ความอ้วนในสัตว์เลี้ยงแสนรัก

ความอ้วนในสัตว์เลี้ยงแสนรัก

ความอ้วนในสัตว์เลี้ยงแสนรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้เรามานั่งพูดคุยกับ ผศ.สพ.ญ.ดร.อุตรา จามีกร จากคลินิกโภชนบำบัด โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเรื่องราวของความอ้วนในสัตว์เลี้ยง และการใช้โภชนบำบัดเข้าช่วยในการควบคุมน้ำหนักของน้องหมาน้องแมว

 

Q : สัญญาณที่บอกว่าสัตว์เลี้ยงอ้วน

A : "ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความอ้วนนั้นไม่ใช่เชื้อโรคเพราะฉะนั้นเราไม่เรียกว่าเป็นโรค ความอ้วนในสัตว์จะไม่เหมือนกับคน คือ ในคนเราจะมีโรคอ้วน เช่น ไม่ทานอาหารก็อ้วน ทานอะไรนิดเดียวก็อ้วน แต่ของสัตว์เกิดจากเจ้าของตามใจ สุนัขได้กินอย่างอิสระ ขอคนนั้นทีขอคนนี้ที ทำให้เกิดสภาวะอ้วน"

"โดยทั่วไปแล้ว เราจะมีมาตรฐานน้ำหนักตัวของสุนัขแต่ละพันธุ์ คุณหมอจำเป็นต้องทราบว่า สุนัขแต่ละสายพันธุ์นั้นมีน้ำหนักตัวโตเต็มที่ประมาณเท่าไหร่ เช่น ชิวาว่าจะมีน้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่แล้วประมาณ 2 กิโลกรัม ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ก็อาจจะมีน้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่มากถึง 30 กิโลกรัม

จากนั้นก็จะมีวิธีคำนวณ กล่าวคือ เมื่อไหร่ที่สุนัขมีน้ำหนักตัวมากกว่า 20 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัวมาตรฐานของพันธุ์นั้นๆ ก็จะจัดว่าสุนัขตัวนั้นอยู่ในสภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน"

 

Q : ความอ้วนก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

A : "โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะอ้วนจะมาพร้อมกับอายุของสัตว์เลี้ยงที่มากขึ้น ยิ่งถ้าไปทำหมัน น้ำหนักตัวก็จะขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะความขยันลดลง ชอบนอนมากขึ้นในขณะที่กินเท่าเดิม เช่นนี้เมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้นก็จะทำให้ข้อต่อกระดูก ข้อสะโพก ข้อขา ก็ต้องรับน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย จนนำไปสู่ปัญหาในการคลอดลูกสำหรับสุนัขเพศเมีย

เพศผู้อาจจะพบในเรื่องของปัญหาในการขับถ่าย อาจจะเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ต่อมไทรอยด์ ความอ้วนยังเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดความผิดปกติอีกหลายอย่างตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ"

 

Q : แล้วโภชนบำบัดช่วยสัตว์เลี้ยงได้อย่างไร

A : "โภชนบำบัดสำหรับสัตว์เลี้ยงนั้น บางคนก็มองว่าเป็นความผิดปกติ แต่บางคนก็ไม่ได้มองว่าเป็นความผิดปกติ เช่น ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน รวมไปถึงในสัตว์ป่วยเป็นโรคบางโรค เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง ซึ่งมีผลต่อสรีระร่างกายของสัตว์"

"เราอาจจะใช้โภชนบำบัดคือ การนำการจัดการ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารเข้ามาช่วยประกอบร่วมกันกับการรักษาโรค แต่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาหารในที่นี้ไม่ได้เป็นยา แต่จะเป็นการปรับแปลงเปลี่ยนเพิ่ม หรือลดอาหารบางชนิดจนสามารถช่วยให้สัตว์มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เจ็บป่วยทุกข์ทรมานน้อยลง หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"

Q : เช่นนี้จะอ้วนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเป็นสำคัญ?

A : "ใช่ เราจะคุยกับเจ้าของสัตว์ เพราะเราต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าของสัตว์เป็นหลัก การที่จะลดน้ำหนักของสัตว์เลี้ยง ความร่วมมือและความตั้งใจจริงจากเจ้าของสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ เจ้าของรับปากแล้ว เจ้าของทำได้ไหม

บางคนเลี้ยงแบบใกล้ชิด พอตักข้าวเข้าปาก น้องหมาก็มานั่งมอง กลัวว่าถ้าไม่ให้น้องหมาจะไม่รัก จะงอน จะน้อยใจก็เลยแอบให้ อันนี้คือปัญหาหลัก ตรงนี้ถ้าสุนัขไม่ได้มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นมาเกี่ยวข้อง

เจ้าของก็อาจจะไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราบอกว่า น้ำหนักตัวเกินนะ ต้องลดน้ำหนัก ไม่เช่นนั้นเขาจะมีปัญหาเรื่องข้อสะโพก อาจจะต้องมาผ่าตัด ตรงนี้ก็จะได้รับความร่วมมือมากขึ้น"

Q : แนวทางป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงอ้วน

A : "ถ้าเราป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มก็จะดีกว่าการปล่อยให้อ้วนแล้วถึงมาลดน้ำหนัก เจ้าของจึงต้องใส่ใจกับอาหารที่จะให้สัตว์เลี้ยงทาน เริ่มตั้งแต่เขายังเด็กเลย ทุกวันนี้อาหารสำเร็จรูปก็มีการออกแบบมาสำหรับสุนัขในแต่ละช่วงวัย หรือแต่ละสายพันธุ์

เจ้าของควรสังเกตจากฉลากว่า ถ้าสัตว์น้ำหนักตัวเท่านี้ต้องให้อาหารปริมาณเท่าไหร่ ตรงนี้จะเป็นค่าเฉลี่ย เป็นค่าโดยคร่าวๆ ถ้าทานแล้วเขาไม่อิ่ม หรือมีน้ำหนักตัวลดลงก็ต้องปรับเพิ่ม แต่ถ้าทานไปแล้วสัตว์มีความตุ้ยนุ้ยขึ้นมาอย่างรวดเร็วก็ต้องปรับลด เจ้าของก็ต้องสังเกตดูด้วย"

ผ่านไปแล้วกับเรื่องราวของ "ความอ้วน" ในสัตว์เลี้ยง สุดท้ายแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกันให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองอ้วน เช่นนี้ ถ้าจะแสดงความรักให้กับเขาด้วยการมอบอาหารและขนมให้กับน้องหมาน้องแมว ก็ควรให้ในปริมาณที่พอดี เลือกอาหารที่เหมาะกับช่วงอายุและสายพันธุ์ของเขา ความอ้วนก็จะไม่มาถามหาสัตว์เลี้ยงของคุณอย่างแน่นอน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook