปลาย หงส์ไปเรียนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเมืองพอร์ตแลนด์ อเมริกา อยู่ 1 ปี พอกลับมาแล้วเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่มีซีเกมส์พอดี ในงานพิธีเปิดจะต้องมีซุ้มต่างๆ แล้วซุ้มของ ปตท. เขาหาคนอยู่ รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาเห็นว่าเราพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เลยแนะนำให้ไปแคสต์ แล้วเราก็ได้งาน ตอนนั้นทางแกรมมี่ที่รับผิดชอบเรื่องพิธีเปิดเห็นว่าเราดูหน่วยก้านดีก็เลยแนะนำหงส์ไปกับคุณภิญโญ รู้ธรรม ทำให้ได้แคสต์งาน แล้วก็เลยได้เป็นพิธีกรรายการทีนทอล์คกับ E for Teen แล้วก็มีงานถ่ายแบบ งานถ่ายโฆษณาตามบ้าง”

“แต่ที่ไม่ได้ทำต่ออย่างจริงจังไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบในตัวเนื้องานนะ แต่เรายังเด็กและรู้สึกว่าไม่ได้มีความพร้อมในด้านการเป็นคนมีชื่อเสียง ไม่เห็นความคิดว่าเราจะมีชื่อเสียงได้ แต่ตอนนั้นไปไหนก็มีคนจำได้บ้าง อาจจะเป็นเพราะเราหน้าแปลกมั้ง เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนสวยเลย”

“หลังจากเรียนตรีจบ ทำงานสักพัก ก็เรียนต่อโทที่มหาวิทยาลัยพายัพที่เชียงใหม่ พอจบโทก็มาสมัครงานที่บริษัท Merck ซึ่งเป็นบริษัทยา ได้ทำงานด้าน CSR ซึ่งในเวลานั้นเป็นช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยเลย แต่พอทำได้ปีนึง เราค้นพบว่าเราไม่ใช่สาวออฟฟิศเลย รู้สึกเหมือนใจจะขาด เพราะมันไม่ใช่จริตเราเลย ทุกๆ วันเหมือนๆ กัน ทั้งที่ตัวเนื้องานดีนะ เพราะการช่วยเหลือสังคมมันก็เป็นอะไรที่อยู่ในใจเราอยู่แล้ว”

“ตอนนั้นหงส์อายุประมาณยี่สิบปลายๆ เรารู้สึกว่างเปล่ากับชีวิต บังเอิญเป็นช่วงที่เกิดสึนามิแล้วเราได้ไปเป็นอาสาสมัครแปลภาษาให้ชาวต่างชาติ ช่วงนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตมันบอบบางมาก เราควรจะใช้ชีวิตประจำวันให้มันมีคุณค่า ก็เลยตัดสินใจลาออกเลย แล้ว 3 เดือนหลังจากยื่นใบลาออกก็ไปนิวยอร์กเลย” 

ก่อนจะ ‘งาม’

“หงส์เรียนโทด้านธุรกิจมา ก็เลยเอาความรู้ที่เรียนมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง จุดแข็งคือเราพูดได้หลายภาษา หน้าตาเราก็พอไปวัดไปวาได้ เวลาเราพูดหรือพรีเซนต์อะไรก็โอเค เวลาเราทำกับข้าว คนก็ชอบ จุดอ่อนคือเราอาจจะทำกับข้าวไม่เก่งมาก ไม่เป็นไร เราเรียนได้ เราอาจจะไม่มีคอนเน็กชั่น ไม่เป็นไร เราหาได้”

“ณ ตอนนั้น ประมาณ 12 ปีที่แล้ว อาหารไทยในอเมริกามันยังไม่ได้บูมขนาดนั้น เพราะมันยังไม่ได้มีคนที่เป็นหน้าตาของอาหารไทยอย่างแท้จริง แต่เราก็คิดว่า อังกฤษยังมี Jamie Oliver ได้ แล้วทำไมเมืองไทยจะไม่มีคนที่สามารถพูดเรื่องอาหารไทยในระดับนั้น เราก็มองว่า ฉันเป็นได้ เพราะฉันมีทุกอย่าง เพราะเราวิเคราะห์ตัวเองแล้ว ตอนนั้นก็เลยคิดว่าจะทำธุรกิจที่สามารถตอบแทนสังคม สองทำธุรกิจให้ทุกคนได้ให้ความรัก และให้เขารู้สึกว่าได้รับการเกื้อหนุน การอุ้มชู เพราะเรารู้ว่าชีวิตมันลำบาก ชีวิตมันไม่ได้มีแต่เรื่องดีเสมอไป”

“ตอนแรกที่ไปนิวยอร์ก หงส์ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเป็นเชฟเท่านั้น เพราะมันมีตั้งหลายวิธีที่จะพูดเรื่องอาหารได้ เป็นบล็อกเกอร์ก็ได้ เป็นคนจัดเลี้ยงก็ได้ แต่มีคนใกล้ตัวแนะนำว่า ถ้าอยากมี authority เรื่องอาหารไทย ก็ต้องเริ่มจากเป็นเชฟก่อน และทำให้คนอื่นรู้จัก หงส์ก็เลยเริ่มตั้งเป้าเรื่องเป็นเชฟตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็คิดว่าอยู่ในเมืองที่เป็นที่สุดของโลกแล้ว เราก็ต้องทำงานกับคนที่เก่งที่สุด หงส์เลยสมัครงานที่ร้าน Spice Market ซึ่งเจ้าของคือเชฟชื่อ Jean-Georges Vongerichten ซึ่งเขาเคยอยู่โอเรียนเต็ลมาก่อน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เคยทำงานร้านอาหารแบบฟูลไทม์มาก่อน”

“พอรู้ว่าเขาตกลงรับเราเข้าทำงานแล้ว เขาบอกให้เราเอามีดมาและใส่รองเท้ากันลื่นมาด้วย เราก็วิ่งไปร้านขายของเลย ไปซื้อมีดที่ดีที่สุด ไปซื้อรองเท้าที่ดีที่สุด แล้วคืนนั้นเราก็ใช้เวลากูเกิ้ลหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอาหารให้ได้มากที่สุด วันรุ่งขึ้นไปถึง เขาสั่งให้เราทำอะไร เราก็ Yes, chef. ทุกอย่าง สุดท้ายเขาก็จ้างเรา”

“ด้วยความที่ Spice Market เป็นร้านใหญ่มาก มีลูกค้าคืนละ 900-1,000 คน เราไม่เคยทำร้านใหญ่ขนาดนั้น ผลคือเราเลยวางแผนไม่ได้ เราจัดการตัวเองไม่เป็น ตอนไปทำแรกๆ เลยโดนด่าตลอด มีดบาดทุกวัน น้ำมันลวกทุกวัน หัวใจก็ช้ำทุกวัน จนผ่านไป 2 อาทิตย์ เชฟก็นั่งคุยเลยว่า ถ้ายูยังทำงานไม่ได้ เราก็ต้องให้คุณไปนะ”

“แต่ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 2 ของการทำงาน เรายืนเตรียมของอยู่ก็มีคนมาถามว่า ยูเป็นเด็กใหม่เหรอ มาจากไหน เราก็บอกว่า เมืองไทยค่ะ เขาก็บอกว่า เขาชอบประเทศไทยมาก แล้วก็ให้เราทำผัดไทยให้กิน เราก็หันไปถามหัวหน้าเราว่าผู้ชายคนนี้คือใคร เขาก็บอกว่าชื่อเชฟ Greg Brainin เป็นมือขวาของ Jean-Georges ได้ยินเท่านั้นก็ตื่นเต้นจนหัวใจเหมือนออกจากร่าง รีบเตรียมของแล้วก็ทำผัดไทย"

"กระทะแรกทำแล้วไหม้เพราะเราไม่คุ้นกับอุณหภูมิ พอครั้งที่ 2 เราก็ค่อยๆ ทำ ในใจก็คิดว่า พระเจ้าขา พระเจ้าพาหงส์มาขนาดนี้ พระเจ้าต้องช่วยหงส์นะ ขอให้ผัดไทยจานนี้เป็นผัดไทยที่อร่อยที่สุดในโลก แล้วเราก็ทำแบบที่เรารู้จักว่ามันควรจะเป็นยังไง พอเขาชิมแล้วเขาก็บอกว่า ผัดไทยจานนี้ไม่มีซอสเลย แต่ยูเอารสชาติเข้าไปในเส้นได้ ยูทำได้ยังไงน่ะ ฉันจะบอก Jean-Georges เรื่องยู นึกภาพสิ เด็กในครัวที่โดนด่าตลอด แต่กลับมีเชฟใหญ่มาชื่นชมว่า

“จำได้เลยว่าวันนั้นตอนเดินออกจากร้านนี่ร้องไห้เลย ตบไหล่ตัวเองแล้วก็บอกว่า เฮ้ย หงส์ ไอ้สิ่งที่ตั้งใจไว้ว่าอยากจะเป็นคนที่เอาอาหารไทยไปทั่วโลกมันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันนะ เราทำได้ ความฝันเราไม่ได้เป็นเรื่องล้อเล่น แต่มันต้องใช้เวลา หลังจากนั้น จากที่โดนด่ามาก ก็กลายเป็นโดนด่าน้อยลง แล้วก็ไม่โดนด่าเลย”

“หลังจากนั้น อยู่ดีๆ ระหว่างทำงานอยู่วันนึง มีคนเรียกชื่อเรา หันหลังกลับไปเป็นเชฟ  Jean-Georges ยืนอยู่ หงส์ก็ทักเลยว่า สวัสดีค่ะเชฟ เชฟก็ทักว่า สวัสดี กลับมา แล้วก็ถามว่า ได้ข่าวว่ายูทำผัดไทยอร่อยเหรอ ถ้ายูว่าง ยูทำให้ไอได้ไหม เราก็นับวันรอวันที่เขาจะมา ซื้อหัวปลี ซื้อวัตถุดิบคอยไว้เลย พอวันที่เขามาก็คิดว่า ถ้าจะโดนไล่ออกวันนี้ก็ช่างมัน เพราะฉันได้ทำกับข้าวให้ Jean-Georges กินแล้ว พอเขาได้กินก็บอกว่าอร่อยเหมือนกินที่ประเทศไทยเลย ใครสอนทำกับข้าวให้ เราก็บอกว่า คุณยายค่ะ หลังจากนั้นเราก็เลยเป็นที่รู้จักในหมู่เขาว่าเราทำได้”

 เมื่อ ‘งาม’ พร้อม

“ถัดจากร้าน Spice Market หงส์ก็ไปทำที่ร้าน Perry St ซึ่งเป็นร้านระดับมิชลินสตาร์ ช่วงนั้นมีคนส่งโลเกชั่นที่เป็นร้าน Ngam ในปัจจุบันนี้ ตอนนั้นมีเพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทกันมากบอกว่าเขาชอบความฝันในการเปิดร้านของเรา เดี๋ยวจะช่วยลงเงิน 75,000 เหรียญ หงส์ก็เลยนัดเซ็นสัญญาเพื่อเช่าตึก แต่พอวันที่ไปเซ็นสัญญา เขาโทรมาบอกว่าที่ปรึกษาของเขาไม่ให้ลงทุนด้วย เพราะร้านอาหารมีความเสี่ยงสูง ตอนนั้นหงส์เซ็นสัญญาไปแล้ว มันมี 2 ทาง ทางแรกก็คือไม่เอาร้านแล้ว แต่ก็จะเสียเงินที่เราจ่ายไปก่อนแล้ว 50,000 เหรียญ หรือจะสู้ต่อ”

“หงส์เลือกที่จะสู้ต่อไป”

“จนสุดท้ายมีคนแนะนำให้รู้จักกับ George เขามาเจอเราที่ร้านซึ่งตอนนั้นมีแต่ฝุ่น เพราะเราไม่มีเงินทำอะไร เราก็พิทช์ไอเดียกับเขาตรงนั้นเลย พูดไปครึ่งชั่วโมง พอพูดจบ เขาก็หันมาบอกว่า ฉันชอบสไตล์ยู เดี๋ยวช่วยเลยตอนนี้ 50,000 เหรียญ เพื่อให้อย่างน้อยเรามีเงินเอาไปสร้างอะไรได้ จะได้หานักลงทุนเพิ่มได้อีก แล้วหลังจากนั้นหงส์ก็ได้ญาติเขามาลงทุนด้วย ซึ่งเขาแนะนำว่าการที่เราเป็นผู้หญิงและเราเป็น minority ในอเมริกา เราสามารถขอทุน SMEs ได้ หงส์ก็เลยเขียนแผนธุรกิจ แล้วก็ได้เงินมาลงทุนเพิ่ม 250,000 เหรียญ”

“ตอนที่เปิดร้านใหม่ๆ เมื่อปี 2011 ร้านเราโฮมเมดมาก เพราะไม่มีเงิน เลยต้องทำเองทุกอย่าง แต่โชคดีที่เปิดได้ประมาณ 2-3 เดือน Wall Street Journal มา หลังจากนั้น The New York Times มา หลังจากนั้นสื่ออื่นๆ มา มันก็เลยเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น คนก็เริ่มเข้าร้านมากขึ้น"

Ngam NYC

"จนวันหนึ่งมีโปรดิวเซอร์รายการ Iron Chef America มาที่ร้านซึ่งเราก็ไม่รู้จักหรอกว่าเขาเป็นใคร ก็เข้าไปทักทายตามปกติ เขาก็ถามว่าเรารู้จักรายการนี้ไหมและขอเสนอชื่อไปออกรายการนี้ได้ไหม จำได้ว่าตอนนั้นหงส์เดินเข้าไปหลังร้านแล้วก็ร้องไห้จนเด็กในร้านถามว่าเราเป็นอะไร”

“หงส์ร้องไห้เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ตอนอยู่เมืองไทย หงส์สุขสบาย แต่นี่หงส์ทิ้งทุกอย่างเพื่อตามความฝัน แล้วตอนนี้ฉันก็จะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าเพื่อตัวเองและคนอื่นโดยการทำอาหาร แล้ววันนั้นนอกจากเรามีร้านของเราเองแล้ว รายการระดับโลกมาเชิญเรา มันเหมือนเป็นอีกขั้นหนึ่งของการเป็นเชฟ”

“หงส์วางคอนเซ็ปต์ของร้าน Ngam ไว้ว่าเป็น Modern Thai Comfort Food คืออะไรที่เรากินตอนเด็กๆ แล้วมีความสุข ก็มาประยุกต์ใช้ในร้านนี้ หงส์รู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้ทำอะไรกับร้านเลย นอกจากเอาหัวใจไปใส่ไว้ในจาน เอาชีวิตเราไปใส่ในงาน แล้วเป็นความโชคดีของเราที่ได้อยู่ต่างประเทศ ได้โตที่เมืองไทย ทำให้รู้ว่าที่นี่มีอะไร แล้วที่นั่นขาดอะไร แล้วที่นี่ขาดอะไร ตัวเราเลยเหมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองวัฒนธรรม"

"ดังนั้น ที่ร้าน Ngam จะมีการเอากลิ่นอายของความเป็นไทยนอกเหนือจากที่คนอื่นรู้จักอยู่แล้วเข้ามาทำผสมด้วย อย่างตำแตง เราก็ทำเป็นตำแตงโม เป็น watermelon slaw หรืออย่างไส้อั่ว เราก็เข้าใจว่า เป็นไปไม่ได้ที่คนจะเข้าใจเรา 100 เปอร์เซ็นต์ในความเป็นไทย แต่เราจะยังไงให้ความเป็นไทยไม่ได้ถูก compromise เราก็เลยเอารสชาติของไส้อั่วไปใส่ในเบอร์เกอร์ มันคือรสชาติของไส้อั่วในรูปร่างของเบอร์เกอร์ ถามว่าเผ็ดไหม ก็เผ็ดนะ แต่ก็เป็นเมนูที่ฝรั่งยอมรับ”

Ngam NYC

อีกรูปแบบของความ ‘งาม’

“ตอนนี้หงส์มีอีกโปรเจกต์หนึ่ง ทำร่วมกับโรงแรมในบรูคลินชื่อ McCarren Hotel เจ้าของเขามากินที่ร้านแล้วเขาชอบเรา ก็เลยทำโปรเจกต์ด้วยกัน หงส์ตั้งใจว่าจะเอาอาหารไทยไปเสิร์ฟที่นั่นในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันเหมือนเป็นเวทีให้หงส์ได้เล่นสนุกกับอาหารไทย จะทำอาหารเหนือ อาหารใต้ อาหารอะไรก็ได้ หงส์ก็เลยคิดเป็น pop-up ขึ้นมาในเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปี ใช้ชื่อว่า Thaimee at McCarren”

“ความที่มันเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ บางวันหงส์อาจจะขายก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวก็ได้ หรือบางวันก็อาจจะมีผัดไทยอย่างเดียว หรือชวนผู้ประกอบการคนอื่นไปออกร้านด้วยกันก็ได้ หรือจะทำเป็นเหมือนโอมาคาเสะแบบอาหารญี่ปุ่นก็ได้เพราะที่โรงแรมจะมีเคาน์เตอร์ คิดว่าน่าจะเป็น 6 เดือนที่เหมือนเราได้อยู่ในสวนสนุกไอเดีย”

“พาร์ทเนอร์โปรเจกต์นี้ของหงส์บอกว่า ถ้ามีเช็คลิสต์ของคนที่จะเป็น celebrity chef ได้ หงส์มีทุกอย่าง แล้วเขาก็อยากทำงานกับเรา เพราะเขามองว่าหงส์ทำอาหารไทยในแบบที่เข้าใจได้ แล้วก็มีพลังในการทำงานมากกว่าคนปกติ เลยอยากจะช่วยให้เราเอาอาหารไทยมาตีตลาดโลกให้ได้”

คงไม่ใช่แค่พาร์ทเนอร์ของเธอเท่านั้นที่เชื่อมั่นว่า เชฟหงส์จะสามารถทำให้อาหารไทยโด่งดังยิ่งขึ้นได้ เพราะสำหรับเราแล้ว การได้พูดคุยกับเชฟหงส์และการได้ลองกินอาหารของเธอ ทำให้เราได้สัมผัสได้ถึงแพชชั่นและความมุ่งมั่นในการทำงานที่ถ่ายทอดมาถึงอาหารทุกคำ ก็ทำให้เราเชื่อเช่นกันว่า พลังในการทำงานของผู้หญิงคนนี้จะทำให้เห็นถึงความ 'งาม' ในอาหารไทยเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook