ศีรษะล้านไม่ใช่ปัญหา ถ้าช่วยความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง

ศีรษะล้านไม่ใช่ปัญหา ถ้าช่วยความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง

ศีรษะล้านไม่ใช่ปัญหา ถ้าช่วยความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

บีบีซี นิวส์ ออนไลน์ - นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ เสนอผลการวิจัยพบว่าผู้ชายที่เส้นผมบางตั้งแต่อายุเพียง 30 ปี มีโอกาสน้อยลงที่จะเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์วอชิงตัน นำผลการวิจัยนี้ออกเผยแพร่ผ่านวารสารมะเร็งระบาดวิทยา โดยศึกษาจากผู้ชาย 2,000 คนอายุระหว่าง 40-47 ปี พบว่า ผู้ชายจำนวนครึ่งหนึ่งเป็น มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกันระหว่างคนที่เริ่มศีรษะล้านตั้งแต่อายุ 30 ปีกับผู้ที่ไม่มีปัญหาศีรษะล้านในช่วงอายุดังกล่าว พบว่าคนที่ศีรษะล้านตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากลดลงประมาณ 29-45%

นักวิจัยเชื่อว่า ผู้ชายในวัย 30 ปี จะมีประมาณ 25-30% ที่เริ่มผมบาง อาการผมบางหรือศีรษะล้านมีสาเหตุมาจากรูขุมขนของเส้นผมบนหนังศีรษะได้รับสารเคมีที่ผลิตขึ้นจากฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโตสเตอโรนมากเกินไป ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงๆ จะมีโอกาสศีรษะล้านได้มากกว่าผู้ชายที่มีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยกว่า

โดยปกติของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะให้ยาที่ช่วยลดฮอร์โมนเพศชาย เพราะถ้าปล่อยให้ฮอร์โมนนี้มีมากก็จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ถ้าฮอร์โมนเพศชายมีมากตั้งแต่ในช่วงวัยหนุ่มก็อาจจะเป็นผลดีต่อการป้องกันมะเร็ง แต่ผลเสียก็คือศีรษะล้าน

นักวิจัยบอกว่า ถ้าผลการวิจัยนี้ได้รับการพิสูจน์มากขึ้นว่าเป็นจริง ก็จะทำให้วงการแพทย์มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศชายที่มีผลต่อเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ในร่างกาย

ขณะที่ นพ.อลิสัน รอสส์ จากศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร เตือนว่า ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ให้ผลตรงกันข้ามกับงานวิจัยล่าสุด และเชื่อว่างานวิจัยมีน้ำหนักอ่อนเกินไป เพราะเลือกถามคนในวัย 40-70 ปีให้นึกย้อนไปในอดีตว่าเมื่ออายุ 30 มีอาการเส้นผมบางหรือไม่ ซึ่งยังไม่ใช่การเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook