หยั่งลึก... ถึงภายใน เปิดบ้าน แมน-ศุภกิจ
Lives
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร / เจ้าของ & ตกแต่ง : ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์
----------------------------------------------------------
More than the surface
หยั่งลึก... ถึงภายใน
มนต์เสน่ห์ของการอยู่อาศัย อาจไม่ใช่โครงสร้างภายนอกที่สวยหรู เหมือนดั่งหญิงสาวที่งดงามเพียงรูป เมื่อหยั่งลึกถึงภายในกลับไม่มีสิ่งใดน่าค้นหา บ้านก็เช่นกัน คุณค่าอาจไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงแค่โครงสร้างสะดุดตา เมื่อผสานความงามแต่งเติมภายใน บ้านธรรมดาที่ว่างเปล่าก็จะเปล่งประกายความโดดเด่นให้ชัดขึ้น
จากการผสานองค์ประกอบด้วยการตกแต่งให้ดำรงอยู่อย่างยาวนาน คุณแมน-ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์ กับบ้านที่เขาบรรจงค่อยๆ แต่งเติมทีละนิดร่วม 5 ปี การจัดวางด้วยสีสันที่หยอกล้อเฟอร์นิเจอร์ มองเพียงผิวเผิน อาจดูแตกต่างขัดใจ แต่เมื่อได้สัมผัสถึงคุณสมบัติการใช้งาน ทุกชิ้นล้วนแต่มีอรรถรส และสร้างความสมดุลให้กับผู้อยู่อาศัย
"ผมไม่ได้วางโครงสร้างใหม่ หรือแต่งเติมอะไรมาก ต่อเติมส่วนครัวอย่างเดียว แล้วเปลี่ยนกระจกนิดหน่อย เพื่อให้บ้านดูโปร่ง จากนั้นก็นำของที่ชอบมาตกแต่งเพิ่ม จะไม่เน้นบิวท์อิน กลัวว่าถ้าเราเบื่อเมื่อไหร่มันจะไม่สามารถย้ายของที่เราเบื่อแล้ว หรือชอบได้ของส่วนใหญ่เป็นของมือสอง เมื่อก่อนยังไม่มีแบบ Renovation ใหม่ จึงเป็นของมือสองจริงๆ เวลาไปร้านเฟอร์นิเจอร์เก่า บางอย่างจะมีแค่เพียงชิ้นเดียว ถ้าเราชอบจะรีบซื้อไว้ก่อนเลย กลัวมีคนเอาไป เอามา ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะวางไว้ตรงไหน อย่างผ้าม่านสีเหลืองลายเรโทรก็เป็นผ้าม่านเก่าจริงๆ"
ความกลมกลืนระหว่างสีสันและวัตถุตกแต่ง สามารถสร้างความพิเศษได้อย่างลงตัวและไม่เคอะเขิน รวมถึงการแก้ฮวงจุ้ยของคุณแมน ด้วยการนำภาพวาดรูปภูเขา ผลงานของคุณโอ่ง-กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ มาแก้ฮวงจุ้ย วางแขวนติดด้านหลังกำแพงเพื่อสร้างพลัง โดยใช้ความขลังจากเก้าอี้เก่าของคุณย่าวางประกบคู่กับโต๊ะเล็กสไตล์ไชนีส
"ชานระเบียงส่วนหลังบ้าน ผมตกแต่งกำแพงด้วยต้นตีนตุ๊กแก ตอนแรกจะให้อยู่ในพื้นที่จำกัดแค่แนวไม้ แต่พอดินดีก็ลามไปเรื่อยๆ จนถึงส่วนหน้าบ้าน ก็รู้สึกเย็นดีนะ เหมือนเราอยู่ในกำแพงต้นไม้ ผมเป็นคนปลูกอะไรก็ขึ้นง่าย อาจจะด้วยความที่เราเป็นคนมือเย็น เวลาใครมาก็จะบอกว่ามันเจ๋ง ก็ภูมิใจนะ เวลานั่งมองก็รู้สึกสบายตา"
ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและวัตถุ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการแปลความหมายของผู้อยู่อาศัยแต่ละคน เป็นสิ่งที่ต่างคนก็สามารถสัมผัสหรือรับรู้ด้วยสายตาตัวเอง โครงสร้างอาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่คนภายนอกได้สัมผัส หรือเพียงมองผ่านอย่างผิวเผิน แต่การสร้างสรรค์สิ่งที่อยู่ข้างในต่างหากคือสิ่งที่คนใกล้ชิดได้ใช้ และได้เข้ามาสัมผัสร่วมกัน
มุมโปรด
ห้องทานข้าว : สามารถมองชมวิวชานระเบียงด้านนอกได้
ยามท้อแท้
ห้องรับแขก : เก้าอี้นั่งสบาย ได้ปล่อยอารมณ์ไปกับการดูหนัง ฟังเพลง และอ่านหนังสือ
กิจกรรม
ใช้ชานระเบียงด้านนอก : เพื่อสังสรรค์กับเพื่อน
บ้านของฉัน
สถานที่ปลดปล่อยตัวเองให้ออกจากความวุ่นวาย และความเครียดที่สั่งสมมาตลอดทั้งวัน