วิธีแก้ปัญหาสมาธิสั้นในเด็ก
ปัจจุบันนี้ได้ยินพ่อแม่หลายคนบ่นกันอยู่บ่อยๆ ว่าลูกสมาธิสั้น แล้วมีพ่อแม่คนไหนเคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่าอาการสมาธิสั้นเป็นมันเป็นอย่างไร และมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาทำความรู้จักกันดีและหาวิธีแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้นกันดีกว่าค่ะ
เด็กสมาธิสั้นนั้นก็เหมือนกับเด็กปกติทั่วๆ ไปนี่แหละค่ะ ทำอะไรๆ ก็เหมือนเด็กปกติ แต่จะแตกต่างกันตรงพฤติกรรมที่เค้าจะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยจะอยู่นิ่งๆ สักเท่าไร จะดูลุกลี้ลุกลน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าเป็นไปตามชื่อเลยค่ะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ไม่ค่อยจะมีสมาธิเสียเลย ให้ทำอะไรนานๆ ก็ทำไม่ค่อยได้ แบบว่าทำๆ ไป แล้วก็รู้สึกเบื่อไม่อยากทำแล้ว อาการเด็กสมาธิสั้นจะเกิดในช่วงอายุประมาณ 3-7 ปี เพราะจะเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น และยิ่งเป็นเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นก็จะยิ่งทำให้เป็นเด็กที่อยู่ไม่นิ่งเลย จะแยกระหว่างเด็กสมาธิสั้นกับเด็กซนนั้นก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะคะ แต่ก็ใช่ว่าพฤติกรรมของเด็กทั้ง 2 ประเภทนี้จะเหมือนกันไปซะจนแยกไม่ออกก็ไม่ได้
เรามีข้อสังเกตอาหารเด็กสมาธิสั้นให้คุณแม่ได้คอยสังเกตกันค่ะ พวกเค้าจะมีอาการวอกแวก เหมือนมีอะไรกังวลใจอยู่ตลอดเวลา ลุกลี้ลุกลน เสียงดัง ทำอะไรค่อยๆ ไม่เป็น ยกตัวอย่างเช่นเวลาเล่นก็ชอบทำเสียงดังๆ เพราะอยู่เงียบๆ เล่นแบบเงียบๆ นานๆ ไม่ค่อยได้ นั่นเองค่ะ นอกจากนี้แล้วยังมีการเปลี่ยนใจเร็ว ตัดสินใจอะไรไม่แน่นอน อย่างที่บอกนั่นแหละค่ะว่าเล่นอะไรนานๆ ไม่ได้ จะเบื่อง่าย อย่างเช่น นั่งเล่นของเล่นอยู่ดีๆ แป๊บเดี่ยวก็ไม่อยากเล่นเสียอีกแล้ว ลูกมักจะร้องขอให้ทำในสิ่งที่ลูกต้องการให้คุณแม่ทำให้ก่อนเสมอๆ อดทนรออะไรไม่ได้นานนัก ถ้าจะให้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ มีหวัง เท่านี้ก็ไม่อยากจะคิดแล้วละค่ะ แต่จะทำอย่างไรดีละคะ กับลูกที่มีสมาธิสั้น เราขอแนะนำให้คุณเริ่มจาก ฝึกให้รอบ้าง ถ้าลูกต้องการอะไรก็ควรให้ลูกรู้จักการรอคอยบ้าง เพื่อทำให้เขารู้จักที่จะอดทนในการรอคอยอะไรนานๆ ได้บ้าง
การฝึกให้ลูกรู้จักรอต้องใช้เวลาพอสมควรค่ะ ค่อยๆฝึกไปทีละน้อย หากิจกรรมให้ลูกทำ แต่จะต้องเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่ต้องไม่เอื่อย หรือเชื่องช้านะคะ เพราะเดี๋ยวจะทำให้ลูกเบื่อเข้าไปอีก และจะต้องเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาในการทำนิดหนึ่งค่ะ เพื่อฝึกให้ลูกนั้นได้ปรับตัวที่จะทำอะไรนานๆ ได้บ้างค่ะ อย่างเช่น การต่อตัวต่อ การอ่านหนังสือนิทาน เป็นต้นค่ะ
ข้อมูลเหล่านี้คงจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รู้จัก คำว่า ‘เด็กสมาธิสั้น’ กันบ้างนะคะ และก็อย่าลืมสังเกตลูกคุณด้วยนะคะ เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปปฏิบัติกันค่ะ