ลูกเล่นคนเดียว ..ส่อแววผิดปกติหรือไม่
เมื่อลูกเริ่มเดิน วิ่ง และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีเพื่อนเล่นที่หลากหลาย ทั้งเพื่อนจากโรงเรียน เพื่อนข้างบ้าน และพี่น้องภายในครอบครัว
แต่ถ้าบางช่วงเวลาที่คุณแม่สังเกตเห็นลูกน้อยนั่งเล่นอยู่คนเดียวนานๆ หลายท่านอาจรู้สึกแปลกใจและเริ่มเป็นกังวลว่าเกิดความผิดปกติอะไรกับลูกน้อยหรือไม่ ลองมาสังเกตพฤติกรรมการเล่นของเจ้าตัวน้อยดูว่า เขากำลังมีความสุขสนุกเพลิดเพลิน หรือกำลังผิดปกติอย่างที่คุณแม่สงสัยหรือไม่
การเล่นของเด็กคือ อะไร?
เมื่อผู้ใหญ่จำเป็นต้องทำงาน เด็กก็จำเป็นต้องได้เล่น เพราะเป็นทั้งการทดลอง การเรียนรู้ การพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของร่างกาย การส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านสำหรับเด็ก เป็นต้น เมื่อเด็กคนหนึ่งเริ่มลงมือเล่น สมองจะเริ่มทำงานว่าจะเล่นอะไร เล่นที่ไหน และคิดวิเคราะห์จากการมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว เห็นอุปกรณ์รอบตัวว่าสามารถเล่นอะไรได้บ้าง เช่น บางคนมองไปใต้บันไดบ้าน โซฟา พื้นห้องนั่งเล่น ลานหญ้า ราวบันได หรือแม้กระทั่ง บนต้นไม้ เป็นต้น จากสิ่งที่มองเห็นสมองจึงคิดทบทวนและตัดสินว่าจะเล่นอะไร จึงลงมือเลือกอุปกรณ์ต่างๆ มาประกอบการเล่นขึ้น และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของห้องทดลองสำหรับเด็กอีกครั้งหนึ่ง โดยการเล่นของเด็กนั้น จะมีทั้งเล่นเป็นกลุ่ม และเล่นคนเดียว
การเล่นคนเดียวของเด็ก
เมื่อเด็กคนหนึ่งตัดสินใจเล่น เพื่อนเล่นคือ องค์ประกอบสำคัญนอกเหนือไปจากอุปกรณ์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่บ่อยครั้งที่เด็กหลายคนเลือกเล่นคนเดียว อาจมีหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีเพื่อนเล่น เบื่อเพื่อน หรือเป็นความต้องการส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งการเล่นคนเดียวของเด็ก เป็นเรื่องปกติไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ที่บางครั้งอยากนั่งพักเงียบๆ คนเดียว หรือไม่อยากวุ่นวายกับใคร เป็นต้น
กระบวนการการเล่นของเด็ก
เมื่อเด็กเล่นคนเดียว เด็กจะมีการสื่อสารกับตัวเอง มากกว่าเล่นเป็นกลุ่ม เด็กจะคิด ตัดสินใจเลือกและไม่เลือก ทบทวนความคิดของตัวเอง ย้อนไปวนมาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพอใจ บางครั้งพูดเป็นเรื่องราวจากบทบาทสมมุติที่กำลังเล่น บางครั้งจินตนาการสถานการณ์ต่างๆ นานา และออกแบบการเล่นที่หลากหลายด้วยผู้เล่นเพียงคนเดียว บางครั้งนิ่งเงียบมีสมาธิ แต่บางครั้งส่งเสียงทั้งจากการพูดเอง การเลียนแบบเสียง หรือการเคาะจังหวะอุปกรณ์ เป็นต้น
ประโยชน์เมื่อได้เล่น
เมื่อกระบวนเล่นทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นของเด็กที่เล่นคนเดียวเกิดขึ้น พัฒนาการและการเรียนรู้ที่เด็กจะได้รับก็เกิดขึ้นโดยตรงกับเด็กตามไปด้วย ตั้งแต่การกระตุ้นประสาทสัมผัสผ่านไปสู่เซลประสาทในสมอง ส่งผ่านกระแสประสาทเข้าสู่ระบบสั่งการ ประมวลผล และทำงานตามที่สั่ง คือ คิด เลือก ลงมือเล่น ทบทวน คิด ลงมือเล่น เป็นต้น ซึ่งจะวนเวียนไปจนกว่าเด็กจะหยุดเล่น
ดังนั้นการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง กล้ามเนื้อร่างกาย ทักษะการคิดวิเคราะห์และระบบคิด ทักษะการเรียนรู้ด้านต่างๆ จึงมีไม่แพ้การเล่นเป็นกลุ่มเลยทีเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงสบายใจได้ว่าลูกน้อยที่เล่นคนเดียวนั้น ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด