โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข

โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข

โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 


โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง และเป็นโรคที่มีผลเสียกระทบกับอวัยวะหลายๆ ส่วนของน้องหมาค่ะ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง และมีโอกาสทำให้น้องเค้าเสียชีวิตได้ค่ะ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราก็สามารถป้องกันการเกิดโรคของน้องหมาได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเราจะมาเริ่มทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่าค่ะ

ตัวเชื้อพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ Babesia, Ehrlichia และ Hepatozoon โดย Babesia จะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแดง ส่วน Ehrlichia และ Hepatozoon อาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาว


สาเหตุ

เกิดจากเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขค่ะ โดยเห็บสามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายน้องหมาได้ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกเกิดจากตัวเห็บเองแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายน้องเค้าเลย โดยขณะที่เห็บดูดกินเลือดสุนัข เชื้อ Babesia และ Ehrlichia ในน้ำลายของเห็บจะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดของสุนัข ซึ่งจะแตกต่างจาก Hepatozoon ที่จะติดต่อโดยสุนัขบังเอิญเลียกินเอาเห็บที่ติดเชื้อเข้าไป และใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในการกระจายตัวสู่อวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่เจ้าของจะทราบต่อเมื่อปรากฏอาการ

รูปแสดงภาพ เห็บ

 

 

จะเห็นได้ว่าเห็บจะเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น ดังนั้นถ้าเราสามารถตัดวงจรไม่ให้สุนัขโดนเห็บกัด หรือกินเอาเห็บเข้าไป โอกาสการเกิดโรคนี้ก็จะน้อยลงตามมาด้วย
"ทำไมราถึงต้องให้ความสำคัญกับโรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข"
เรามาดูอาการของโรคกันก็จะทราบถึงข้อกังวลนี้กันค่ะ


อาการ

เมื่อสุนัขได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว เชื้อโรคก็จะแอบแฝงอยู่ในเม็ดเลือด โดยในระยะแรกสุนัข อาจไม่แสดงอาการอะไร แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอลง หรือตัวหน้อหมาเกิดความเครียดมากๆ ขึ้น เชื้อโรคก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย จนทำให้เม็ดเลือดที่ติดเชื้อแตกออก หรือมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากปรกติซึ่งจะถูกม้ามทำลายทิ้ง เมื่อเม็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าที่ไขกระดูกจะสร้างทดแทนได้ทัน ก็จะเกิดปัญหา "โลหิตจาง" ตามมา

โดยจะพบว่าเหงือกของน้องหมาจะมีสีซีดขาว และอาการโลหิตจางเป็นนานวันเข้า ก็จะมีผลกระทบกับหัวใจ ไต ของน้องเค้า ซึ่งจะทำให้น้องเค้าเหนื่อยง่ายมากขึ้น หรืออาจจะทำให้หัวใจวายได้ตามมาค่ะ นอกจากนี้พยาธิในเม็ดเลือดยังทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบทำให้เกิดปัญหา "เลือดออกง่าย" ตามมา หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ที่จู่ ๆน้องหมา "เลือดกำเดา" ไหลเองโดยไม่ได้เกิดจากการกระทบกระแทกใช่ไหมคะ

หรืออยู่ๆ ผิวหนังของน้องหมาก็มี "จ้ำเลือด" ปรากฎขึ้นมาเหมือนรอยช้ำแดงทั้งที่ไม่ได้ถูกตี ถ่ายอุจจาระก็อาจจะมีเลือดปน ถ่ายปัสสาวะเป็นสีเข้มเหมือนสีโค้ก นอกจากนี้พยาธิในเม็ดเลือดยังสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดการทำลายของเม็ดเลือดแดง หรือเกล็ดเลือดของตนเองด้วย เรียกว่าเพิ่มความรุนแรงเข้าไปอีกสองเท่าค่ะ

 

 

อาการโดยรวมที่พบบ่อยจะมีดังนี้

1. ไข้สูง
2. ซึม อ่อนแรง ไม่กินอาหาร
3. เยื่อเมือกซีด บ่งบอกถึงโลหิตจาง ต้องตรวจเลือดยืนยัน
(ลองเปิดปากดูเหงือก หรือดูเยื่อบุนัยน์ตา ปกติจะเป็นสีชมพู ถ้าซีดจะชมพูอ่อนกว่าปกติ บางตัวก็ขาวไปเลย
4. Capillary refilling time > 2 seconds หรือที่หมอเรียกว่า CRT คือการวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดฝอย ใช้บอกว่ามีเลือดมาหมุนเวียนตามปลายอวัยวะมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะโลหิตจาง วิธีวัดคือใช้นิ้วมือหนึ่งนิ้วกดที่เหงือกสักครู่ ถอนนิ้วออก สีเหงือกจะคืนมาตรงรอยกดภายใน 1-2 วินาที ถ้านานกว่านั้นแสดงว่าผิดปกติ
5. บางตัวพบว่ามีจุดเลือดออกตามผิวหนัง โดยเฉพาะหน้าท้อง เมื่อตรวจเลือดพบว่าเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ
6. อาการอาการอื่นๆ ที่พบร่วมก็จะมีดังนี้ค่ะ ตับอักเสบ ม้ามโต ตับโต อาการที่พบได้แต่ไม่บ่อย ได้แก่ อาเจียน ถ่ายเหลว ตัวบวมน้ำร่วมกับอาการท้องมาน อาการทางประสาท เลือดออกในลูกตา เลือดออกในเยื่อตาขาว

 

วิธีการตรวจยืนยัน

1. เสมียร์เลือด วิธีนี้ความไวต่ำ แต่แม่นยำสูง บางครั้งหมาป่วยแต่ตรวจเสียร์เลือดไม่เจอ หรือบางครั้งพบพยาธิเม็ดเลือดแต่ไม่ป่วยก็มี
2. Testkit หมอจะเจาะเลือดแล้วตรวจว่าเคยติดพยาธิเม็ดลือดหรือไม่ หรือยังติดอยู่ วิธีนี้ความไวและความแม่นยำสูง
3. PCR เจาะเลือดไปตรวจ วิธีนี้ความไวและแม่นยำสูงมาก แต่ไม่นิยมเนื่องจากแพงกว่าสองวิธีข้างต้นมากๆ

การรักษาและการป้องกัน

วิธีการรักษาส่วนใหญ่คือ การให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและการรักษาตามอาการ โดยจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อประเมินค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ และต้องติดตามผลต่ออีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของ โดยการป้องกันการติดเห็บ ปัจจุบันมีหลายวิธีและหลายผลิตภัณฑ์มาให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น ตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยและลักษณะการเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจเลือดน้องหมาอย่างน้อยปีละครั้งด้วยค่ะ

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook