เดือดร้อนเรื่องเงินทำยังไงกันดี?
Money Money
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : วาลุกา เอมเอก
WORRY
ABOUT IT!
จ๊ะเอ๋! กระเป๋าตังค์น้อยๆ ของฉันอยู่ไหน ทำไมมันลีบแบนเหมือนเส้นผมของฉันอย่างนี้ล่ะ แบงค์สีแดง แบงค์สีเขียว แบงค์สีม่วงหายไปไหนหมด งานเข้าแล้วทีนี้ ทำยังไงดีล่ะ เงินสดหมดกระเป๋าตังค์ ช็อตกะทันหัน อีกตั้งหลายวันกว่าจะสิ้นเดือน คิด คิด คิด คิดไม่ออก อย่างนี้ต้องขอคำแนะนำจากคนอื่นซะแล้ว เดือดร้อนเรื่องเงินทำยังไงกัน?
เป็นเรื่องปกติที่ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นเลยจริงๆ นะคะ แต่จากการสอบถามพนักงานเงินเดือนทั้งหลายแล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปวิธีแก้ไขเรื่องเงินช็อตมาฝากกันค่ะ แบ่งเป็น 5 อันดับแล้วกันนะคะ
อันดับ 1 ยืมเพื่อนๆ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติๆ คนข้างๆ ฯลฯ
ขอปรบมือให้กับวิธีที่นิยมที่สุด หากคุณเดือนร้อนเรื่องเงิน เชื่อเลยว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยยืมเงินเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง แฟน หรือกระทั่งเจ้านายแสนดี จะยืมมากยืมน้อย หากกระเป๋าแบนจริงๆ ก็ต้องแบมือทั้ง 2 ข้าง ขอกันตรงๆ เลยทีเดียว ซึ่งบุคคลเหล่านี้ เชื่อว่าเต็มใจให้คุณยืม หากคุณเป็นลูกหนี้ชั้นดี การันตีโดยคนที่ถูกยืมมาก่อนแล้วล่ะก็... ง่ายมาก และที่สำคัญ ยืมแล้วก็ต้องรีบคืน ยิ่งคืนเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ภาษีดีกว่าคืนช้า เพราะคราวหน้าคราวหลังอาจจะอดได้
อันดับ 2 บัตรเครดิตช่วยคุณได้
อันที่จริงแล้ว พนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ มีจำนวนมากกว่าครึ่งที่มีบัตรเครดิตอยู่ในกระเป๋าแทนเงินสด เพราะมันสามารถใช้จ่ายได้สะดวก ไม่ต้องใช้เงินสดของตัวเอง (เงินสดตรงนี้ เผื่อค่าเดินทาง ค่าอาหารสำหรับระหว่างการทำงาน) เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาเดือนร้อนเรื่องเงินก็หยิบบัตรนี้ขึ้นมาจ่ายไปก่อนเท่านั้นเอง ซึ่งมันคือการสร้างวินัยในการใช้จ่ายของคุณไปในตัว โดยคุณอาจจะคิดว่า คุณสามารถเก็บเงินสดได้ แต่จริงๆ แล้ว คุณได้ใช้เงิน (อนาคต) ไปหมดแล้วนั่นเอง แต่ถือว่ามาเป็นอันดับ 2 เพราะมันช่วยจ่ายได้จริงๆ
อันดับ 3 บัตรกดเงินสด เอาแบงค์สีๆ ออกมาจ่ายก่อนได้เลย
ตามมาติดๆ สำหรับบัตรกดเงินสด หากเงินในกระเป๋าหมดแล้ว ก็แค่เดินไปกดเงินสดในบัตรออกมาใช้เท่านั้น ตามวงเงินที่คุณได้รับ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือนไม่น้อยเลย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เงินสด (เงินเดือน) หมด คุณก็สามารถยืมเงินจากบัตรนี้ได้ แทนที่จะไปขอยืมกับคนอื่นๆ ซึ่งมันต่างกันแค่เรื่องของการจ่ายดอกเบี้ยที่ต้องมีเพิ่ม เพราะยืมคนที่บ้านไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่ยืมบัตรกดเงินสดต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแน่นอน แต่มันก็ดีตรงที่ว่า ทำให้เราต้องบังคับตัวเองว่าอย่ายืม ใช้ให้พอ อย่าใช้เยอะนั่นเอง
อันดับ 4 ทุบกระปุก แกะเอาเงินสดสำรองมาใช้
หลายๆ คนคงมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินอยู่อีกบัญชีที่แยกเอาไว้อยู่แล้ว อาจจะมาในรูปแบบของการฝากประจำ เก็บเป็นเงินสดสำรองจ่าย หรือการซื้อทองคำเก็บ เราก็นับรวมว่ามันเป็นเงินฉุกเฉิน ซึ่งหากไม่พอจ่ายจริงๆ เงินส่วนนี้ก็จะถูกดึงออกมาใช้จ่ายแทนไปก่อน เดือนถัดไปก็ค่อยนำมาทบคืน
อันดับ 5 หาเงินเพิ่มในช่องทางอื่นๆ
วิธีง่ายๆ หากตังค์หมด ก็คือการหาเพิ่ม ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการหาเพิ่มที่ต่างกัน หากต้องการเร็วหน่อยก็แค่เปิดตู้เสื้อผ้า รื้อค้นเสื้อผ้าสภาพดีไม่ค่อยได้ใส่ ขนไปขายตามตลาดนัดเปิดท้าย เช่น ตลาดปัฐวิกรณ์ หรือไปซื้อเครื่องประดับผู้หญิงราคาเบาๆ จากสำเพ็งมาขาย แม้กระทั่งการขายของออนไลน์ก็ทำได้ไม่ยากและได้เงินเร็ว ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องลงทุนมาก (เพราะแทบไม่มีให้ลงทุนอยู่แล้ว) ก็ได้เงินมาหมุนในเดือนนั้น แต่ระหว่างรอเงิน อาจจะต้องทนอาการแห้งไปก่อน แต่วิธีนี้อาจจะต่อยอดกลายเป็นธุรกิจที่สองในอนาคตได้
ทางที่ดีก็คือ ควบคุมรายจ่ายให้ดีๆ อย่าใช้เกินงบประมาณที่ตัวเองตั้งไว้ในแต่ละเดือน ต้องรู้จักการควบคุมรายจ่าย ท่องไว้ว่า สิ้นเปลือง สิ้นเปลือง ให้ซื้อเฉพาะของจำเป็นเท่านั้น หากจะเลือกซื้อของใหญ่เข้าบ้าน ก็เลือกวิธีการกู้เงินหรือเลือกทำบัตรผ่อนสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคามากกว่า 3 แสนบาทขึ้นไป ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้คุณสามารถวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนได้อย่างรัดกุมขึ้น และไม่ต้องมากังวลว่าเดือนนี้กระเป๋าจะแบนก่อนสิ้นเดือน เพราะใกล้สิ้นเดือน ก็เหมือนจะสิ้นใจกันไปอย่างนั้น