ปรากฏการณ์ความขัดแย้งจากการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งจากการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งจากการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

"มั่นใจว่าคนไทยเกิน...ต้องการให้...", "ร่วมลงชื่อสนับสนุน...", "ร่วมลงชื่อคัดค้าน..." ในเฟซบุ๊ค หรือคำยอดฮิตในทวิตเตอร์ เช่น อภิสิทธิ์, เสื้อแดง, ราชประสงค์และเหวง รวมทั้งฟอร์เวิร์ดเมล์อย่าง ใครคือไอ้โม่งในภาพนี้, ทักษิณ...ความจริงที่หลายคนยังไม่รู้หรือวาทะแห่งปี ใจนักเลง & ใจไม่ด้านพอ

เป็นวาทกรรมยอดนิยมบางส่วนในการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ สะท้อนปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้น ในช่วงการชุมนุมการเมืองระหว่างวันที่ 12 มีนาคม ถึง 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคมได้ศึกษา ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (ศึกษา Socail media) และจัดให้มีการประชุมเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อสะท้อนปัญหาและแสวงหาทางออก

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Moniter) ผู้ทำการศึกษา "ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (ศึกษา Socail media)" กล่าวว่า ได้วิจัยเนื้อหาผ่าน 4 กลุ่มช่องทางสื่อใหม่ ได้แก่ 1.เฟซบุ๊ค 2.ทวิตเตอร์ 3.เว็ดบอร์ดพันทิป และ 4.การใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์ พบว่า มีการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารทางการเมืองในระดับกว้าง คึกคักและเข้มข้น โดยค่อนข้างสร้างความแตกแยกมากกว่าสร้างความสมานฉันท์

ใน เฟซบุ๊ค จาก 1,307 เว็ปไซต์ แบ่งเป็น 19 กลุ่ม การสื่อสารค่อนข้างรุนแรง มีลักษณะแบ่งแยกแบ่งฝ่ายชัดเจน วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก เนื้อหาส่วนมากกว่า 90% เป็นการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านการกระทำและไม่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง มี 423 กลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 32.4% รองลงมาคือ กลุ่มรักในหลวง/ รักสถาบัน 144 กลุ่ม คิดเป็น 11.0% บางส่วนกลาย มาเป็นพื้นที่สอดแนม เฝ้าระวังการแดงความเห็นการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบัน มีการนำมาถ่ายทอดในกลุ่มตนเพื่อประจาน และยังนำไปเผยแพร่ต่อในอีเมล์,เว็บบอร์ด เพื่อให้สาธารณะรับรู้ ขณะที่ใช้เรียกร้องสันติวิธีเพียง 3% และรณรงค์ให้เกิดสันติวิธีน้อยมากแค่ 1%เท่า นั้น โดยกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดคือ กลุ่มมั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน ต่อต้านการยุบสภา มี 556,339 คน

สื่อทวิตเตอร์ เด่นการใช้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเกาะติด ต่อเนื่องโดยมีนักข่าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอื่น มีทั้งเผยแพร่ข่าวการเมือง วิจารณ์การเมือง เน้นข้อมูลจราจร เน้นด้านธรรมะ และเน้นพูดคุยทั่วไป กลุ่มคำที่นิยมใช้ทวิตเตอร์ในช่วงการชุมนุม ได้แก่ อภิสิทธิ์ ยุบสภา เสื้อแดง เหวง ทักษิณ

เว็บบอร์ดพันทิป โดยกลุ่มที่มีเนื้อหาการเมือง ใช้ชื่อว่า ห้องราชดำเนิน พบว่า มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม ประชดเสียดสีฝ่ายตรงข้าม และตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เว็บบอร์ดพันทิปห้องราชดำเนินปิดให้บริการ

ฟอร์เวิร์ดเมล์ทางการเมือง พบ 46 เมล์ ที่ส่งกันระหว่างเหตุการณ์การชุมนุม เป็นกลุ่มวาทกรรมให้ความรู้ ความจริงการชุมนุมมากที่สุด มี 13 เมล์ รองลงมาคือ กลุ่มรักชื่นชมในหลวงและบุคคลอื่น มี 9 เมล์

ในการศึกษาดังกล่าวแบ่งรูปแบบการสื่อสารได้ 2 แบบ คือ

1.กลวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความแตกแยกทางการเมือง มีดังนี้ การแบ่งแยก การโต้แย้งที่ดุเดือด การตรวจสอบ สอดแนมพฤติกรรม เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลที่อันตราย การกล่าวหา ประณาม แฉ และชักชวนให้กีดกันทางสังคม และการสร้างความเกลียดชัง และการปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน

2.กลวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง มีดังนี้ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ แสดงความเห็นสร้างสรรค์ การตรวจสอบ เฝ้าระวัง การรายงานข่าวของสื่อ สื่อสาร ขุดคุ้ย นำเสนอความรู้ความจริงที่ปราศจากอคติ วาทกรรมสันติภาพ การให้อภัย ความรักสามัคคี

นายธาม เสนอว่า ควรมีการตั้งองค์กรอิสระเป็นคณะกรรมการกลางมาควบคุมดูแล และต้องมีบทลงโทษด้วย โดยน่าจะมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจ กระทรวงไอซีที นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มคนทำงานด้านสังคม และสื่อมวลชนหรือบรรณาธิการข่าวที่มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี และกฎหมายหมิ่นประมาท

ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าว นสพ.โพสต์ทูเดย์ กล่าวว่า ในพื้นที่สื่อออนไลน์กลายเป็นว่าคนที่ใช้ทุกคนเป็นสื่อหมด ในเมื่อเราไม่เชื่อถือการควบคุมโดยกฎหมาย โดยรัฐ เราเชื่อในการควบคุมกันเอง แต่สภาพปัจจุบันมันไม่สามารถทำได้จริง ดังนั้นการจัดการกับสำนึกของคนเป็นสื่อสำคัญที่สุด โดยองค์กรวิชาชีพสื่อยังไม่เดินหน้ายุทธศาสตร์การปฏิรูปสื่ออย่างต่อเนื่อง มุ่งแต่เรียกร้องเสรีภาพ ความรับผิดชอบจึงถูกละเลย ฝ่ายนักวิชาการเองก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ มากำกับและตรวจสอบสื่อให้มากขึ้น โดยไม่ต้องเกรงใจ

ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของผู้ใช้สื่อออนไลน์ และทุกคน อย่าให้สื่อประเภทนี้กลายเป็นอำนาจนิยมของคนในสังคม และรัฐมักเลือกใช้การปิด ก่อนใช้กฎหมายหมิ่นประมาท ดังนั้นอยากให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์มีการลงทะเบียน และควรมีการดูแลควบคุมโดยองค์กรวิชาชีพไม่ควรให้รัฐควบคุม

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลางของสื่อ สิ่งสำคัญคือ นำเสนอข้อเท็จจริงหรือไม่ แม้บางสื่อก็มีการแอ๊บกลาง แต่ ถ้าไม่บิดเบือนนำเสนอความจริงก็ยอมรับได้ สิ่งที่ตนห่วงขณะนี้ คือจะใช้เทคโนโลยีให้มีความรับผิดชอบได้อย่างไร

ดร.อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผอ.สถาบันฝึกอบรมเนคเทค กล่าวว่า สื่อออนไลน์กลายเป็นสื่อสาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัวแล้ว ข้อดี คือทำให้โลกโปร่งใสมากขึ้น และมีประโยชน์เช่นกัน หากนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์ แต่ก็มีข้อพึงระวังว่า อย่าเชื่อในทันที และโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะนำประเด็นการเมืองและเรื่องศาสนามาพูดคุยในสื่อออนไลน์

เป็นหลากหลายมุมมองที่ช่วยกันสะท้อนต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคมร่วมกันจัดขึ้น โดยหวังจะให้ทุกฝ่ายช่วยกันเป็นกระจกสะท้อน เพื่อนำไปสู่แนวทางสร้างมาตรฐานเชิงคุณภาพของการทำงานสื่อต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook