เสียงร้องไห้ของลูก การสื่อสารสำคัญ บ่งบอกอาการใดบ้าง? คุณแม่ต้องรู้!
เชื่อไหมคะว่าการร้องไห้ของลูก คือ การสื่อสารที่คุณแม่ต้องใส่ใจ เพราะทารกน้อยไม่สามารถพูดได้ ดังนั้น การร้องไห้จึงเป็นวิธีที่เขาใช้สื่อสารกับคุณแม่ได้ว่าเขากำลังหิว ปวดท้อง เบื่อ เจ็บหรือไม่สบายตัว รวมถึงการปรับตัวทั้งวันจากที่เคยนอนสบายๆ ในท้องแม่ก็ต้องเข้าสู่การปรับตัวไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมหลังคลอดซึ่งเป็นที่ที่เขายังไม่คุ้ยเคย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือนอาการของลูกก็จะดีขึ้น
ลักษณะการร้องที่แตกต่างกัน แบ่งออกได้ 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นเด็กที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ร้อง หลังจากกินนมเสร็จมักนอนหลับยาว 4 ชั่วโมง หิวก็จะตื่นและร้องแค่แอ๊ะๆ เบาๆ จากนั้นกินนมเสร็จแล้วก็นอนต่อ
กลุ่มที่ 2 เป็นเด็กที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ร้อง ทั้งอุ้ม พาเดิน กล่อมอย่างไรหรือแม้แต่ให้นมก็ตาม
กลุ่มที่ 3 ร้องไห้ตามปกติ กล่าวคือ เด็กจะเริ่มร้องเมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ร้องมากที่สุดช่วงประมาณเดือนครึ่ง และเมื่อเริ่มเข้าที่เข้าทาง อีกทั้งจะเริ่มร้องน้อยลงเมื่ออายุลูกเข้าเดือนที่ 3-4
ลักษณะเสียงร้องไห้บอกอาการใดได้บ้าง?
หิว ลักษณะเสียงร้องของลูกจะต่ำและสั้น ทั้งยังขึ้น-ลงเป็นจังหวะ โดยเสียงของลูกนั้นคล้ายจะบอกคุณแม่ว่า “ต้องการดื่มนม ให้นมหนูเถอะ” พร้อมกันนี้ การแสดงออกว่าหิวอาจจะมาพร้อมการดูดนิ้วหรือทำเสียงจ๊วบจ๊าบร่วมด้วย
เจ็บ หากลูกน้อยรู้สึกเจ็บ เขาจะร้องไห้โดยทันทีเลยทีเดียว ลักษณะเสียงร้องจะแหลม สูง และดัง หรืออาจร้องนานแล้วจึงหยุดเพื่อพักหายใจประมาณ 2-3 วินาที จากนั้นจึงตะเบ็งเสียงร้องแหลมๆ สูงอีก อย่างเช่น ช่วงเวลาที่โดนฉีดยา
เบื่อ เมื่อลูกน้อยรู้สึกเบื่อเขาจะร้องโดยเริ่มจากมีเสียงอ้อแอ้ก่อนเพื่อพยายามหาคนคุยด้วย หากไม่มีใครมาคุยหรือเล่นกับเขา ก็จะมีอาการหงุดหงิดจากนั้นก็ระเบิดเสียงร้องสลับกับการร้องโดยที่เสียงจะมีลักษณะคล้ายเสียงบ่น จากนั้นเมื่อมีคนอุ้มก็จะหยุดร้อง
เหนื่อยหรือรู้สึกไม่สบายตัว เขาจะส่งเรียงร้องครางแบบขึ้นจมูก จากนั้นเสียงจะเริ่มค่อยๆ ดังขึ้น โดยเฉพาะตอนที่รู้สึกเฉอะแฉะและเปียกชื้น
เจ็บป่วย ลักษณะเสียงร้องของลูกจะเบาๆ เหมือนกับไม่มีแรง โดยเสียงร้องจะต่ำกว่าการร้องเพราะเจ็บ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ไม่กิน มีไข้ ซึมๆ ท้องเดินและยังเป็นเสียงที่นำมาซึ่งความผิดปกติ หากลูกร้องลักษณะนี้ คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว
โดยปกติแล้ว เมื่อลูกร้องไห้ การให้สัมผัสที่อ่อนโยนและอบอุ่นแก่ลูก โดยการอุ้มเขาไว้แนบอกนั้นย่อมทำให้อารมณ์ของลูกรู้สึกมั่นคง ผ่อนคลาย โดยเฉพาะทารกน้อยในช่วงเดือนแรก ซึ่งข้อมูลนี้มีความสอดคล้องกับการศึกษาในปัจจุบันที่พบว่า หากอุ้มทารกอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน ทารกจะร้องไห้น้อยลง
สำหรับกรณีการร้อง 3 เดือนหรือที่เรียกว่า "โคลิก" นั้น ตามตำราได้บอกไว้ว่า การร้องไห้อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ และร้องไห้ 3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย การอุ้มลูกน้อยแนบอกก็จะช่วยสยบเสียงร้องของลูกได้ แต่หากคุณพบว่าลูกไม่หยุดร้องก็อาจจะต้องหาคนช่วยอุ้ม หรือใช้วิธีเปลี่ยนบรรยากาศก็อาจช่วยได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก : istock