นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่วัย 1-3 ปี พัฒนาการลูกที่คุณแม่ต้องรู้
ถ้านึกถึงบุคลิกของเด็กวัย 1-3 ปี หนีไม่พ้นเรื่องการเล่นซุกซนไปทั่วบ้าน หยิบโน้น มารวมนี่ ไปตีนั่นเป็นกลอง เป็นดนตรีตามแต่จะคิดหาและจินตนาการได้
เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักอยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่ง ชอบกระโดด เลียนแบบยอดมนุษย์ต่างๆ ตามความชื่นชอบ แล้วจริงๆ พัฒนาการตามวัยของเด็ก 1-3 ปี เป็นอย่างไร และต้องส่งเสริมอะไรให้ดีขึ้นบ้าง คุณแม่มาติดตามไปพร้อมกันเลยค่ะ
พัฒนาการโดยทั่วไปของนักสำรวจน้อย
เพราะเด็กวัยนี้เพิ่งผ่านพ้นการนั่งและคลานมาหยกๆ ทำให้เก็บกักความอยากรู้อยากเห็นไว้เต็มอกแทบจะล้นทะลักออกมาเลยทีเดียว ถ้าพ่อแม่ท่านใดสังเกตวันแรกๆ เดินอย่างไม่หยุดนิ่งเหมือนกับถูกสะกดมนต์ ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง1-2 เดือนหรือบางคนอาจมากกว่านั้น
เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เรียกร้องความสนใจ ท้าทาย มีเหตุผลในแบบฉบับตัวเองที่ไม่ตรงใจผู้ใหญ่ เหนื่อยง่าย หิวง่ายและบ่อยเพราะใช้พลังงานในการเรียนรู้สิ่งรอบตัวเยอะขึ้น นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังต้องการความรักความเอาใจใส่ไม่แตกต่างจากวัยทารก ยังต้องการให้ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ใช่การบังคับหรือห้าม (ถึงห้ามหนูก็ไม่ฟัง) อีกทั้งการสำรวจของเด็กวัยนี้จะไม่ใช้อุปกรณ์ มักใช้ร่างกายตัวเองเป็นเครื่องมือในการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้นมักเห็นการบาดเจ็บเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น แย่ แคะ ล้วง ดึง ปีนป่ายและกระโดด เป็นต้น
วิธีการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ
1. ส่งเสริมให้ได้เล่นอย่างอิสระ เพราะเป็นการระดมสรรพกำลังทั้งหมดของเด็กออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ความคิด จินตนาการ ความสร้างสรรค์ มาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้ทุกสัดส่วนของร่างกายเด็กถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ตามไปด้วย โดยเฉพาะเซลประสาทในสมองของเด็กที่โตเต็มวัยในช่วงอายุนี้
2. สนับสนุนอุปกรณ์ที่กระตุ้นการเล่นและการเรียนรู้ ซึ่งต้องเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สำเร็จรูปคืออุปกรณ์ที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้เด็กใช้ความคิด จินตนาการ ในการออกแบบ กำหนดวิธี วางแผน ตัดสินใจเลือก และลงมือเล่นได้อย่างหลากหลายและอิสระอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
3. อ่านนิทาน บทกลอนให้ฟัง เป็นการกระตุ้นด้านความคิดและจินตนาการสำหรับเด็ก กระตุ้นการสื่อสารผ่านภาษาพูดเชื่อมโยงการมองเห็นภาพ และกระตุ้นการผูกเรื่องราวต่างๆ ให้เด็กได้ซึมซับเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่หนังสือเขียนไว้ ผสมผสานกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจินตนาการตัวเอง เซลประสาทสมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นให้ทำงานและเจริญเติบโตตามไปด้วย
4. รักษาความปลอดภัยอยู่ไม่ห่าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเอาจริงเอาจังอย่างมากเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถประเมินความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมรอบตัว และอันตรายจากคนแปลกหน้าได้ รวมทั้งสัดส่วนของน้ำหนักตัวท่อนบนมีมากกว่าท่อนล่างแบบไม่สมดุล ทำให้หกล้มได้ง่ายและมักเอาศีรษะลงก่อนเสมอ จะส่งผลอันตรายแก่สมองเด็กได้
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ปกครองทุกท่านลองนำไปปรับใช้ดูนะคะ แล้วจะสังเกตเห็นนักทดลองผู้ยิ่งใหญ่อนาคตรางวัลโนเบลคนหนึ่งของโลกก็เป็นได้