10 เรื่องต้องจัดการ เมื่อตกงาน
ต้องยอมรับว่า"ตัวเลขคนตกงาน"และกระแสเลย์ออฟมนุษย์เงินเดือน ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในเวลานี้ หากเป็น1ในความโชคร้าย มีอะไรบ้างที่ต้องการจัดการ ไม่เพียงตั้งรับพายุร้าย ด้วยความสงบ หากแต่คุณยังต้องเค้นสติให้กลับมาโดยไว ถ้าต้องกลายเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายที่"ตกงาน" อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เพราะหลังจากตกงาน ยังมีหลากเรื่องราวและหลายธุรกรรมการเงินให้คุณต้องลงมือจัดการ ฉะนั้น อย่ามัวนั่งจิตตก จมอยู่กับความเศร้า หรือฟูมฟายกับความโชคร้ายของตัวเอง ลองมาดูกันว่า 10 อย่างที่คุณต้องจัดการหลังจากตกงานมีอะไรบ้าง
1.จัดการเรื่องประกันสังคม
"เสกสรร โตวิวัฒน์" ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บลจ.บัวหลวง แนะว่าเมื่อว่างงาน 2 สิ่งที่คุณต้องดำเนินการเกี่ยวกับประกันสังคม คือ เรื่องเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน และ การเลือกว่า จะรักษาสิทธิความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไปหรือไม่
1) สำหรับลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ สำหรับผู้ถูกเลิกจ้าง จะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน สำหรับผู้ลาออกจากงาน ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี โดยผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน
2) ลูกจ้างที่ออกจากงาน จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไป อีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน โดยจะได้รับความคุ้มครองต่อ 4 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ตามเงื่อนไข ในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี และถ้าผู้ประกันตนประสงค์ที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ตามเงื่อนไข คือ เคยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และจะต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงานและจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตรและชราภาพ
"อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง" ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย แนะคนที่สะสมเงินเข้าประกันสังคม ต้องอย่าลืมว่าคุณมีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงาน
"แต่การเลิกจ้างนี้ ต้องไม่ได้เกิดจากทุจริตหรือก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง หลายคนดีใจมาก นึกว่า เงินเดือนแสน ได้ถึงเงินชดเชยเดือนละ 50,000 บาท ที่จริงแล้วไม่ใช่ ก็ต้องบอกว่า ในส่วนอัตราค่าจ้าง จะคิดอัตราสูงสุดลิมิตอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราที่ใช้คำนวณเงินที่คุณส่งเงิน
สมทบในแต่ละเดือน แนะว่าให้ไปทำการยื่นเรื่องขอเบิกเงินค่าชดเชยที่ประกันสังคม เพื่อใช้เป็นต้นทุนที่ใช้ในการหางาน เป็นหลักประกันว่าแต่ละเดือนมีเงินใช้จ่าย ถึงแม้จะไม่มากนักก็ตาม แต่ประโยชน์ที่ควรจะได้รับให้ถูกต้อง นั่นคือ จำนวนเงินค่าชดเชยที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน"
2. ตรวจสุขภาพการเงิน
เสกสรรบอกว่าเมื่อว่างงาน แน่นอนว่ารายรับของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่รายจ่ายส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเช็คข้อมูลทางการเงินของตนเองเป็นการด่วนว่า มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน ภาระผูกพันอะไรอยู่บ้าง ยังมีแหล่งรายได้ที่ยังเหลืออยู่บ้างไหม และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวอยู่เท่าไร
สำหรับสินทรัพย์และเงินลงทุน ควรจัดกลุ่มออกเป็นสิ่งที่มีสภาพคล่องและไม่มีสภาพคล่อง เพื่อประเมินถึงความสามารถในการแปรเปลี่ยนเป็นเงินสด ให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ โดยจะต้องอัพเดทมูลค่าของทรัพย์สินเงินลงทุนให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่ใช่ราคาต้นทุน
สำหรับค่าใช้จ่ายและการผ่อนชำระหนี้ต้อง ตรวจสอบว่าในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายบ้าง และค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถลดได้หากจำเป็น รวมถึงมูลค่าหนี้สินที่คงเหลืออยู่ว่ามีสถานะเท่าใด เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพการเงินของคุณที่เป็นปัจจุบัน
สอดรับกับอุมาพันธุ์ที่มองว่าเมื่อตกงานถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่จะต้องสำรวจตัวเองว่า สุขภาพการเงินของเราเป็นอย่างไรบ้าง เพราะว่า ว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดแบบนี้ จะได้เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมว่า เราสามารถรับมือวิกฤติได้แค่ไหน
การตรวจสุขภาพการเงิน คือ การดูว่า ณ จุดนี้ เรามีความมั่งคั่งเป็นอย่างไร เช็คว่า เราสะสมเงินทอง ของมีค่า มากน้อยแค่ไหน มีเงินสดอยู่เท่าไหร่ มีเงินลงทุนเท่าไหร่ ทรัพย์สินที่ดิน บ้าน รถ เครื่องประดับ หุ้น กองทุน เรามีอะไรบ้าง มูลค่าตลาดอยู่ที่เท่าไหร่ พอดูทรัพย์สินแล้ว ก็ต้องดูภาระว่า มีภาระหนี้สินอะไรบ้าง ตัวไหนเยอะสุดๆ ทรัพย์สินที่มีคุ้มภาระหนี้ที่มีอยู่หรือไม่ ซึ่งนั่นก็คือ ความมั่งคั่งของเรานั่นเอง
"การตรวจสุขภาพยังทำให้รู้ด้วยว่า เรามีสัดส่วนการออม การลงทุน และภาระตัวไหนเยอะสุด มากไป หรือน้อยไป เพราะในบางครั้ง อาจจะมั่งคั่งเยอะ แต่สภาพคล่องน้อย เช่น ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ก็มีปัญหาสุขภาพการเงินได้ เพราะช่วงชีวิตสะดุด ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ตลอด ก็อาจพบปัญหาขาดสภาพคล่องได้"
3.รื้อปรับขยับการใช้เงิน
เสกสรรให้ข้อคิดว่า เมื่อตรวจสอบสถานะการเงินเรียบร้อยแล้ว คุณคงพอทราบว่าตัวเองพอมีความมั่นคงทางการเงินเพียงใด รายได้ที่ยังเหลือกับทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและหนี้สินหรือ ไม่ หากมีไม่เพียงพอหรือสามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายได้ไม่นาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินอย่างเร่งด่วน จะปรับมากหรือน้อยก็ขึ้นกับระดับความจำเป็น สิ่งที่ต้องลดลงก่อนเป็นอันดับแรก
ได้แก่ รายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อสันทนาการ ท่องเที่ยว ชอปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า ต้องลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามสถานภาพปัจจุบัน
ต่อมาคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จ่ายให้น้อยลงสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น ลดการทานอาหารนอกบ้านหรือมีราคาแพงให้น้อยลง สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรลดหรือเลือกลดเป็นอันดับท้ายๆ คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สินที่ลดแล้วจะกระทบต่อเครดิตและความน่าเชื่อถือของตัว คุณ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ การค้างชำระหนี้บัตรเครดิตมากกว่าที่กำหนด เป็นต้น
สิ่งที่อุมาพันธุ์แนะนำเพิ่มเติมคือ คนตกงานควรจะใช้นโยบายรัดเข็มขัด ปรับการใช้เงิน สิ่งจำเป็นของคนตกงานคือควรจะจดบัญชีรับจ่าย จะได้รู้ว่า ค่าใช้จ่ายตัวไหนเป็นค่าใช้จ่ายหลัก หรืออาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
"ในช่วงนี้ไม่ต้องเดินทางไปไหนแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านพาหนะก็สามารถที่จะปรับลดลงได้ ค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกิน แทนที่จะกินข้าวนอกบ้านให้สิ้นเปลืองและเสียสุขภาพ ก็เป็นโอกาสที่จะแสดงฝีมือ ทำอาหารทานเอง ดีไม่ดี อาจพบพรสวรรค์ของตัวเอง สามารถนำมาเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในส่วนของสันทนาการ เสื้อ ผ้า หน้า ผม ก็ควรที่จะปรับลดลง พอห้างเซลล์ ก็ไม่ต้องรีบกระโจนใส่ เพราะถ้าเผลอรูดบัตรไป เดือนหน้าไม่มีเงินเดือนเข้ามาช่วยจ่ายแล้ว หลักๆ คือต้องระวังการใช้เงิน"
4.เคลียร์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เสกสรร อธิบายว่า เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสม (ที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน) เงินสมทบ (ที่นายจ้างจ่ายให้) ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ (สิ่งที่งอกเงยจากการลงทุน)
เงินที่เป็นสิทธิของคุณในฐานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแน่นอนคือ เงินสะสมและผลประโยชน์เงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ จะได้รับก็ต่อเมื่อคุณปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน เช่น มีอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อคุณออกจากงานจะมีทางเลือกคือ รับเงินก้อน โดยถือว่าเป็นการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่รับเงินก้อนนี้ โดยคงเงินไว้ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน เพื่อรอโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองใหม่ของบริษัทนายจ้างในอนาคต
ข้อพึงระวังคือ หากคุณลาออกจากกองทุนโดยที่ยังไม่เกษียณอายุ คุณอาจจะเสียผลประโยชน์จากเงินสมทบที่จะได้รับไม่เต็มจำนวน อีกทั้ง เงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบจะต้องถูกหักภาษี ตามเงื่อนไขเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย
เรื่องนี้ อุมาพันธุ์ บอกว่าคนที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสองทางเลือก ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ควรเลือกทางเลือกไหน ทางเลือกที่ 1 คงเงินไว้ในกองทุนต่อไป จนกว่าจะได้งานใหม่ ค่อยย้ายกองทุนไปที่กองทุนของที่ทำงานใหม่ หรือทางเลือกที่ 2 เอาเงินออกจากกองทุน เพื่อนำมาใช้จ่าย
ส่วนทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ดีกว่ากัน ก็ต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงินของคุณ และโอกาสที่คาดว่า จะหางานใหม่ได้เมื่อไหร่ เพราะถ้าเลือกทางเลือกที่ 1 ก็ต้องแจ้งกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า คุณมีความประสงค์จะคงเงินไว้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 650 บาท ต่อปี
ทางเลือกนี้ คุณจะได้ออมอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เอาเงินออกจากกองทุน เก็บก้อนนี้ไว้ใช้ในยามเกษียณ
ทางเลือกที่สอง เอาเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลย ซึ่งทางเลือกนี้ ต้องเสียภาษี โดยสามารถแยกยื่นได้ หลักคือ ดูที่อายุงานว่า ถ้าน้อยกว่า 5 ปี จะไม่ได้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเลย
แต่ถ้ามากกว่า 5 ปี รัฐให้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยหักลดหย่อนขั้นที่ 17,000 บาท คูณจำนวนปีตามอายุงาน หักขั้นที่ 2 หักลดหย่อนได้อีก 50% ของเงินก้อนหลังหักลดหย่อนขั้นที่ 1 เหลือเท่าไหร่ ก็ต้องนำเงินก้อนนี้ไปเสียภาษี
5.ถนอมเงินก้อนที่ได้มา
เสกสรร เตือนว่า ถ้าตกงาน เงินก้อนที่ได้มาอย่าเพิ่งรีบใช้ หรือนำไปลดหนี้ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการเงินก้อนนี้ ก็คือ การเอาไปลดหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย
แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามปกติ เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด
โดยต้องคิดออกมาให้ได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพรวมค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และชำระบัตรเครดิตในแต่ละเดือนเป็นเท่าใด
จากนั้นก็ต้องกันเงินสำรองส่วนนี้ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกประมาณ 6-8 เท่า เพื่อเป็นหลักประกันว่า ยามว่างงานคุณจะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไปอีกอย่างน้อย 6-8 เดือน จนกว่าจะได้งานใหม่ และเมื่อกันเงินส่วนนี้แล้วยังมีเงินก้อนเหลือ จึงค่อยพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรดี
ส่วน อุมาพันธุ์ เสริมว่าบางคนทำงานมานาน ได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน เป็นเงินก้อน หรือมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากกองทุนประกันสังคม ก็ต้องบอกว่า อย่าเพิ่งผลีผลามนำเงินก้อนนั้นไปใช้จ่าย ควรเก็บเป็นเงินก้นถุงสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน
ปกติเงินเผื่อฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เผื่อในช่วงที่เราตกงาน และอยู่ในช่วงหางานใหม่ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องบอกว่า ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเผื่อไว้อย่างน้อย 6 เดือนถึงหนึ่งปี เลยทีเดียว
ดังนั้น เงินก้อนนี้ ควรกันเก็บไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอก่อนที่จะนำไป ใช้จ่าย โดยอาจจะเก็บในรูปของเงินฝากธนาคาร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น
6.มองหางานใหม่
เมื่อว่างงานคนส่วนมากจะเร่งหางานใหม่ให้ได้เร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่า แม้ได้งานใหม่กลับทำได้ไม่นานก็ลาออกอีก เพราะยังไม่ใช่งานที่ชอบ ไม่เหมาะสมกับตัว หรือทำไปก็ไม่มีความสุข เสกสรรบอกว่าในโลกแห่งความเป็นจริง น้อยคนนักที่จะได้ทำงานที่ตนเองชอบจริงๆ การจะประเมินว่าคนคนหนึ่งจะทำงานที่หนึ่งได้นานแค่ไหน ขึ้นกับเหตุผลของความพอใจใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ เนื้อหางาน รายได้ และ ผู้ร่วมงาน
ความพอใจในเนื้อหางาน หมายถึง ความชื่นชอบภูมิใจในงานที่ทำตำแหน่งที่ได้รับ ชั่วโมงที่ต้องทำงาน และความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ รายได้ หมายถึง จำนวนเงินที่ได้รับ ความถี่หรือความสม่ำเสมอของรายได้ ผู้ร่วมงานหมายถึง เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง หรือบุคคลนอกบริษัทที่ต้องติดต่อประสานงานด้วย เป็นต้น หากใครมีความพึงพอใจหรือรับได้ต่อสิ่งเหล่านี้อย่างน้อย 2 ใน 3 อย่าง ก็จะสามารถทำงานนั้นได้อย่างยาวนาน
อุมาพันธุ์ ให้ข้อคิดว่า"ในวิกฤติย่อมมีโอกาส" อย่ามัวรอช้า ควรมองหางานใหม่ในทันทีไม่ต้องรีรอ ช่องทางการสมัครงานมีได้หลากหลายผ่านเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ หรือ ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทจัดหางาน
ยิ่งในช่วงนี้ มีการออกบูธของบริษัทจัดหางานตามศูนย์ประชุม หรือตามห้าง ก็ควรคอยดูจังหวะติดตาม ข้อมูลข่าวสาร การเปิดรับสมัคร เพราะคุณมีโอกาสได้เข้าเจอะเจอกับพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลโดยตรง หากมีข้อ สงสัยของลักษณะงานจะได้สอบถามให้เข้าใจ หลายที่มีการสอบข้อเขียนก่อนการสอบสัมภาษณ์ ช่วงที่ว่างนี้ เดินสายสอบข้อเขียน สอบภาษาให้เรียบร้อย ก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้ใบสมัครและประวัติของเราน่าสนใจ
7.ปัดฝุ่นเรซูเม
"เรซูเมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" นั่นเป็นสิ่งที่อุมาพันธุ์บอก
บางคนไม่ได้อัพเดทเลย ก็ควรนำมาเติม หรืออัพเดทว่า งานล่าสุดเราทำอะไร อยู่ในตำแหน่งไหน มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง ที่ผ่านมาวุฒิการศึกษาเปลี่ยนรึเปล่า ไปร่ำเรียนอะไรเพิ่มมา หรือผ่านคอร์สอบรมพิเศษ ที่ทำให้เรามีทักษะที่น่าสนใจ รูปถ่ายปัจจุบันก็สำคัญ รูปเก่า ทรงผมเก่า เชย ถ่ายมานานมากแล้ว ก็ได้เวลาไปปรับปรุงใหม่ ปรับลุคให้ดูทันสมัย ภูมิฐาน ถ่ายใหม่
ส่วนเสกสรรเห็นว่าเรซูเม เป็นเอกสารชิ้นแรกที่ทำให้ที่ทำงานใหม่จะรู้จักคุณ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ข้อมูลครบ และให้เขารู้จักคุณให้มากที่สุด โดยเฉพาะข้ อมูลเพื่อบอกว่าคุณมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัครมากเพียงใด เพื่อให้ได้รับการพิจารณา
นอกจากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานที่เป็นข้อเท็จจริงแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่รายละเอียดของประสบการณ์ ความสำเร็จของงานในอดีต โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานใหม่ที่สมัครเข้าทำงาน เพื่อให้เห็นถึงความพร้อม และความสามารถที่จะเข้าทำงานใหม่ได้ทันที
"ทุกวันนี้บริษัทต่างๆ ต้องการคนที่เข้าไปแล้วทำงานได้ทันที ใช้เวลาการเรียนรู้งานให้น้อยที่สุด และสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือ ประวัติการฝึกอบรม หลักสูตรพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพการทำงาน การเป็นผู้บริหาร การเจรจาต่อรอง การนำเสนอต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยแสดงถึงศักยภาพของคุณได้อีกทาง"
8.ใช้เวลานี้พัฒนาตัวเอง
ในช่วงเวลาที่ตกงาน เสกสรรมองว่าคือช่วงเวลาทองที่หาไม่ได้ หากคุณยังทำงานประจำอยู่ ในระหว่างหางานใหม่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ปล่อยเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็ควรมีการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ ฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานทุกอย่างไปแล้ว
นอกจากนั้น ก็เป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านวิชาชีพตามความจำเป็นในสายงานที่ทำอยู่ ตาม หรือสนใจเข้าไปทำ เช่น การเข้าอบรมเพื่อให้รู้ถึงกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน รวมถึงการอบรมหลักสูตรต่างๆ และเข้าสอบใบอนุญาตต่างๆ ที่คิดว่าจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต
อุมาพันธุ์ ก็เห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาว่างที่ไม่ควรปล่อยไปให้เปล่าประโยชน์ โอกาสในการหาความรู้เพิ่มเติม ที่มีอยู่ฟรี มีเต็มไปหมด เช่น การเข้าเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ การจัดเสวนา หรือเข้าอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของตลาดหลักทรัพย์ก็น่าสนใจ เติมทักษะใหม่ๆ ให้ตนเอง ทันสมัย หรือเข้าเรียนภาษาให้คล่องมากขึ้นทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาจีนก็ดี
ใครที่ทำงานอยู่ในแวดวงการเงิน ที่ต้องมีใบอนุญาตต่างๆ ช่วงนี้ ก็เป็นช่วงดีที่มีเวลาอ่านหนังสือ ไปสอบใบอนุญาตผู้ติดต่อผู้ลงทุน เพื่อขายกองทุนรวม ขายหุ้น ขายตราสารหนี้ หรือสอบใบอนุญาตประกันชีวิต เพื่อที่จะเป็นคุณสมบัติเสริมที่ดีในการสมัครงาน หรืออาจเป็นอาชีพใหม่ที่น่าสนใจแทนอาชีพเดิมได้
9.ผันตัวเป็นฟรีแลนซ์&จับงานพาร์ทไทม์
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนใฝ่ฝัน ก็คือ การอยากทำงานที่มีอิสระ เป็นเจ้านายตนเอง ไม่ต้องคอยเป็นลูกจ้างใคร แต่เสกสรรมองว่า ในความเป็นจริงมีมนุษย์เงินเดือนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ "กล้า" ลาออกจากงานประจำมาทำงานอิสระเหล่านี้ ด้วยเหตุผลหลักคือเรื่องความมั่นคงของรายได้ ที่มักไม่เท่ากับการเป็นพนักงานกินเงินเดือน
ดังนั้น ช่วงเวลาว่างงานนี้คือโอกาสอันดี สำหรับการทดลองทำในสิ่งที่ชื่นชอบ อยากทำและมีรายได้ให้ตนเอง โดยเริ่มจาก บงานพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์ที่ตนเองถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญ ก่อน ไม่แน่ว่าคุณอาจพบหนทางสว่างในอาชีพ และไม่ต้องกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนเลยก็เป็นได้
อุมาพันธุ์ บอกว่า สภาพเศรษฐกิจแบบนี้งาน full time อาจจะหายาก แต่ถ้าทำเป็นพาร์ทไทม์ หรือรับเป็นฟรีแลนซ์ ก็เป็นโอกาสที่น่าสน รับงานแล้วกลับมาทำที่บ้าน ก็ลดค่าใช้จ่ายลงได้ งานรับเป็นที่ปรึกษา หรือโครงการต่างๆ ก็เป็นโอกาสในการรับเงินก้อน นอกจากนี้ งานขายตรง ก็เป็นโอกาสที่ไม่เลว บางทีคุณอาจจะเจอพรสวรรค์ของตนเองก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า หรือการขายประกันชีวิต ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จในการขาย อาจกลายมาเป็นอาชีพประจำของคุณในที่สุด
10.ถือโอกาสชาร์จแบตให้ตัวเอง
เสกสรร อยากให้คิดว่าช่วงว่างงานนี้คือ ช่วงพักร้อนของชีวิต ที่ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมีคำสั่ง ไม่ต้องอดทนกับสิ่งที่คุณไม่อยากเจอ ปล่อยใจให้สบายๆ เลือกให้รางวัลชิ้นใหญ่กับชีวิตแบบเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการไปท่องเที่ยวในที่ที่อยากไปมานานแต่ไม่มีโอกาสได้ไป การใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างเต็มที่ เดินสายพบปะสังสรรค์ ญาติที่ห่างหาย เพื่อนฝูง หรือผู้ร่วมงานเก่าๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต รับฟังความคิดเห็นหรือข้อมูลจากคนอื่น ไม่แน่คุณอาจได้งานใหม่ที่รอคอยมานานจากคนรอบกายเหล่านี้ก็ได้ ใครจะรู้
หลายคนที่ไม่เคยได้หยุดพัก ทำงานหนักมาตลอด อุมาพันธุ์แนะให้ใช้ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะหยุดพักผ่อน ผ่อนคลายสมองตามแหล่งท่องเที่ยวที่สงบ
หรือโอกาสในการเดินสายทำบุญ ปฏิบัติธรรมก็ไม่เลว สุขกายและได้สุขใจขึ้นด้วย
"ใครที่เคยเอาแต่นั่งทำงาน จนพุงเป็นห่วงยางเต็มไปหมด ก็เป็นโอกาสดี ในการเข้าฟิตเนส ออกกำลังกาย หรือการไปวิ่งตามสวนลุม ก็ทำให้ได้โอกาส
สูดอากาศตอนเช้าที่สดใส ใช้ช่วงว่างมีเวลาจัดข้าวของให้เข้าที่ จัดระเบียบชีวิตของตนเอง ให้นาฬิกาในร่างกายเราได้หยุดพัก เติมเต็มพลังให้เต็มที่ เวลาไปสัมภาษณ์งานจะได้ไปพร้อมกับความสดใส และความพร้อมที่จะลุยกับงานใหม่ต่อไป"
เห็นมั้ยว่า คนตกงานยังมีอะไรให้จัดการอีกมากมายหลายสิ่ง หวังว่าข้อคิดของเสกสรรและข้อแนะนำของอุมาพันธุ์ จะทำให้คนตกงานและคนที่ส่อเค้าว่าอาจจะตกงาน พอจะมีเข็มทิศให้สำหรับชีวิตที่ตกงาน
ขอบคุณข้อมูลจาก : อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง