รู้ทันก่อนเสี่ยง! โรควุ้นในตาเสื่อม ป้องกันก่อนสายเกินแก้
เหล่าคอสมาร์ทโฟนที่นั่งจิ้มกันอยู่ทั้งวันแทบไม่ได้พักสายตา หรือพวกพนักงานออฟฟิศทั้งหลายที่ต้องนั่งจ้องอยู่หน้าจอคอมอยู่ตลอดทั้งวันจนแทบไม่ได้หยุดพักสายตา จนทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าขึ้นมาทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ทั้งหมดนี้หากปล่อยทิ้งเอาไว้ด้วยพฤติกรรมซ้ำซากแบบเดิมๆ ต่อไป
ผลลัพธ์ที่ตามมาคืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับดวงตา ที่พบได้มากที่สุดก็เห็นจะเป็น “โรควุ้นในตาเสื่อม” จากอดีตที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากความเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันโรคนี้พบได้ในกลุ่มวัยหนุ่มสาว และดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้ชีวิตที่ห้อมล้อมไปด้วยเทคโนโลยีเช่นนี้
ทำความรู้จักกับโรควุ้นในตาเสื่อม (Eye Floaters)
ภายในดวงตาของเราจะมีส่วนประกอบที่ซับซ้อนอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นเราเรียกมันว่าน้ำวุ้น ซึ่งจะอยู่ภายในลูกตาของเรา มีลักษณะคล้ายเจลใสไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ซ่อนตัวอยู่ภายในลูกตาด้านหลัง หน้าที่ของมันคือทำหน้าที่เป็นที่หล่อเลี้ยงอาหารให้กับเซลล์ต่างๆ ของจอประสาทตาและผนังลูกตา และยังมีหน้าที่ช่วยกรองแสงที่ผ่านเข้ามา จึงเรียกได้ว่าเป็นตัวกลางในการรับแสงก่อนจะเข้าสู่การประมวลผลต่อไป
การเสื่อมของวุ้นในตา มักพบได้ในผู้ใหญ่ตั้งแต่วัย 50 ปีขึ้นไป แต่นั่นคือสิ่งที่พบในอดีตมากกว่า ส่วนปัจจุบันกลุ่มวัยทำงานมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้สูงขึ้น และพบได้ตั้งแต่อายุ 25-30 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงของวุ้นตัวนี้จะเริ่มละลายกลายเป็นน้ำจากตรงกลางอย่างช้าๆ เมื่อนานวันเข้าก็จะรุนแรงจนหลุดลอกจากจอประสาทตาในที่สุด
ต้นตอของการเกิดโรควุ้นในตา
สาเหตุหลักของโรคนี้มีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การใช้สายตาหนักเกินไปก็เป็นต้นเหตุทำให้การเสื่อมสภาพเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นจากเดิมหลายเท่า ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยิ่งอายุมากก็ยิ่งทำให้ตัววุ้นหดตัวเล็กลงเรื่อยๆ จนแตกตัว ไม่สามารถรับแสงได้ปกติ เห็นเป็นภาพมัวๆ หรือเหมือนมีหยากไย่หรือเงาลอยไปมาในอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะทึบแสงของวุ้นที่ไม่ราบเรียบเหมือนเดิม
การป้องกันก่อนสายเกินแก้คือหันมาดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงการมองแสงจ้า การใช้งานดวงตาติดต่อกันเกิน 2-3 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก ส่วนในกลุ่มที่รู้สึกว่าตัวเองตาแห้ง ก็ควรหาน้ำตาเทียมมาหยอดเพื่อป้องกันการเสียดสีจนเป็นรอย รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา
และอย่าลืมที่จะหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพให้นานมากขึ้นได้ค่ะ