NATIONAL GEOGRAPHIC : มิถุนายน 2553

NATIONAL GEOGRAPHIC : มิถุนายน 2553

NATIONAL GEOGRAPHIC : มิถุนายน 2553
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ตัวอย่างเรื่องน่าอ่านนชภายในเล่ม

พุทธคูหาแห่งตุนหวาง
แหล่งรวมพุทธศิลป์ ณ โอเอซิสบนเส้นทางสายไหมกำลังถูกคุกคามจากพลังธรรมชาติและกระแสนักท่องเที่ยว

ปอยส่างลอง
ร่วมแรงร่วมใจสืบสานประเพณีบวชลูกแก้วของชาวไทยใหญ่


แดนหนาวชาวไวกิง
การละลายของธารน้ำแข็งจะเป็นวิกฤติหรือโอกาสสำหรับชาวกรีนแลนด์กันแน่


พยานโลกร้อน
การละลายของพืดน้ำแข็งในกรีนแลนด์คือประจักษ์พยานชี้ชัดของภาวะโลกร้อน


ลูกหลานแห่งแมนเดลา
บทเรียนว่าด้วยความขัดแย้งอันร้าวลึกและความสมานฉันท์ของชาวแอฟริกาใต้


กระเรียนแสนงาม
นกกระเรียนขาวใหญ่คือตัวอย่างของความหวังในการอนุรักษ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


พุทธคูหาแห่งตุนหวาง

โครงกระดูกมนุษย์กองสุมกันดูประหนึ่งป้ายเตือนบนผืนทราย สำหรับพระถังซัมจั๋ง หรือเสวียนจั้ง ภิกษุผู้จาริกไปตามเส้นทางสายไหมเมื่ ปี ค.ศ. 629 โครงกระดูกขาวโพลนเหล่านี้คอยย้ำเตือนถึงภยันตรายต่างๆบนทางหลวงสายสำคัญที่สุดของโลกทั้งในแง่การค้า การต่อสู้ช่วงชิงดินแดน และการแลกเปลี่ยนแนวคิดสรรพวิทยาการต่างๆ พายุทรายที่หมุนวนในทะเลทรายเลยพรมแดนด้านตะวันตกของจักรวรรดิจีน ทำให้สมณะรูปนี้หลงทางและจวนสิ้นแรง

สิ่งที่ทำให้พระถังซัมจั๋งเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ตามที่ท่านเขียนเล่าไว้ในบันทึกการเดินทางอันโด่งดัง คือของล้ำค่าอีกอย่างที่ขนส่งไปตามเส้นทางสายไหม นั่นคือพุทธศาสนา ซึ่งเริ่มออกจากชมพูทวีปในช่วงใดช่วงหนึ่งของสามคริสต์ศตวรรษแรก พระไตรปิฎกที่พระถังซัมจั๋งขนกลับมาจากอินเดียและใช้เวลาสองทศวรรษต่อมาศึกษาและแปล จะกลายเป็นรากฐานที่ช่วยส่งเสริมให้พุทธศาสนาเจริญงอกงามในจีนต่อไป เมื่อการจาริกแสวงบุญที่กินเวลายาวนาน 16 ปีใกล้สิ้นสุด พระถังซัมจั๋งได้หยุดพักที่ตุนหวางซึ่งเป็นโอเอซิสที่เจริญรุ่งเรืองแห่งหนึ่งบนเส้นทางสายไหม ชุมทางอันเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนและวัฒนธรรมแห่งนี้ก่อเกิดสิ่งอัศจรรย์ยิ่งสิ่งหนึ่งในโลกพุทธศาสนา นั่นคือกลุ่มถ้ำมั่วเกา

ชาวจีนเรียกหมู่ถ้ำเหล่านี้ว่า มั่วเกาคู หรือ "ถ้ำที่งดงามหาใดเทียม" ในบรรดาถ้ำเกือบ 800 แห่งที่เจาะหน้าผาเข้าไป มีอยู่ 492 ถ้ำที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรตระการตาครอบคลุมพื้นที่กว่า 46,000 ตารางเมตร ภายในถ้ำยังมีประติมากรรมกว่า 2,000 ชิ้น และบางส่วนจัดว่าเป็นผลงานเอกอุที่สุดแห่งยุค

กลุ่มถ้ำมั่วเกาซึ่งสลักเสลาขึ้นระหว่างศตวรรษที่สี่ถึงสิบสี่รอดพ้นความเสียหายจากสงครามและการปล้นชิงรวมทั้งภัยธรรมชาติและการปล่อยปละละเลยมาได้ บัดนี้ หมู่ถ้ำอันห่างไกลที่บางส่วนเคยจมอยู่ใต้ผืนทราย กลายเป็นแหล่งรวมพุทธศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กระนั้น ถ้ำเหล่านี้หาใช่เป็นเพียงอนุสรณ์สถานแห่งพลังศรัทธา จิตรกรรมฝาผนัง ประติมากรรม ตลอดจนม้วนคัมภีร์และพระสูตรที่พบยังช่วยให้เราเห็นภาพรำไรของสังคมหลากวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ร่วมพันปีในบริเวณที่เคยเป็นระเบียงเชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก

ยุคทองในการรังสรรค์ผลงานยุคหนึ่งของมั่วเกาอยู่ในช่วงศตวรรษที่เจ็ดและแปด เมื่อจักรวรรดิจีนเรืองอำนาจ และเปิดกว้างทางความคิด เส้นทางสายไหมกำลังรุ่งเรือง พุทธศาสนาเจริญงอกงาม และตุนหวางก็สวามิภักดิ์ต่อราชสำนักจีน จิตรกรผู้วาดภาพบนผนังถ้ำสมัยราชวงศ์ถังฝากฝีมือการวาดภาพแบบจีนด้วยความภาคภูมิ พวกเขาแต่งแต้มผนังถ้ำด้วยเรื่องราวในพุทธศาสนาอันรุ่มรวยไปด้วยรายละเอียด สีสัน ท่วงท่าลีลา และความสมจริง จนทำให้ภูมิทัศน์ในจินตนาการดูโลดแล่นราวกับมีชีวิต ทว่าจีนในยุคต่อมากลับเปลี่ยนนโยบาย และท้ายที่สุดก็ปิดตัวเองจากโลกภายนอกในสมัยราชวงศ์หมิงช่วงศตวรรษที่สิบสี่

แม้ความวุ่นวายทางโลกจะเข้าครอบงำตุนหวางอยู่เนืองๆ หรือแม้แต่ช่วงที่เมืองถูกครอบครองโดยราชวงศ์คู่แข่ง ขุนนางท้องถิ่น และอำนาจต่างแดน เช่น ทิเบตซึ่งปกครองตุนหวางระหว่างปี ค.ศ. 781 ถึง ค.ศ. 847 การรังสรรค์งานศิลป์ที่มั่วเกาก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะแทนที่จะลบล้างร่อยรอยของอดีตผู้ปกครองให้หมดสิ้น ผู้สืบทอดอำนาจกลับให้เงินสนับสนุนการสร้างพุทธคูหาแห่งใหม่ๆ อีกทั้งแต่ละแห่งล้วนงามวิจิตรยิ่งกว่าของเดิม

ล่วงถึงปลายศตวรรษที่สิบ เส้นทางสายไหมเริ่มเสื่อมโทรมลง แต่การสร้างและตกแต่งถ้ำแห่งใหม่ๆยังดำเนินต่อไป แต่การเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลสายใหม่ๆ และการต่อเรือที่แล่นได้เร็วขึ้น ทำให้กองคาราวานทางบกเริ่มล้าสมัย ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังสูญเสียอำนาจควบคุมเส้นทางสายไหมส่วนใหญ่ ขณะที่ศาสนาอิสลามเริ่มต้นการเดินทางอันยาวนานข้ามเทือกเขาต่างๆในเอเชียกลางเข้ามา ครั้นถึงต้นศตวรรษที่สิบเอ็ด บริเวณที่เรียกกันว่าภูมิภาคตะวันตกหลายแห่ง (บางส่วนของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางภาคตะวันตกไกลของจีนในปัจจุบัน) ก็หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนพระสงฆ์ที่ตุนหวางก็ช่วยกันขนย้ายต้นฉบับคัมภีร์และภาพเขียนนับหมื่นไปเก็บซ่อนไว้ในคูหาเล็กๆข้างถ้ำมั่วเกาที่มีขนาดใหญ่กว่า

คูหาซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อถ้ำหมายเลข 17 หรือถ้ำห้องสมุด (Library Cave) ได้ถูกปิดตาย ฉาบปูนทับ และซ่อนอยู่เบื้องหลังจิตรกรรมฝาผนัง คูหาลับแห่งนี้จะเร้นกายอยู่ใต้ดินต่อไปอีก 900 ปี

ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อนักพรตเต๋านาม หวังหยวนลู่ ตั้งตนเป็นอารักษ์ประจำพุทธคูหาแห่งตุนหวาง ถ้ำน้อยใหญ่ที่ถูกทิ้งร้างหลายแห่งล้วนจมอยู่ใต้ผืนทราย เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1900 ขณะที่คนงานช่วยกันขนทรายไปทิ้ง หวังก็พบประตูลับที่นำไปสู่ถ้ำเล็กๆ ซึ่งภายในอัดแน่นไปด้วยม้วนคัมภีร์หลายพันม้วน เขามอบบางส่วนให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วยหวังว่าจะได้รับเงินบริจาค แต่ทั้งหมดที่เขาได้รับกลับเป็นคำสั่งให้ปิดตายถ้ำนั้นเสีย

ความลับของหมู่ถ้ำมั่วเกาต้องรอคอยการเผชิญหน้ากับโลกตะวันตกอีกครั้งจึงได้รับการเปิดเผย ออริล สไตน์ นักวิชาการชาวฮังการีซึ่งทำงานให้รัฐบาลอังกฤษในอินเดียและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอังกฤษ เดินทางไปถึงตุนหวางตอนต้นปี 1907 โดยอาศัยคำบอกเล่าสมัยศตวรรษที่เจ็ดของพระถังซัมจั๋งเป็นเครื่องนำทาง ในตอนแรกหวังไม่ยอมให้ชาวต่างชาติผู้นี้ชมม้วนคัมภีร์ในถ้ำห้องสมุด จนกระทั่งเขาได้ยินว่าสไตน์เป็นหนึ่งในผู้ที่ชื่นชมพระถังซัมจั๋ง และปรากฏว่าม้วนคัมภีร์จำนวนมากเป็นผลงานแปลพระสูตรในพุทธศาสนาของพระถังซัมจั๋งที่ตัวท่านเองได้นำกลับมาจากอินเดีย

หลังจากใช้เวลาหลายวันพูดจาหว่านล้อมหวังและหลายคืนในการเคลื่อนย้ายม้วนคัมภีร์ออกจากถ้ำ สไตน์ก็เดินทางออกจากตุนหวางพร้อมลังใส่คัมภีร์ 24 ลัง แล้วยังมีลังบรรจุภาพวาดและศิลปวัตถุอีก 5 ลัง

หีบสมบัติของสไตน์เผยให้เห็นโลกแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวากว่าที่ใครคาดคิด ข้อความในคัมภีร์เหล่านั้นมีมากกว่าสิบภาษา ทั้งสันสกฤต เตอร์กิก ทิเบต และกระทั่งยิว-เปอร์เซีย ควบคู่ไปกับภาษาจีน กระดาษใช้แล้วที่คัดลอกพระสูตรจำนวนมากทับลงไปเผยข้อมูลอันน่าตื่นใจของชีวิตประจำวันบนเส้นทางสายไหม ทั้งสัญญาการค้าทาส รายงานข่าวการลักพาตัวเด็ก หรือกระทั่งคำสารภาพผิดสำหรับพฤติกรรมเมามาย สิ่งของล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งคือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร ซึ่งเป็นม้วนคัมภีร์ยาวห้าเมตรที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้เมื่อปี ค.ศ. 868 หรือเกือบ 600 ปีก่อนหน้าการพิมพ์พระคริสตธรรมคัมภีร์ของกูเตนเบิร์กในโลกตะวันตก

ชาติอื่นๆ ทั้งฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น และแม้แต่จีนเอง ต่างรีบรุดตามรอยเท้าของสไตน์ โบราณวัตถุจากกลุ่มถ้ำมั่วเกา จึงกระจัดกระจายไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในสามทวีป และได้ก่อให้เกิดสาขาวิชาใหม่ นั่นคือตุนหวางวิทยา (Dunhuangology)

ปัจจุบัน โลกตะวันออกและโลกตะวันตกมาบรรจบกันอีกครั้งที่ตุนหวาง แต่คราวนี้เพื่อช่วยปกปักรักษากลุ่มถ้ำจากสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุด จิตรกรรมฝาผนังของมั่วเกานั้นบอบบางยิ่งนัก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพเขียนสีเหล่านี้ต้องเผชิญอันตรายจากพลังธรรมชาติ ทั้งทราย น้ำ เขม่าควัน เกลือ แมลง และแสงแดด รวมไปถึงกระแสนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา เพื่ออนุรักษ์งานศิลป์ชิ้นเอกแห่งเส้นทางสายไหม และรับมือผลกระทบที่เกิดจากนักท่องเที่ยว สถาบันตุนหวาง (Dunhuang Academy) ซึ่งรับผิดชอบงานวิจัย การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ได้ขอความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญทั่วเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา นี่คือความร่วมมือทางวัฒนธรรมที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของกลุ่มถ้ำแห่งนี้

อ่านเรื่องราวทั้งหมดอย่างจุใจได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook