ทารกน้อยฝันเป็นหรือไม่?
คุณแม่หลายท่านคงสงสัยว่าเทวดาน้อยกำลังฝันอะไร เพราะเมื่อยามหลับแต่ละครั้งจะสังเกตุเห็นความเคลื่อนไหวไปมาใต้เปลือกตาของเด็ก มีอาการกระตุกหรือสะดุ้ง(ผวา) เป็นต้น
และทารกแรกเกิดฝันเป็นแล้วหรือยัง อะไรที่อยู่ภายใต้การนอนหลับของเจ้าตัวน้อย ว่าแล้วเรามาเฝ้าจับตาดู พร้อมกับหาคำตอบไปพร้อมกันกันเถอะนะคะ
ลักษณะของการนอนหลับ
การนอนหลับของเด็กจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
1.ช่วง Rem - ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความฝัน จะสังเกตเห็นลูกตาที่ถูกปิดอยู่เคลื่อนที่ กรอกไปมา และมีอาการสะดุ้ง ผวา ทำปากเหมือนจะดูดนม ขมวดคิ้ว ทำหน้าย่น หรือยิ้ม เป็นต้น โดยในเด็กเล็กๆ จะเข้าสู่ช่วง Rem ก่อนแล้วค่อยเป็นช่วงหลับลึกทีหลัง ซึ่งแตกต่างจากเด็กโตและผู้ใหญ่ที่นอนหลับแล้วเข้าสู่ช่วงหลับลึกก่อนแล้วค่อยเป็นช่วง Rem
2.ช่วงภาวะหลับลึก - เป็นช่วงที่เด็กหลับสนิท นิ่ง ไม่ไหวติงใดๆ หรือเคลื่อนไหวใดๆ กล้ามเนื้อทุกส่วนจะผ่อนคลาย สีหน้าแสดงออกถึงความสงบ เป็นต้น ช่วงหลับนี้ร่างกายของเด็กจะหลั่ง Growth Hormone ออกมาสู่ร่างกาย ทำให้เจริญเติบโตในทุกส่วนทั้งภายในภายนอก
การนอนหลับของเด็กแต่ละช่วงวัย
1.เด็กแรกเกิด – 1 เดือน
จะสังเกตว่าเด็กคลอดใหม่ๆ จะหลับเกือบตลอดเวลา และเข้าสู่ช่วง Rem อย่างรวดเร็ว แต่เราไม่รู้หรอกค่ะว่าเด็กกำลังฝันอะไร และรู้ไหมว่าเขาไม่ได้หลับสนิทเลยสักครั้ง เพราะมีการทำวิจัยวัดคลื่นสมองของทารกน้อยแล้วทำให้ทราบว่า คลื่นสมองเมื่อยามหลับและยามตื่นมีความใกล้เคียงกันอย่างมาก ดังนั้น สมองของทารกจึงตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งรอบตัวแม้กระทั่งยามหลับ คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองทั้งหลายจึงไม่จำเป็นต้องทำให้ห้องอยู่ในความเงียบ ควรแง้มประตู เปิดเพลงเบาๆ หรือพูดคุยกันให้เด็กได้ยินเสียง เพราะถ้าเป็นสิ่งที่เด็กคุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้องจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นมากยิ่งขึ้นด้วย
2. เด็กอายุ 2 – 5 เดือน
การหลับฝันของเด็กวัยนี้ไม่ทำให้เขาอยู่นิ่งได้เลย เพราะนักวิจัยได้สังเกตกิริยาอาการขณะหลับในเวลา 30 นาทีจะเห็นว่า การหลับกลางวันเด็กจะเคลื่อนไหว 10.5 นาที และหลับกลางคืนเคลื่อนไหว 24.4 นาที เลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นอาการสะดุ้ง ผวา กระตุก ดูดปาก ยิ้ม และคิ้วขมวด ในเด็กวัยนี้มากที่สุด ซึ่งไม่ต้องกังวลเพราะเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ และจะลดลงเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ
3. เด็กวัย 6 – 18 เดือน (ขวบครึ่ง)
ช่วงนี้เด็กเริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองฝันเป็นแล้ว เราไม่รู้หรอกค่ะว่าฝันอะไร เพราะแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ แต่มีการวัดคลื่นสมองของเด็กวัยนี้ขณะฝันมีความเหมือนกันกับคลื่นสมองของผู้ใหญ่อย่างแยกไม่ออกเลยทีเดียว
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ต้องกังวลนะคะว่าลูกเราจะฝันร้าย หรือฝันดี เพราะขณะหลับจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เหมือนกัน หากมีพัฒนาการโดยรวมเป็นไปตามวัย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วสำหรับเด็ก