วิธีตรวจมะเร็งเต้านม รับมือโรคร้ายง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง
เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่มีสรีระบอบบางและง่ายต่อการเกิดโรคร้ายได้มากกว่าผู้ชาย หลายคนจึงหวาดวิตกกังวลว่าจะเกิดโรคสารพัดอย่าง โดยเฉพาะโรคมะเร็งในผู้หญิง อย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งภายในอวัยวะต่างๆ
แต่สำหรับมะเร็งเต้านมนั้น หากสาวๆ ใส่ใจตรวจหาความผิดปกติของเต้านมกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ย่อมสามารถรับมือป้องกันและรักษาโรคได้อย่างทันการณ์แน่นอน โดยในวันนี้เราก็มีวิธีตรวจมะเร็งเต้านมมาฝากกัน มีรายละเอียดการตรวจอย่างไรบ้างนั้น สาวๆ รีบตามมาดูกันเลยค่ะ
ข้อควรรู้ก่อนตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจหาความผิดปกติของเต้านมมากที่สุดก็คือ ช่วง 7 วันหลังจากที่เริ่มมีประจำเดือนค่ะ สำหรับคนที่ประจำเดือนหมดแล้ว ควรตรวจวันเดียวกันทุกๆ เดือน วิธีการตรวจให้ใช้ปลายนิ้วมือทั้งสามนิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง กดด้วยแรงเบาๆ เพียงเล็กน้อยแต่สม่ำเสมอกัน และช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การตรวจก็คือ
1.ตรวจหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้วขณะที่เนื้อตัวยังเปียกอยู่นั่งเอง โดยเริ่มจากให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้นใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างวางราบบนเต้านมค่ะแล้วคลำและเคลื่อนมือในลักษณะคลึงเบาๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ไล่มาจนถึงใต้รักแร้ จากนั้นจึงสลับมาตรวจกับเต้านมอีกข้างในวิธีเดียวกัน
2.ตรวจหน้ากระจก โดยยืนตรงมือแนบชิดลำตัวก่อน จากนั้นให้ยกแขนขึ้นไว้เหนือศีรษะ พร้อมกันนี้ก็ให้สังเกตลักษณะของเต้านมค่ะ โดยสังเกตทั้งสองข้างเลยว่าพบความผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น มีลักษณะก้อนเนื้อขึ้นหรือเต้านมทั้งสองข้างไม่ได้อยู่ในระดับที่สมดุลเท่าๆ กันเหมือนเดิม
3.ตรวจในท่านอนราบ ให้เริ่มจากนอนราบแล้วยกมือข้างหนึ่งมาหนุนไว้ใต้ศีรษะจากนั้นนำหมอนหรือผ้ามารองไว้ใต้ไหล่ที่จะตรวจ แล้วจึงใช้มืออีกข้างคลำและกดลงไปเบาๆ จนทั่วทุกส่วนของเต้านม ให้คุณค่อยๆ คลำจนทั่วทุกส่วนทั้งบริเวณโดยรอบหัวนม แล้วจึงวนให้เป็นรัศมีวงกลมที่ค่อยๆ ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดด้านนอกขอบเต้านมค่ะ
เสร็จแล้วให้บีบหัวนมดูพร้อมสังเกตว่ามีน้ำใสๆ เลือดหรือน้ำหนองออกมาหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดปกติดังกล่าวไหลออกมาจากหัวนมก็แสดงว่าเต้านมมีความผิดปกติจริง จากนั้นให้ตรวจกับเต้านมอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกันค่ะ
วิธีการตรวจดังกล่าวจะทำให้คุณพบความผิดปกติของเต้านมได้ ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อหรือมีน้ำเหลวใดๆ อย่างเลือด น้ำหนองไหลออกมา และควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเมื่อพบว่าเต้านมมีความผิดปกติเพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที