เต้านมคัดในคุณแม่ลูกอ่อน รับมือยังไงดีนะ?
เชื่อว่าคุณแม่หลายคนอาจจะเคยประสบกับปัญหาเต้านมคัดกันมาบ้างแล้ว บางคนอาจถึงขั้นไม่สามารถให้นมแก่ลูกน้อยได้ ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเจ็บที่เต้านมเท่านั้น วันนี้เราได้นำวิธีดูแลเต้านมคัดมาฝากคุณแม่ลูกอ่อนกันค่ะ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของเต้านมที่คัดตึง เรามาติดตามพร้อมๆ กันเลยนะคะ
เต้านมคัด คืออะไร?
เต้านมคัดคือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ลูกอ่อนทุกคน เนื่องจากการให้นมแก่ลูกน้อยนั้นเป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนควรทำอยู่แล้ว และถือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการเต้านมคัดได้นั่นเอง ในส่วนของคุณแม่มือใหม่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างของการให้นมแก่ลูกน้อยได้ เช่น เต้านมอักเสบ หรือหัวนมแตก เป็นต้น ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเต้านมคัดอย่างเข้าใจ
อาการของเต้านมคัด
ในส่วนของอาการเต้านมคัดจะพบในช่วงระยะสัปดาห์แรกหลังจากคลอด เพราะหลังจากที่ลูกน้อยดูดกระตุ้นนั้น จะทำให้เกิดการสร้างน้ำนม ซึ่งปริมาณน้ำมันจะเกิดการคั่งค้างจนทำให้คุณแม่เกิดอาการคัด ตึง บวม แข็ง และปวดในบริเวณหน้าอก และนั่นก็เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของอาการเต้านมคัด สำหรับอาการเต้านมคัด คือสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้รุนแรงขึ้น เพราะอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดจนถึงขั้นไม่สบายได้ และนั่นอาจทำให้เกิดความเครียดตามมาได้
สาเหตุของอาการคัดตึงเต้านม
1.เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่จะมีการผลิตน้ำนมได้ในปริมาณมากเมื่อลูกดูดไม่หมด และนั่นก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำนมคั่งค้างจนทำให้เกิดอาการเต้านมคัดนั่นเอง
2.ทิ้งช่วงเวลาของการให้นมลูกนาน จนทำให้มีน้ำนมอยู่ในบริเวณเต้านมมากเกินไป ทำให้เกิดอาการบวม ตึง และคัด
3.ให้นมลูกน้อยในท่าที่ผิด ก็มีส่วนในการทำให้น้ำนมไหลออกมาได้ไม่เต็มที่ หรือบางครั้งก็ทำให้ไหลไม่ทัน และนั่นก็จะทำให้เกิดอาการเต้านมคัดนั่นเอง
4.สวมใส่ชุดชั้นที่คับแน่นจนเกินไป หรืออาจใส่ชุดชั้นในที่มีโครงเหล็ก โดยหนึ่งในสาเหตุของการทำให้เกิดอาการเต้านมคัดก็คือการเลือกใส่ชุดชั้นในที่คับหรือมีโครงเหล็กนั่นเอง เพราะชุดชั้นในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการกดทับท่อน้ำนม จนทำให้เกิดอาการเต้านมคัดตามมา
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการเต้านมคัด
1.ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ โดยใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที อาจใช้วิธีการแบ่งเวลาโดยให้ลูกน้อยดูดนมข้างละ 5 นาทีสลับกันไป หรือถ้าลูกน้อยยังไม่หิว แต่น้ำนมออกมาเต็มที่แล้ว ก็ควรปั๊มหรือบีบออกมาเก็บใส่ขวดเพื่อเป็นสต๊อกน้ำนมให้ลูกได้
2.เลือกใส่ชุดชั้นในที่มีความพอดีกับเต้านม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดอาการปวด และขอแนะนำให้คุณแม่ใส่ชุดชั้นในที่สามารถเปิดนมให้ลูกดูดได้สะดวกโดยที่ไม่ต้องถอดออกมา
3.หากมีอาการเจ็บเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง ก็ควรให้ลูกเริ่มดูดข้างที่หัวนมปกติไปก่อน แล้วจึงค่อยสลับข้าง
4.ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบในบริเวณเต้านมที่มีอาการคัด จะช่วยลดความเจ็บปวดได้
คุณแม่ที่กำลังมีอาการเต้านมคัด และไม่รู้ว่าจะต้องแก้ด้วยวิธีไหน ยังไงก็ลองนำวิธีที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ไปใช้กันดู รับรองว่าได้ผลอย่างแน่นอน