5 วิธี ชวนพี่-น้องปรองดองกัน

5 วิธี ชวนพี่-น้องปรองดองกัน

5 วิธี ชวนพี่-น้องปรองดองกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พี่ ขัดใจ น้องแย่งของพี่ จนกลายเป็นเรื่องระหว่างพี่น้อง แม้เป็นเรื่องปกติที่พบเห็นและเกิดขึ้นได้ก็จริงค่ะ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าคุณสามารถรับมือกับความขัดแย้ง ทำให้ความรู้สึกและพฤติกรรมระหว่างพี่กับน้อง กลายเป็นเรื่องปรองดองต่อกันค่ะ


 

ที่มาของปัญหา

พัฒนาการด้านสังคมในช่วงนี้สำหรับเด็กเล็กวัยเรียนรู้ กำลังเป็นช่วงที่ลูกก่อเกิดความรู้สึกต่างๆ เกี่ยวกับตัวเอง เช่น ความเป็นตัวของตัวเอง การมองตัวเองเป็นใหญ่ และรวมถึงภาวะทางอารมณ์ ที่ยังระงับอารมณ์ตัวเองไม่ได้มาก จึงทำให้เกิดการเอาชนะ โต้เถียง หรือทะเลาะได้บ่อยๆ ในครอบครัวที่มีเด็กมากกว่าหนึ่งคน โดยเฉพาะถ้าคุณมีลูกน้อยช่วงวัยที่ไล่เลี่ยกัน

ฉะนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและยอมรับ ก็คือธรรมชาติตามวัยดังกล่าว พร้อมกับให้ความช่วยเหลือและพยายามปรับความรู้สึก พฤติกรรม ด้วยการบอกกล่าวและสอนลูกค่ะ


แผนปรองดอง อย่างสร้างสรรค์

1. สอนลูกให้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือกันในครอบครัว เช่น คุณอาจให้พี่คนโตช่วยงานครัวทำอาหาร ส่วนน้องคนเล็กก็ช่วยงานคุณพ่อ คอยรดน้ำต้นไม้ หรือพี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ เช่น เมื่อเล่นด้วยกันเสร็จแล้วพี่อาจเป็นคนเก็บให้ พอครั้งต่อไป น้องก็เป็นคนเก็บ โดยมีคนในบ้านทำให้ลูกเห็นเป็นประจำสม่ำเสมอค่ะ

2. การแบ่งปัน เช่น แม่ให้หนู หนูให้แม่ หรือชวนลูกๆ เอาของไปฝากญาติ โดยมีของติดไม้ติดมือไปฝาก หรือชวนเพื่อนข้างบ้านมาเล่นด้วยกัน โดยให้ทุกคนนำของเล่นมาแบ่งกันเล่น

3. ต้องเสมอภาค เวลาซื้อของใช้หรือขนมควรซื้อให้มีลักษณะเหมือนกันลูกจะได้ไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง เช่น น้องได้มากกว่าหรือดีกว่าคนพี่

4. ควรชมและบอกถึงความภูมิใจในตัวลูก ที่ได้มีส่วนช่วยดูแลน้อง เล่นกับน้อง เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อพี่คนโต

5. ให้ลูกได้แก้ปัญหาความขัดแย้งกันเอง คุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปตัดสินทุกครั้ง ในช่วงที่ลูกมีปัญหาขัดแย้ง แต่คอยสังเกตว่า ลูกใช้วิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าเริ่มเปิดศึกเมื่อไรค่อยเข้าไปห้ามทัพ


เทคนิคตัดสินความขัดแย้ง

การจะตัดสินว่าใครถูกใครผิด ใครควรได้สิ่งนั้น เช่น การแย่งของเล่น ต้องอาศัยหลักที่ว่า ฟังความทั้งสองฝ่าย ไม่ตัดสินแบบรีบด่วนสรุป เห็นด้วยตาเราเพียงชั่วขณะ หรือฝ่ายไหนร้องไห้ อีกฝ่ายต้องผิด จะนับว่าเป็นการตัดสินที่ไม่ถูกต้อง เพราะมูลเหตุแห่งการทะเลาะกันอาจมีเรื่องราวมากกว่านั้น

ดังนั้นต้องฟังความทุกฝ่าย และให้พี่น้องช่วยกันสรุปหรือยอมรับกัน รู้จักขอโทษและคืนดีกัน ส่วนเรื่องการทำโทษ ก็ต้องทำโทษแบบสร้างสรรค์ จุดที่สำคัญคือ ลูกต้องรู้ว่าตนเองโดนทำโทษเพราะเหตุผลใด และเขาต้องรับผลนั้นทำไม

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook