ขั้นตอนการบริโภคอาหารเพื่อหัวใจที่แข็งแรง

ขั้นตอนการบริโภคอาหารเพื่อหัวใจที่แข็งแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เราทุกคน หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุดพัก เพื่อทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากหัวใจทำงานได้ไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ เจ้าของหัวใจดวงนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้าย เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเกี่ยวกับหัวใจที่ร้ายแรงตามมา ปัจจุบันโรคหัวใจกำลังเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง  ดังนั้น การใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆ ในการดำเนินชีวิตจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจในอนาคตได้ วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ เป็นขั้นตอนการบริโภคอาหารเพื่อหัวใจที่แข็งแรงมาฝากกันค่ะ

ขั้นตอนการบริโภคอาหารเพื่อหัวใจที่แข็งแรง
ขั้นตอนการบริโภคอาหารเพื่อหัวใจที่แข็งแรง

1. ปริมาณของอาหาร การกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมค่ะ ทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์ที่เพียงพอกับความต้องการ และไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ เพราะความอ้วนก็ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้หัวใจมีการทำงานที่ผิดปกติ

2. โภชนาการ 5 หมู่  นอกจากจะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการที่ดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมด้วย มีหลักการง่ายๆ คือ ข้าว 30% ผัก 30% ผลไม้ที่ไม่หวานจัด 20% และโปรตีนอีก 20% ส่วนไขมันควรได้รับในปริมาณที่น้อยที่สุด

3. ข้าวกล้อง ข้าวถือเป็นอาหารหลักของคนเราในแต่ละมื้ออาหาร ข้าวที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด คือข้าวที่ผ่านกรรมวิธีในการผลิตน้อย ได้แก่ ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ เพราะมีคุณประโยชน์และอุดมไปด้วยใยอาหารที่ดีต่อสุขภาพมาก ซึ่งกากใยในข้าวเหล่านี้ จะช่วยดูดซึมแป้งและน้ำตาลให้เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ลดภาวะน้ำตาลในเลือดได้

4. ไขมัน ควรเลือกน้ำมันที่ไม่มีกรดไขมันอิ่มตัว และหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันอิ่มตัวจำพวกไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม เนยเทียม และทุกครั้งที่จะประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ ให้เลือกส่วนที่ไม่ติดมัน หรือมีไขมันน้อยที่สุดค่ะ

5. โปรตีน  ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่ได้จากเนื้อปลา สัตว์ปีก หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน และไข่ขาว โดยทุกครั้งที่นำเนื้อสัตว์มาทำอาหารควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกด้วยค่ะ

6. ผัก ผลไม้ ผักและผลไม้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย มีทั้งกากใยไฟเบอร์ที่เป็นประโยชน์กับทางเดินอาหาร ซึ่งเมื่อกินพร้อมกับมื้ออาหารจะช่วยในเรื่องของการดูดซึมให้เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงเร็วเกินไปจนเป็นอันตรายได้

7. ลดเค็ม ควบคุมการบริโภคเกลือ เพราะการบริโภคเกลือมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อหัวใจได้ด้วย

อย่างไรก็ดีการมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น นอกจากจะต้องใส่ใจในเรื่องของอาหารการกินแล้ว ยังต้องควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงทั้งภายนอกและภายในค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook