บริจาคเลือด ธารน้ำใจที่แท้จริง vs เจาะเลือดทิ้ง แล้วใครจะได้อะไร?

บริจาคเลือด ธารน้ำใจที่แท้จริง vs เจาะเลือดทิ้ง แล้วใครจะได้อะไร?

บริจาคเลือด ธารน้ำใจที่แท้จริง vs เจาะเลือดทิ้ง แล้วใครจะได้อะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ปฏิบัติการเจาะเลือดกลุ่มผู้ชุมนุมโดยตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านซีซี เพื่อนำไปเทบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และบ้านพักของนาย อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สร้างความตกตะลึงทั้งความรู้สึกของคนไทยและสายตาชาวต่างชาติ ว่าปฏิบัติการครั้งนี้ จุดมุ่งหมายที่อ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการให้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการแสดงพลังที่ถูกต้องสมควรหรือไม่ โดยเฉพาะในมุมมองของการสาธารณสุข โดยสภากาชาดไทยที่ออกมาคัดค้านการกระทำดังกล่าวว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งของผู้ที่เจาะเลือด และผู้คนบริเวณรอบข้างที่อาจสัมผัสกับเลือดดังกล่าว

การบริจาคเลือด พลังกุศลคู่จิตสำนึกคนไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า สภากาชาดไทย เป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคเลือดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดอย่างหนัก ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสารประกอบใดที่มาใช้ทดแทนโลหิตได้ดี ฉะนั้นเมื่อยามที่ร่างกายเสียโลหิตจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด หรือโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยโลหิต จึงจำเป็นต้องรับบริจาคโลหิตจากบุคคลหนึ่งเพื่อนำไปให้อีกบุคคลหนึ่งเพื่อนำไปให้อีกบุคคลหนึ่งเพื่อช่วยเหลือชีวิตให้ทันท่วงที

ความจำเป็นต้องใช้โลหิต

โลหิต 77% ที่ได้รับบริจาคถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนโลหิตที่สูญเสียไปในภาวะต่างๆ อาทิ อุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคกระเพาะอาหาร การคลอดบุตร ฯลฯ อีก 23 % เป็นการนำโลหิตไปใช้เฉพาะโรค อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เกล็ดโลหิตต่ำ ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต้องจัดหาโลหิตให้ได้วันละ 1,500 ยูนิต เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 42,000 ยูนิต จึงจะเพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
โดยแบ่งเป็น หมู่โลหิตที่จำเป็นต้องจัดหาโลหิตในแต่ละวัน ดังนี้คือ

หมู่ A วันละ 400 ยูนิต
หมู่ B วันละ 400 ยูนิต
หมู่ O วันละ 600 ยูนิต
หมู่ AB วันละ 100 ยูนิต

การบริจาคโลหิต คือการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค เพราะร่างกายแต่ละคนจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้

โลหิตสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน เพราะเมื่อบริจาคโลหิตออกไปไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้น มาทดแทนให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว เพราะหมดอายุออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ กระบวนการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน จนกระทั่งบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำ บริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ตั้งแต่ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค*

 

เมื่อเลือดที่จำเป็น ถูกนำไปเป็นของเล่นทางการเมือง

"โฆษกกรมควบคุมโรค ระบุพฤติกรรมนำหลอดเลือดไปฉีดที่หน้ารัฐสภาของกลุ่ม ส.ส. ไม่เหมาะสม เสี่ยงเชื้อโรคฟุ้งกระจาย แนะการล้างคราบเลือดต้องใช้สารฟอกขาวและน้ำยาฆ่าเชื้อเท่านั้น พร้อมห่วงพนักงานเก็บขยะและทำความสะอาดจะได้รับอันตรายจากขยะติดเชื้อ"

ขั้นตอนของการเก็บล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่มีการเทเลือด ทีมแพทย์จากวชิระพยาบาล ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลกว่า 80 คน เข้าพื้นที่เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของชุดใส่เพื่อทำความสะอาดเลือด อุปกรณ์เก็บกวาดอุปกรณ์ใส่เลือด และน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยให้ความมั่นใจจะสามารถจัดการตามกระบวนการทางวิชาการเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้หมด ฉะนั้น ขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง รวมถึงจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวแน่นอน โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ น้ำยาโซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ ราดบริเวณจุดที่มีรอยเลือด จากนั้นทิ้งไว้ 5 นาที ก่อนจะใช้ที่โกยขยะและแปรงขัดพื้นกวาดน้ำเลือดที่เริ่มแข็งตัว ใส่ถุงขยะติดเชื้อที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปทำลายทิ้งที่โรงพยาบาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เทน้ำยาตัวเดิมอีกครั้งแล้วทิ้งไว้ 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่ในเลือด อาทิ ไวรัสเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบบี ได้ทั้งหมด ถึงจะให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของกรุงเทพมหานคร ฉีดน้ำและใช้ผงซักฟอกล้างตามปกติ

ทั้งนี้จากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำเลือดมาเทหน้าประตูทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ทั้ง 9 ประตู เจ้าหน้าที่จึงต้องกระจายกำลังกันทำความสะอาด โดยประตูแต่ละแห่งต้องใช้เวลาทำความสะอาดประมาณ 1 ชั่วโมง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการติดตามภาพข่าวการเจาะเลือดของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อประท้วงทางการเมือง พบว่าทำถูกขั้นตอน มีการใช้รัดแขนและเข็มฉีดยา อีกทั้งพบว่าผู้เจาะเลือดส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการเทเลือดที่หน้าทำเนียบของกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากหากมีการกระเด็นเข้า ตา จมูก ปาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี แนะให้รีบล้างออก หรือบ้วนปาก และเชื่อว่าในการเจาะเลือดครั้งนี้จะต้องมีผู้เป็นพาหะของโรค เพราะร้อยละ 5-10 ของคนไทย ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ส่วนการกำจัดคราบเลือดต้องใช้สารฟอกขาวและน้ำยาฆ่าเชื้อเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส กล่าวตำหนิการกระทำของกลุ่ม ส.ส.ที่เจาะเลือดและนำหลอดเลือดมาฉีดหน้ารัฐสภาว่า เป็นกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย และไม่มีรายงานยืนยันอย่างชัดเจนว่า เลือดเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อม หรือแห้ง เชื้อโรคจะตายทันที และห่วงการทำลายขยะติดเชื้อที่เป็นเข็มฉีดยา เนื่องจากเกรงผู้เก็บขยะและทำความสะอาดได้รับอันตรายจากเข็ม จากข้อมูลการทำลายขยะในโรงพยาบาลพบว่า ส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะนิยมจ้างบริษัทเอกชนนำเข็มฉีดยาไปทำลายในกิโลกรัมละ 9 บาท หรือไม่จะใช้วิธีนำไปเผาทำลายแทน

นอกจากนี้ องค์กรผู้ป่วยประณามเทเลือดทิ้ง เป็นการกระทำไม่รู้คุณค่าของเลือด เรียกร้องบริจาคเลือดและไตให้ผู้ป่วยอาการหนักจะเกิดประโยชน์กว่า

นางสายชล แซ่ลิ้ม รองประธานฝ่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ชมรมชี่ไดนามิกส์ ประเทศไทย กล่าวว่า รับไม่ได้กับการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง ในการนำเลือดไปเททิ้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ หากผู้ชุมนุมสละเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยังดีกว่า เพราะปัจจุบันยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการเลือด บางครั้งเกิดอุบัติเหตุ บางหมู่เลือดขาดแคลนหายาก พร้อมเรียกร้องขอให้ผู้ชุมนุมหันมาประกาศบริจาคเลือดและไตให้ผู้ป่วยที่มี อาการหนักรอการเปลี่ยนไตแทน จะเกิดประโยชน์กับสังคมมากกว่า ส่วนที่มีบุคลากรทางแพทย์มาเจาะเลือดให้กลุ่มคนเสื้อแดง เชื่อว่าไม่น่าจะใช่แพทย์ พยาบาลจริง เพราะตั้งแต่มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแถบทุกโรงพยาบาลทำงานหนัก จึงไม่เชื่อว่าจะมีแพทย์พยาบาลว่างมาเจาะเลือดให้เช่นนี้

นายสุบิน นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า เลือดถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์อย่างมาก เพราะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากมาย ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ต้องใช้เลือดเพื่อรักษาชีวิตให้ยังมีลมหายใจ เช่น ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องรับเลือดอยู่ตลอดเวลา ต้องรับเลือดจากประชาชนที่มาบริจาค

การกระทำครั้งนี้จึงไม่ถูกต้องและเป็นเรื่องที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับใคร

*ข้อมูลจาก สภากาชาดไทย

ข้อมูลข่าว โดย สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook