ที่มาที่ไปของเค้กแต่งงาน

ที่มาที่ไปของเค้กแต่งงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เค้กแต่งงานนั้น ถือได้ว่าเป็นสีสันของงานแต่งงานสำหรับคู่บ่าวสาวเลยก็ว่าได้ เปรียบเสมือนเป็นหนึ่งการรวมใจของคู่บ่าวสาวในการสร้างงานศิลปะไปพร้อมๆ กับการตกแต่งประดับประดาเค้กแต่งงานของตน ให้เป็นไปตามสไตล์หรือตามรสนิยมของคู่บ่าวสาว แต่ก็ยังมีคู่บ่าวสาวอีกไม่น้อยที่ยังไม่ทราบที่มาที่ไปและความสำคัญของเค้กแต่งงาน หรือมีความสงสัยกันอยู่บ้างว่าทำไม ในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสจึงต้องมีเค้กแต่งงาน และเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ วันนี้เราจึงถือโอกาสจะมาสาธยาย ประวัติความเป็นมาของเค้กแต่งงานให้คุณได้ทราบกันค่ะ

ที่มาที่ไปของเค้กแต่งงาน
ที่มาที่ไปของเค้กแต่งงาน

ประวัติและที่มาของเค้กแต่งงาน เราจะพาคุณย้อนกลับไปในสมัยกรีกยุคโรมันโบราณ ซึ่งในสมัยนั้นแขกที่มาร่วมแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาวจะนำเค้กก้อนเล็กๆ มาร่วมงาน และนำมากองสุมกันจนเป็นชั้นๆ เพื่อให้คู่บ่าวสาวปีนขึ้นไปจูบกันบนยอด ซึ่งเป็นความเชื่อว่าถ้าคู่ใดสามารถทำได้สำเร็จก็ถือว่าเป็นคู่รักที่โชคดีและมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นเค้กแต่งงานประดับยอดด้วยตุ๊กตาคู่บ่าวสาว หลังจากนั้นต่อมา เค้กแต่งงานก็ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ เค้กแต่งงานจะมีลักษณะเป็นชั้นๆ พร้อมกับมีการตกแต่งให้เกิดความวิจิตรสวยงาม มีการประดับบนยอดเค้กด้วยตุ๊กตาคู่บ่าวสาวดูน่ารัก หรือในบางรายอาจจะประดับยอดเค้กแต่งงานด้วยแก้วแหวนเงินทอง มงกุฎ หรือสิ่งของต่างๆ ที่เป็นมงคล ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของความโชคดีมีชัย และการตัดเค้กแต่งงานแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้รับประทานเพื่อเป็นสิริมงคลร่วมกัน

สำหรับประเทศไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาจากชาวตะวันตก เช่นเดียวกับการเป่าเทียนเค้กวันเกิด ตั้งแต่ครั้งชาวตะวันตกเข้ามาทำมาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาของประเทศไทยเรา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในระยะแรกจะมีการตัดเค้กแต่งงานกัน เฉพาะในหมู่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่มีการคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก และได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนถึงยุคปัจจุบัน ถ้าหากจะกล่าวถึงการตัดเค้กในงานเลี้ยงฉลองแต่งงานแล้ว โดยปกติฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้ตัดเอง โดยมีเจ้าบ่าวคอยเป็นผู้ให้การช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนเจ้าสาวส่วนใหญ่จะทำการตัดเค้กแต่งงาน และนำไปให้แก่บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายเจ้าบ่าว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และเป็นการบอกกล่าวว่าเธอกำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัววงศ์ตระกูลของฝ่ายเจ้าบ่าว ในฐานะสมาชิกใหม่ นอกจากนั้น ยังมีการให้คู่บ่าวสาวป้อนเค้กให้แก่กันและกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับประเพณีการป้อนขนมบัวลอยในการแต่งงานแบบจีน ซึ่งเป็นการสื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ทั้งสองฝ่ายจะไปสร้างครอบครัวร่วมกัน เป็นการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของตนเอง และจะดูแลให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นที่มาของประเพณีการตัดเค้กแต่งงาน ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของความรัก ความสุข ตลอดจนการสร้างสีสัน ความสวยงาม ความสนุกสนานและประทับใจในคืนวันวิวาห์ของคู่บ่าวสาวนั่นเองค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook