ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Must Go
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : ทรงพล เจษฎาอภิบาล

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ
ตอน...บ้านของพ่อ ‘โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา'


 

จำได้ดีเสมอ เมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ในทุกๆ เช้าและเย็นจะต้องผ่านพระราชวังดุสิต ขณะนั่งรถสายเดิมผ่านสายตาก็ได้แต่เพียงมอง มองว่า มหาวิทยาลัยของเราอยู่ใกล้บ้านของพ่อแค่เอื้อม แต่ไม่อาจเข้าไปได้ และในใจก็คิดไปไกลว่า ในหลวงของเราคงทรงประทับอยู่ด้านใน อยู่ในนั้นจริงๆ สถานที่ที่เป็นมากกว่าบ้านของพระองค์ บ้านที่แท้จริงอาจจะเล็กพอให้อบอุ่น แต่อาณาบริเวณพระราชฐานชั้นนอกนั้นเป็น โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่รวมงานทางด้านเกษตรกรรมไว้แทบทุกแขนง และไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อประชาชนของพระองค์เอง

คราวนี้มีโอกาสอันดีที่สุดที่ได้เข้าไปเยือน โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ไปชมงานทุกส่วนของโครงการ และได้เดินผ่านสวนป่าด้านนอก สถานที่หลังสวนป่านั้นคือ เขตพระราชฐานชั้นใน ที่ฉันได้แต่ยืนมองและคิดเพียงว่า พระองค์อาจจะประทับอยู่ด้านใน (ซึ่งระหว่างที่ฉันเข้าไปในโครงการ ขณะนั้นในหลวงพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราช) แค่นี้รอยยิ้มน้อยๆ ก็ฉายออกมาบนหน้าอย่างเป็นสุข

โครงการฯ ของพ่อ

ฉันได้เข้ามาในโครงการฯ โดยมีวิทยากรแสนน่ารักอย่าง คุณสินีกานต์ เผื่อนพิภพ เป็นเจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์และเผย-แพร่ พาชมโครงการอย่างสนุกสนานเริ่มต้นกันที่ โรงเพาะเห็ด มีเห็ดหลินจือด้วย นอกจากนี้ยังได้เห็นผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลินจือนานาชนิด แล้วเดินต่อไปยัง โครงการระบบผลิตน้ำเย็น โดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ เครื่องปรับอากาศเย็นๆ จากห้องชมวีดีทัศน์ ก็มาจากพลังงานความร้อนจากแกลบเช่นกันทำเอาฉันอึ้ง มาได้ยังไง! แล้วยังมีน้ำใจเล็กๆ ของเจ้าหน้าที่ กับน้ำกระเจี๊ยบ 2แก้ว ก็เป็นผลผลิตในโครงการฯ ทำเอาชื่นใจ

 

ในระหว่างที่เรากำลังเดินต่อไปยังส่วนอื่นๆ เราก็เห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่นี่รณรงค์ให้ใช้จักรยานในการขับขี่ โดยคุณสินีกานต์บอกว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลภาวะรอบบริเวณโรงงาน และเป็นการออกกำลังกายที่ดี

 

จากนั้นก็ไปชม การหล่อเทียนหลวง การทำกระดาษสา การทำสบู่ใส โรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่นำกากน้ำตาลมาทำการหมักกับยีสต์ เพื่อให้ได้เอทธิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น เจลล้างมือ น้ำมันนวด เป็นต้น

 

เดินผ่านต้นไม้สีเขียวน้อยใหญ่ และผ่านบึงน้ำที่มี กังหันน้ำชัยพัฒนา กำลังเดินเครื่อง ผ่าน โครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ฉันกำลังสนใจพืชเล็กๆ ในขวดแก้วใสๆ อยู่ นักเรียนประถมกลุ่มหนึ่งก็เดินสวนเข้ามา ด้วยใบหน้าที่แสนตื่นเต้น ส่วนตรงข้ามที่ฉันยืนอยู่ คือ แปลงข้าวไร่ ต่อจากนั้นเราก็มุ่งตรงไปยัง โรงบดแกลบ สีเขียวเข้มขนาดใหญ่ ข้างๆ กันเป็น โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา และ ฉางไม้เก็บข้าวเปลือกแบบสหกรณ์ ที่เกษตรกรนิยมใช้อยู่ในชนบทโรงสีข้าวจะรับซื้อข้าวเปลือกจาก ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด มาเก็บไว้ที่ยุ้งฉาง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางที่ชอบกดราคาข้าวเปลือกให้ปวดใจ

เดินต่ออีกนิด แดดร่มลมตกกำลังดีถึง โรงนมเม็ดสวนดุสิต ยืนมองผ่านกระจก เจ้าหน้าที่กำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น โดยด้านหน้าโรงนมเม็ดมีนมอัดเม็ดใส่กล่องพลาสติกใบใหญ่ไว้ให้ชิม ส่วนข้างๆ กัน ก็คือ โรงนมผงสวนดุสิต โรงเนยแข็ง ศูนย์รวมนม ถังพักนมดิบ และ โรงนมยูเอชที ที่ผลิตส่งให้กับทางโรงเรียนรัฐบาลของกรุงเทพฯ ในโครงการนมฟรีนั่นเอง

เดินต่อไป ผ่าน บ้านตัวอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่าน นาข้าวทดลอง ซึ่งคุณสินีกานต์บอกว่า นาส่วนนี้จะเป็นนาที่ไว้ปลูกข้าวในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของทุกปี ผ่าน บ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล และมุ่งตรงเข้าไป โรงโคนมสวนจิตรลดา ที่นี่มีโคนมกว่า 20 ตัว ผลิตนมกันทุกวัน และช่วงเวลาประมาณบ่ายสาม แม่วัวก็จะเข้าแถว เพื่อรอให้รีดนม ด้านหลังก็จะมีลูกวัวตัวเล็กรอโตเป็นแม่โคต่อไป น้ำนมดิบจากส่วนนี้จะเอาไปรวมกับน้ำนมที่รับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในกลุ่มสหกรณ์ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่น นมอัดเม็ดสวนดุสิต นมสดยูเอชที นมผง เนยแข็ง โยเกิร์ต เป็นต้น


เราเดินผ่านต้นกล้วยที่ออกหัวปลีดอกใหญ่มาก โน้มลงมาจนกลัวว่าต้นจะหัก ด้านหลังต้นกล้วยก็เป็น แปลงนาหญ้า เขียวชอุ่ม ซึ่งคุณสินีกานต์บอกว่า ที่งามได้ขนาดนี้ก็เพราะว่าน้ำที่ไหลเข้ามามีส่วนผสมของมูลวัว ทำให้พืชโดยรอบโตเร็ว แล้วก็ชี้ให้เราดูว่า กากธรรมชาติที่เหลือทั้งหมดของกระบวนการผลิตจะถูกนำมาเป็นปุ๋ย ณ โรงปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการฯ ต่อไปนั่นเอง

เดินจนเกือบทั่วโครงการฯ เรามานั่งพักก่อนกลับที่ ร้านจัดจำหน่าย แวะซื้อผลิตภัณฑ์ในโครงการฯ ฝากคนที่บ้านอย่างเพลิดเพลิน ระหว่างนั้น ฉันถามคุณสินีกานต์ว่าทำงานที่นี่มานานแค่ไหนแล้ว เธอตอบว่า "10 ปีแล้ว อยู่กันนานอยู่แล้วสบายใจ อีกอย่างการทำงานอยู่ที่นี่ทำให้รู้ว่า... พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนแค่ไหน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ที่อยากให้เกษตรกรมีรายได้ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และรู้จักคำว่า ‘พอเพียง' อย่างแท้จริง"

ผู้คนมากหน้าหลายตาทำงานกันในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ไม่ว่าจะคนงานธรรมดา เจ้าหน้าที่ต่างๆ หรือผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ฉันเชื่อเหลือเกินว่า พวกเขาจะรู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท  การมาที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในคราวนี้ ใจของฉันพองโตเป็นสิบเท่า และเข้าใจว่า แม้จะเหนื่อย แต่เมื่อเราเป็นผู้ให้ มันอุ่นใจ และสุขใจเกินคำบรรยายจริงๆ


การเข้าศึกษาดูงาน "โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา" จะต้องติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าก่อน 3 เดือน เพื่อนัดวันเข้าชม จากนั้นก็ต้องทำหนังสือขออนุญาตมาที่ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อมีหนังสือตอบกลับ ติดต่อได้ที่ งานนำชม โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โทร.0 2282 8200 พระราชวังดุสิต แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10303

 


ขอขอบคุณ
คุณสินีกานต์ เผื่อนพิภพ งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
www.kanchanpisek.or.th/kp1

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook