ลูกเราสมาธิสั้นหรือเปล่า
บาง ครั้งพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมาก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยได้ว่า ลูกเราปกติหรือไม่ เพราะบางท่านได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผิดปกติ แต่ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดพอ หรือเกิดอาการไม่แน่ใจพัฒนาการของลูกว่าปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอาการสมาธิสั้น ซึ่งดูออกค่อนข้างยาก ฉบับนี้เราจึงนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการ ว่าลูกเข้าข่ายสมาธิสั้นหรือไม่ ถ้าใช่จะได้หาทางแก้ไขได้ทันค่ะ
รู้จักโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น เป็นความผิดปกติของพฤติกรรมและอารมณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเด็กก่อนอายุ 7 ปี เกิดจากความผิดปกติของสมอง และมีผลพอจะพิสูจน์ได้ว่าน่าจะเป็นผลมาจากพันธุกรรม แต่จะมีวิธีการถ่ายทอดมาอย่างไรนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่มีการบ่งบอกว่ามีสมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสมาธิ ทำงานไม่สัมพันธ์กับระบบสั่งงานอื่นๆ
เด็กจะมีลักษะซน ไม่อยู่นิ่ง ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้มีปัญหาพัฒนาการด้านต่างๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ซึ่งอาการที่กล่าวไปเบื้องต้นนี้เอง ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นห่วง และเกิดความเข้าใจผิดว่าลูกเราผิดปกติหรือไม่
1. ไฮเปอร์แอกทีฟ (Hyperactivity)
คือ มีความบกพร่องทางพฤติกรรม มีอาการซนมากผิดปกติ ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ สังเกตจาก
- ไม่รู้จักระวังตัวเอง จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ
- อยู่ไม่สุก นั่งอยู่กับที่ไม่ค่อยได้ อยู่ไม่นิ่ง วุ่นวาย กระสับกระส่าย
- พูดคุยมากผิดปกติ ชอบพูดขัดจังหวะ ช่างฟ้อง รบกวนผู้ใหญ่ขณะพูดคุยมากเกินไป
- เล่นคนเดียวเงียบๆ ไม่ได้ ลุกลี้ลุกลน ใจร้อน อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่มีความอดทนในการรอคอย
2. สมาธิบกพร่อง (Inattentive)
- ทำกิจกรรมตามลำพังได้ไม่ดี ฟังคำสั่งยาวๆ จับใจความไม่ค่อยได้
- ทำกิจกรรมหนึ่งให้สำเร็จได้ลำบาก
- ขาดสมาธิ หรือความตั้งใจในการทำงานที่มีรายละเอียด
- ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าได้ง่ายมาก เหม่อลอยง่าย
- ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ขาดการจัดการวางแผนงานที่ดี
3. มีความบกพร่องในการคิดวางแผน (Impulsivity)
- ไม่รู้จักอดทน รอคอยไม่เป็น ใจร้อน วู่วาม ไม่ยั้งคิด
- เบื่อง่าย ควบคุมให้ตัวเองอยู่ในระเบียบ หรืออยู่ในกฎได้ยาก
- หงุดหงิด โมโหง่าย
- ชอบพูดแทรก หรือมักตอบคำถามก่อนที่ผู้ถามจะถามจบ มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เด็กที่มีปัญหาในเรื่องสมาธิ มักถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน ชอบรบกวนเพื่อนๆ ผลการเรียน ไม่ดี ถูกครูลงโทษบ่อยกว่าเด็กคนอื่น และมักถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน นิสัยไม่ดี เป็นต้น
การที่จะบอกว่าเด็กคนไหนเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จะใช้เกณฑ์การเปรียบเทียบความสามารถทั่วๆ ไปในกลุ่มเด็กปกติในการตัดสิน เช่นเด็ก 7 ขวบ สามารถนั่งอยู่กับที่ได้นาน 15-30 นาที แต่ถ้าเด็กคนนั้นไม่สามารถนั่งได้ / เด็กนั่งเรียนอยู่ หรือ อ่านหนังสือ แค่เสียงของตก กิ่งไม้ตกก็วอกแวกได้ง่ายมาก ก็อาจจะสงสัยไว้ก่อน
อาการสมาธิสั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา ร่วมกับการปรับพฤติกรรม ด้วยการดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิดจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าลูกจะมีอาการนี้หรือไม่อาจจะพบแพทย์เฉพาะทาง แต่ถ้าเทียบดูแล้วลูกมีพัฒนาการปกติ หรือซนแบบปกติ ก็ยังไม่ต้องกังวล หรือเหมารวมว่าลูกจะเป็นนะคะ