วิธีรักษาอาการหัวนมแตก หัวนมเป็นแผลที่คุณแม่แก้ได้!
อาการหลังคลอดของคุณแม่หลายคนที่มักเจอกันบ่อยๆ ก็คือ อาการปวดคัดเต้านมนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีอาการหัวนมแตกหรือหัวนมเป็นแผล ซึ่งวันนี้เราจะมาชวนคุณแม่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว มารับมือรักษากันอย่างถูกวิธีค่ะ
วิธีป้องกันและรักษาปัญหาหัวนมแตก
สำหรับวิธีการป้องกันและรักษาอาการหัวนมแตกนั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีพื้นฐานง่ายๆ ชนิดที่ไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใดเลยก็คือ หลังจากที่คุณแม่ให้นมลูกน้อยเสร็จแล้ว จากนั้นก็ให้ใช้น้ำนมของคุณแม่เองมาทาลงไปที่หัวนม เน้นบริเวณที่แตกมากเป็นพิเศษและควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งเอง การรักษาหัวนมแตกด้วยน้ำนมคุณแม่นั้นนับเป็นวิธีที่ทำง่ายและได้ผลอย่างมาก เพราะน้ำนมมีคุณสมบัติช่วยป้องกันปัญหาผิวแห้งแตกในบริเวณหัวนมได้ และหากถึงเวลาต้องให้นมลูกน้อยครั้งต่อไป ก็แค่นำผ้าหรือสำลีชุบน้ำอุ่นมาเช็ดทำความสะอาดหัวนมอีกครั้ง เพียงเท่านี้ก็สามารถให้นมลูกตามปกติต่อไปได้เลย แต่หลังจากให้นมลูกเสร็จก็ควรทำตามวิธีที่แนะนำไปดังกล่าว โดยทำเช่นนี้หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้วทุกครั้งค่ะ เพราะน้ำนมจะได้ช่วยสมานและป้องกันปัญหาแห้งแตกได้มากยิ่งขึ้น
วิธีรักษาปัญหาหัวนมแตกจนเป็นแผล ทำได้อย่างไร?
ในกรณีที่หัวนมคุณแม่มีอาการแตกจนเป็นแผลแล้ว แนะนำว่าควรงดให้ลูกดูดนมข้างที่แตกเป็นแผลไปก่อน แล้วควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ครีมที่มีตัวยามาทารักษาสมานอาการแตกให้หายดี โดยจะใช้เวลาในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 1-2 วัน อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และหากมีอาการปวดคัดเต้านมในข้างที่เป็นแผล แนะนำให้บีบน้ำนมข้างนั้นออกเพื่อช่วยลดอาการปวดคัดเต้าค่ะ
หัวนมมีผื่นแดง หรือรอยช้ำ ควรทำอย่างไรดี?
นอกจากอาการที่เรากล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว ในการให้นมลูก หากคุณแม่พบว่ามีอาการผื่นแดงหรือมีรอยช้ำๆ หรืออาจรู้สึกว่ามีอาการร้อนผิดปกติในบริเวณหน้าอก แนะนำให้รีบไปแพทย์จะดีที่สุด เพราะอาการดังกล่าวอาจกำลังบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี อาการติดเชื้อก็สามารถรักษาให้หายได้ภายในเวลารวดเร็ว หากคุณแม่ไม่นิ่งนอนใจ และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องทันการณ์เนิ่นๆ
เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ให้นมลูก นอกจากมีอาการปวดคัดเต้านมและปวดหน้าอก หรือมีปัญหาหัวนมแตกแล้ว ในระหว่างที่ดูแลรักษาอาการเหล่านี้อยู่ ก็อย่าลืมหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยนะคะ จะได้หยุดให้นมลูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อและจะได้รีบรักษาให้หายเร็วอย่างทันท่วงทีนั่นเอง
เพียงเท่านี้สุขภาพของคุณแม่และลูกก็จะแข็งแรงปลอดภัย ห่างไกลจากปัญหาเจ็บป่วยที่มาพร้อมๆ กับการให้นมลูกได้แล้วค่ะ