ผดผื่นจากเครื่องสำอาง
คุณสาวๆ ทราบหรือไม่ค่ะว่า คนปกติมีโอกาสแพ้เครื่องสำอางได้ไม่น้อยเลยนะค่ะ บางรายงานพบว่ามีได้ถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว ที่มีผื่นจากเครื่องสำอางอาจเกิดจากเครื่องแต่งหน้า ครีมบำรุง ครีมกันแดด และยังรวมไปถึงสบู่ แชมพู ครีมนวดผม และยาสีฟันได้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พวกเราใช้ในชีวิตประจำวัน ผื่นแพ้จากเครื่องสำอางจึงสามารถพบได้ในทุกเพศและทุกวัยค่ะ
ชนิดของผื่นจากเครื่องสำอาง
สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ผื่นที่เกิดจากการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis) เกิดได้กับทุกคนที่สัมผัสสารที่ก่อการระคายเคืองต่อผิว เช่น กรด ด่าง หรือสบู่แรง ๆ อาการแพ้มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลา 1-2 วัน ทำให้ผิวหนังมีอาการแดง คัน และแสบร้อน
2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารที่ก่อภูมิแพ้และเกิดการอักเสบ ผิวหนังจะมีอาการคัน บวมแดง อาจมีตุ่มนูนหรือตุ่มน้ำเล็กๆ ได้ ผื่นแพ้ชนิดนี้จะเป็นเฉพาะบุคคลที่แพ้สารสัมผัสเหล่านี้เท่านั้น คนที่ไม่แพ้สารดังกล่าวก็จะไม่ปรากฏอาการ สำหรับสารที่พบว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย ได้แก่
- น้ำหอม (Fragrance) ซึ่งเป็นสารที่พบว่าแพ้ได้บ่อยที่สุด น้ำหอมเป็นสารที่สกัดจากดอกไม้ สารสกัดธรรมชาติ หรือสารสังเคราะห์ที่ทำให้มีกลิ่นหอม น้ำหอมจะไม่ได้หมายเพียงถึงน้ำหอมที่ฉีดเท่านั้น แต่เครื่องสำอางหลายๆ ชนิดก็จะผสมน้ำหอมเข้าไปด้วย เช่น ครีมบำรุง ครีมล้างหน้า หรือสบู่ ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายอาจจะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่วนผสมของน้ำ หอม ซึ่งจะมีคำว่า Fragrance-Free หรือ Unscented เขียนกำกับไว้
- สารกันบูด (Preservative) เป็นสารที่ใส่เพื่อไม่ให้เครื่องสำอางเสื่อมสภาพ เป็นสารที่พบว่าแพ้ได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2
- น้ำยาย้อมผม พบได้ในบุคคลที่ทำสีผมหรือย้อมผม
3. ผื่นสัมผัสอันเนื่องมาจากการแพ้สารเมื่อถูกแสง (Photoallergic Contact Dermatitis) อาการแพ้จะเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดดและเปลี่ยนเป็นสารก่อภูมิแพ้ เช่น ครีมกันแดด น้ำหอม
4. ผื่นลมพิษสัมผัส (Contact Urticaria) พบได้ค่อนข้างน้อย มีลักษณะเป็นผื่นลมพิษ โดยผิวหนังจะบวมเป็นรอยนูนแดง เกิดตรงบริเวณที่ผิวหนังสัมผัสกับสารก่อผื่น และอยู่นานประมาณ 30-60 นาที
5. สิวจากเครื่องสำอาง (Acne Cosmetica) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผมบางชนิดที่มีความมันและเหนอะมากสามารถทำให้เกิด สิวอุดตัน (comedone) และสิวอักเสบเป็นหนองได้ โดยที่สิวอักเสบหัวหนองมักจะเกิดขึ้นอย่างเร็วภายในเวลาไม่กี่วัน ในขณะที่สิวอุดตันอาจเกิดขึ้นภายหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสร็จสิ้นไป แล้วนานหลายสัปดาห์ ที่น่าสังเกตคือสิวที่เกิดขึ้นมักจะอยู่ในระยะเดียวกันหมด และใช้เวลาในการรักษานาน
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีผื่นจากเครื่องสำอาง
1. หากคุณสงสัยว่าจะเป็นผื่นจากเครื่องสำอางชนิดผื่นแพ้สัมผัส, ผื่นระคายเคืองหรือผื่นสัมผัสเนื่องจากการแพ้สารร่วมกับแสง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ถ้าสงสัยผลิตภัณฑ์ตัวไหนก็ให้หยุดชิ้นนั้น ๆ นะคะ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งทดลองใช้ใหม่เป็นครั้งแรก
- หากมีผิวหนังอักเสบหรือระคายเคืองอยู่ ให้งดใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แต่ให้ใช้น้ำเปล่าในการทำความสะอาดแทน
- ช่วงที่ผิวหนังอักเสบอยู่ควรหยุดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด จะอนุโลมให้ใช้ได้เฉพาะลิปสติกในกรณีที่ริมฝีปากไม่มีผื่น
- เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา สามารถใช้ได้หากไม่มีผื่นบริเวณเปลือกตา
- คุณสามารทดสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยได้เอง ทางการแพทย์เรียกว่า วิธี ROAT (Repeat Open Application Test) หรือ Use Test โดยทดลองทาผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนท้องแขนให้เป็นวงขนาดเท่าเหรียญ 10 บาทวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถ้าเกิดผื่นแดงคันขึ้นแสดงว่าแพ้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริงค่ะ
- ในกรณีที่มีอาการมากควรไปพบแพทย์ผิวหนัง และอย่าลืมนำเครื่องสำอางที่คิดว่าแพ้ไปทดสอบด้วย แพทย์จะทำการทดสอบสารที่สงสัยว่าจะแพ้ โดยการปิดสารที่แพ้บนผิวหนังที่หลัง (patch test) และอ่านผลอีก 2 ครั้ง
- หากผื่นหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือน สามารถเริ่มทดลองใช้เครื่องสำอางทีละ 1 ชนิด และใช้ชนิดเดียวไปก่อนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากไม่มีผื่นเกิดขึ้น จึงเลือกใช้ชนิดที่ 2 และ 3 ตามมา
2. หากเป็นสิวจากเครื่องสำอาง (Acne cometica)
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่สงสัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเหนียว เหนอะหนะ
- ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยและรักษา สิวจากเครื่องสำอางจะต่างจากการแพ้ชนิดอื่น ๆ ที่ต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเดือน บางคนหลายเดือนเลยทีเดียวจึงจะหาย