โอที ทำร้ายสุขภาพหัวใจ

โอที ทำร้ายสุขภาพหัวใจ

โอที ทำร้ายสุขภาพหัวใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครทำงานเกิน 9 ชั่วโมงต่อวันบ้าง ยกมือขึ้น!!!
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยกมือ โปรดฟังทางนี้ให้ดีๆ...

 


มีคำเตือนมาจากทีมนักวิจัยในประเทศอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ว่า คนที่ทำงานเป็นระยะเวลาติดกันยาวนานตั้งแต่ 10 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปที่ทำงานตามปกติ 8 ชั่วโมงหรือไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน ผลการวิจัยนี้เพิ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางวารสารวิชาการโรคหัวใจของยุโรป (European Heart Journal) กว่าจะได้ผลการศึกษานี้มาทีมผู้วิจัยได้ติดตามผลในข้าราชการในสหราชอาณาจักรจำนวนกว่า 6,000 คน ตั้งแต่ปี 1991  ถึง 2004 คิดเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 11 ปีต่อคน นับว่าเป็นการศึกษาที่นานพอสมควร โดยทีมนักวิจัยต้องการทราบว่ามีคนจำนวนมากเท่าไหร่ที่ทำงานจริงเกินวันละ 7 ชั่วโมง ตามเวลาการทำงานมาตรฐาน 8 ชั่วโมงพัก 1 ชั่วโมง และยังต้องการทราบด้วยว่าการทำงานในชั่วโมงที่มากขึ้นต่อวัน ส่งผลต่อสุขภาพของคนทำงานอย่างไรบ้าง?

หลังเสร็จสิ้นการวิจัย นักวิจัยพบว่าคนที่ทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไปมีความเสี่ยงในการมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจสูงกว่าปกติถึง 60% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงาน 7 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนคนที่ทำงานเกินวันละ 7 ชั่วโมงต่อวันแต่ยังอยู่ในช่วง 8 ถึง9 ชั่วโมงนั้นไม่พบว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น

อย่างมีนัยสำคัญ โดยตลอดระยะเวลาติดตามผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 396 คนเสียชีวิตจากโรคหัวใจ หรือมีอาการโรคหัวใจกำเริบแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต หรือมีปัญหาเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพื่อให้ทราบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเรื่องการทำงานในชั่วโมงที่ยาวนานขึ้นต่อวันกับปัญหาสุขภาพหัวใจ ทีมนักวิจัยได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เป็นต้นว่า การสูบบุหรี่ ระดับไขมันในเลือดสูง และอื่นๆ อีก 21 รายการ ซึ่งหลังจากตัดปัจจัยเหล่านี้ออกไปหมดแล้ว ยังพบว่าจำนวนชั่วโมงในการทำงานต่อวันที่เพิ่มขึ้นก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจในคนทำงานอยู่ดี

ดร.มาเรียนนา เวอร์ทาเนน นักระบาดวิทยา ประจำที่สถาบันอาชีวอนามัยฟินแลนด์ ในเมืองเฮลซิงกิ และมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นคนเขียนรายงานการวิจัยนี้กล่าวว่า คนที่ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานเกินชั่วโมงการทำงานปกติมัก เป็นกลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพที่เรียกกันว่า บุคลิกภาพกลุ่มเอ อันได้แก่ มีความทะเยอทะยานสูง ชอบการแข่งขัน และมีความเครียดเยอะ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มในการมีปัญหาเรื่องโรค
ซึมเศร้า วิตกกังวล และมักจะนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

"ความเป็นไปได้อีกอย่างก็คือ การรับความเครียดเป็นประจำทำให้มีผลเสียต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้ ยังต้องมีการวิจัยกันในรายละเอียดเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนอีกที" ดร.เวอร์ทาเนน อธิบาย

ณ ตอนนี้สิ่งที่ควรคำนึงไว้คือการทำงานเกินเวลามีผลเสียต่อสุขภาพจริงๆ และคนทั่วไปควรใส่ใจเรื่องจำนวนชั่วโมงในการทำงานของตัวเองให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่คนอังกฤษนั้นมีแนวโน้มในการทำงานล่วงเวลามากกว่าคนชาติอื่นใดในสหภาพยุโรป ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีข้อมูลจากการสำรวจโดยองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เมื่อปี 2004 ว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการทำงานล่วงเวลาเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการทำงานล่วงเวลาสูงในอันดับต้นๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ กรีก เม็กซิโก ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

แม้ว่าจะไม่มีรายชื่อประเทศไทย แต่ในภาวะเศรษฐกิจอย่างปัจจุบันนี้ก็นับเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนทำงาน ที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือการทำงานล่วงเวลา ดังนั้น อีกทางหนึ่งซึ่งอาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงได้คือการฝึกทักษะในการควบคุมและจัดการกับความเครียด ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดความโกรธ ภาวะซึมเศร้า และภาวะเครียดเท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่องของการลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook