กระโดดเชือก..อีกหนึ่งทางเลือกของคนรักสุขภาพ
ปัจจุบันไม่ว่าจะหันมองทางไหน ก็เริ่มจะเห็นกระแสการออกกำลังกายของคนรักสุขภาพกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนของผู้มาใช้บริการลานกีฬาของชุมชน หมู่บ้าน หรือสวนสาธารณะที่จัดไว้สำหรับสมาชิกหรือบุคคลทั่วไปกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงสถานออกกำลังกายที่ต้องเสียสตางค์ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาเพื่อการออกกำลังกายที่แน่นอนแต่อยากหุ่นดีและมีสุขภาพแข็งแรง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การออกกำลังกายก็ล้วนแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การออกกำลังกายด้วยวิธีง่ายๆ อย่าง “การกระโดดเชือก”
เพราะเพียงแค่มีเชือกกระโดดที่ทำจากพีวีซีที่มีน้ำหนักเบาและความยาวพอเหมาะสักเส้น กับรองเท้าผ้าใบที่สวมใส่กระชับสำหรับลดแรงกระแทก และพื้นที่เรียบๆ สักหน่อย แล้วหาเวลามาปฏิบัติเป็นประจำ ก็รับรองได้ว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากการกระโดดเชือกมากกว่าการมีหุ่นสวยอย่างแน่นอน เพราะ...
1.การกระโดดเชือก 1 นาที จะช่วยเผาผลาญพลังงานได้มากถึง 13 กิโลแคลอรี ดังนั้น การกระโดดเชือกราว 10-15 นาทีต่อครั้ง ก็จะช่วยเผาผลาญพลังงานได้เทียบเท่ากับการวิ่งจ๊อกกิ้งช้าๆ เป็นเวลา 30 นาทีเลยทีเดียว
2.การกระโดดเชือกเป็นการออกกำลังกายชนิดที่ต้องใช้ออกซิเจน จึงช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจ ปอด และระบบอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้น การกระโดดเชือกจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูงได้
3.การกระโดดเชือกนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบต่างๆ แล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และช่วยให้นอนหลับสบาย
4.การกระโดดเชือกยังช่วยฝึกในเรื่องของการมีระเบียบวินัย ช่วยฝึกความอดทน รวมทั้งเป็นการสร้างทักษะพื้นฐานทางกีฬา ช่วยทำให้มีบุคลิกภาพดี มีความกระฉับกระเฉง มีสติปัญญาดี และเป็นการซื้อสุขภาพที่แข็งแรงในราคาที่แสนประหยัด
แต่ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ก็ควรได้มีการอบอุ่นร่างกายเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อเสียก่อน อาจด้วยวิธีการวิ่งเหยาะๆ ประมาณ 2 - 3 นาทีเพื่อให้เลือดสูบฉีด จากนั้นจึงยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อต่างๆ เพื่อลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างกระโดดเชือกได้ และภายหลังจากออกกำลังกายจนพอสมควรแล้ว ก็ควรจะปฏิบัติในทำนองเดียวกัน เพื่อรักษาความต่อเนื่องของการไหลเวียนโลหิตที่จะทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ดี ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่า หรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง หัวเข่า และข้อเท้าอย่างรุนแรงมาก่อน ก็ควรขอคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์ก่อนที่จะเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีนี้