ดูแลสายตาของลูกตั้งแต่ขวบปีแรก
ดวงตาเป็นหน้าตาของหัวใจ ใครๆ ก็กล่าวไว้แบบนั้น แล้วดวงตาเล็กๆ ของเจ้าตัวน้อยล่ะ คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่าว่ามองเห็นอะไรบ้าง ณ วินาทีแรกที่เขาลืมตาขึ้นมาดูโลก อยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
ในช่วงแรกคลอด
สายตาของลูกน้อยจะไม่สามารถจับภาพได้ไกลเกินกว่า 8-12 นิ้ว หรือประมาณใบหน้าของคนที่อุ้มเขาไว้ในอก แสง หรือรูปทรง และอะไรก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ไกลกว่านี้ จะถือว่าเกินความสามารถของดวงตาหนูน้อยในวัยทารกแรกเกิดที่จะมองเห็นได้ ดังนั้น ใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงดูจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ดึงดูดสายตาของลูกน้อยได้มากที่สุดในช่วงเวลานี้ค่ะ
เดือนที่ 1
เจ้าตัวน้อยยังไม่มีทักษะในการกวาดสายตามองไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น คุณอาจจะเห็นว่าลูกหลับตาหรือกระพริบตาบ่อยๆ แต่หนึ่งเดือนหลังจากนี้ เจ้าตัวน้อยขอบคุณก็จะสามารถจับภาพสิ่งของ และสามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ ซึ่งในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจเขย่าของเล่นไปมาผ่านหน้าลูกน้อย เพื่อให้เขาได้มองตาม เป็นการบริหารสายตาและช่วยสร้างความผูกพันให้คุณกับลูกด้วยค่ะ
เดือนที่ 2
เด็กทารกในวัยนี้สายตาจะเริ่มแยกแยะสีที่ใกล้เคียงออกจากกันได้แล้ว เช่น สีแดงกับสีส้ม และนี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทารกมักจะชอบสีที่ตัดกันอย่างชัดเจน เช่น ขาว และดำ แดงและเขียว เป็นต้น คุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยในวัยนี้ด้วยการให้เขาได้ดูรูป หรือของเล่นที่มีสีสันสดๆ พร้อมเรียกชื่อสีนั้นๆ ไปด้วยเพื่อให้เขาเกิดความจดจำและเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาไปพร้อมกันด้วยค่ะ
เดือนที่ 4
เข้าตัวน้อยจะเริ่มรับรู้ภาพที่เป็นมิติในเชิงลึกและซับซ้อนขึ้นอีกนิดได้แล้วค่ะ แต่ยังไม่สามารถกะระยะ ขนาด และรูปทรงได้ดีนัก ดังนั้น คุณจะเห็นว่าลูกชอบไขว่คว้าทำท่าเอื้อมมือจะจับของเล่นที่ลอยอยู่เหนือศีรษะ อย่างไรก็ตาม คุณจะสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้ด้วยการยื่นของเล่นให้ลูกหยิบจับหรือถือไว้อย่างที่ใจปรารถนาเพื่อที่เค้าจะได้พัฒมนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ
เดือนที่ 8
การมองเห็นของเด็กน้อยในวัยนี้ เริ่มจะใกล้เคียงกับการมองเห็นของผู้ใหญ่แล้ว แต่การสนใจของลูกอาจจะยังจับจ้องอยู่กับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การมองเห็นของลูกก็ชัดเจนมากพอที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยสามารถจดจำผู้คนหรือสิ่งของที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ดี จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ลูกน้อยติดของเล่นชิ้นนั้นชิ้นนี้ หรือเกิดความชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
สิ่งสำคัญไม่ว่าลูกของคุณจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ทุกๆ ย่างก้าวของการเจริญเติบโตย่อมีความสำคัญอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามที่จะสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาช่วยในการพัฒนาทั้งสมอง สุขภาพ และการเรียนรู้ให้เติบโตสมวัยไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ