ลมแดด...ยิ่งร้อน ยิ่งเสี่ยงตาย

ลมแดด...ยิ่งร้อน ยิ่งเสี่ยงตาย

ลมแดด...ยิ่งร้อน ยิ่งเสี่ยงตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

จะด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่ทำให้คลื่นความร้อนแผ่นรังสีสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือจะเป็นเพราะอุณหภูมิสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนระอุจะทำให้มองไปทางไหน เมืองไทยก็ร้อนขึ้นได้อีก ก็ยิ่งทำให้โรคภัยไข้เจ็บที่มากับหน้าร้อนนั้นดูจะรุนแรงขึ้นทุกปี

เราทราบกันดีว่าโรคภัยที่มากับหน้าร้อนนั้นมีตั้งแต่อาการปวดหัวตัวร้อน ไข้หวัด อ่อนเพลีย ไปจนถึงโรคท้องร่วงอันเนื่องมาจากความร้อนทำให้อาหารทั้งหลายเสียได้เร็ว เมื่อทานเข้าไปก็จะมีอาการอาหารเป็นพิษ ท้องร่วงเฉียบพลัน ผมข้างเคียงคือเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไปก็อาจเกิดอาการอ่อนเพลีย ช็อคหมดสติ หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันการณ์ 

ทว่าอีกหนึ่งโรคภัยที่ใกล้ตัวแต่หลายคนมักมองข้าม แต่ก็อันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน คือโรคลมแดด ภัยใกล้ตัวที่คนเมืองก็ไม่อาจเลี่ยงได้ แม้แต่ชาวนาชาวไร่ก็ยังมีความเสี่ยง ทำให้เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันกับอาการของโรคลมแดดเสียตั้งแต่ตอนนี้

โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การใช้กำลัง หรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการชดเชยน้ำหรือเกลือแร่ที่สูญเสียอย่างเพียงพอ ซึ่งอาการของโรคลมแดดนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ แม้กับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง

เมื่ออากาศร้อน กระบวนการปรับสมดุลในร่างกายจะทำการขับเหงื่อออกมาเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง แต่เมื่อใดที่กลไกควบคุมความร้อนในร่างกายล้มเหลวก็จะนำมาซึ่งอาการของโรคลมแดด สังเกตได้ง่ายๆ ในเบื้องต้นคือจะมีเหงื่อออกน้อยหรือไม่ออกเลย เป็นเหตุให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เพราะว่าร่างกายขาดน้ำอย่างมากจนไม่เพียงพอต่อการผลิตเหงื่อ

ปกติศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ศูนย์นี้มีความไวต่ออุณหภูมิเลือดที่ไหลผ่าน หากอุณหภูมิในเลือดสูงขึ้นศูนย์จะส่งสัญญาณไปตามเส้นใยประสาททั่วร่างกาย ซึ่งก็ทำให้มีการขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง เพื่อให้ความร้อนกระจายออกจากร่างกายและมีการลดของขบวนการเมตาบอลิซึ่มภายในร่างกาย เพื่อมิให้มีการผลิตความร้อนมากเกินควร

ในคนที่มีอาการของ heat stroke จะถึงขึ้นหมดสติ เกิดลมชักและถ้าไม่ได้รับการรักษาปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้ ลักษณะที่ลมแดดต่างจากลมร้อน คือ ลมแดดมักพบในเพศชายมากกว่า พบในวัยกลางคนและสูงอายุ นักดื่มสุรา สาเหตุเสริมที่ทําให้เกิดลมแดด คือ อากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นสูง การถ่ายเทอากาศไม่ดี

อาการโรคลมแดด

ระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกผิวหนังร้อนและแห้ง หน้าแดง จะมีอาการกระหายน้ำมาก ชีพจรเร็ว และหายใจลึก ตัวร้อน หายใจสั้นและถี่ ปากคอแห้ง ต่อไปอุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอาจถึง 108F ชีพจรเบาและไม่สมํ่าเสมอ หายใจตื้น กล้ามเนื้อเกร็งตัว ชัก รูม่านตาขยาย การเคลื่อนไหวและสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ได้ มีการอาเจียน ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ และหมดสติในเวลาต่อมา ถ้าผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเทาคล้ายสีขี้เถ้าแสดงว่าใกล้ถึงภาวะหัวใจหยุดทํางาน

 


การปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมแดด

การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดดให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเลย เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ

การป้องกันเบื้องต้น หากสงสัยว่าจะมีอาการของโรคลมแดด

หยุดพักจาการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือกลางแดดทันที หากจำเป็นต้องอยู่กลางแดดต้องเข้าพักในที่ร่มใกล้ๆ การสวมใส่เสือ้ผ้าที่ฟิตหรือรัดมากเกินไปก็มีผลเช่นกัน ให้คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก หรือถอดออกเท่าที่ทำได้ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำหรือผ้าเย็นเช็ดตามตัว

การดื่มน้ำเป็นวิธีปฏิบัติที่คนส่วนใหญ่เลือกฏิบัติเพราะจะช่วยบรรเทาอาการได้ทันท่วงที แต่การดื่มน้ำในลักษณะกระหาย เช่น ดื่มทีละมากๆ ก็มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดอาการจุกแน่นหน้าอกฉับพลันเป็นอันตรายได้ ควรจิบน้ำอย่างช้าๆ พอให้ร่างกายได้ปรับตัว และจิบต่อไปสักพักจนกระทั่งรู้สึกว่าอาการทุเลาลง

การชดเชยเกลือแร่ทันทีในผู้ที่เป็นลมก็ควรต้องระมัดระวัง เพราะแดดเป็นดาบสองคม ถ้าความเข้มข้นของเกลือแร่ในน้ำที่ให้ดื่มมีมากเกินไป กลับยิ่งจะเพิ่มอาการให้รุนแรงขึ้น เพราะในขณะนั้นความเข้มข้นของเกลือแร่ในเลือดมีมากอยู่แล้วเนื่องจากเหงื่อที่เสียไปมีความเข้มข้นของเกลือแร่ต่ำกว่าในเลือด ในทางปฏิบัติควรให้ดื่มน้ำธรรมดาก่อนจนความกระหายน้ำหมดไป แล้วจึงให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่เมื่อเกิดความกระหายขึ้นมาใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook