การดูแลการฝากครรภ์และคลอดบุตร
ทำไมต้องฝากครรภ์
- การฝากครรภ์มีความสำคัญมากสำหรับคุณแม่ เพราะจุดมุ่งหมายในการฝากครรภ์นั้นเพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และทารกในครรภ์ยัง คงมีสุขภาพดี แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้รีบปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
- การทราบล่วงหน้าว่ามารดาหรือทารกมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจะ ทำให้แพทย์สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เช่น การดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิด กำหนดวิธีคลอด และระยะเวลาที่จะคลอด รวมทั้งการดูแลหลังคลอด ตัวอย่างแม่ที่อายุมาก มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ก็อาจต้องตรวจหาความผิดปกติของทารก ถ้าทารกมีขนาดใหญ่มากหรือแม่มีเชิงกรานแคบ อาจต้องวางแผนทำการผ่าตัดคลอด ถ้าเลือดแม่กับลูกเข้ากันไม่ได้ ก็ต้องเตรียมการถ่ายเลือดภายหลังคลอด เป็นต้น
- หญิงมีครรภ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านโภชนาการ การใช้ยาต่างๆ เพศสัมพันธ์ การเตรียมตัวสำหรับการคลอด และการให้นมบุตร รวมทั้งการวางแผนครอบครัวหลังจากคลอดบุตรแล้ว นอกจากนั้นยังต้องรู้จักสังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์และอาการเจ็บครรภ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หญิงมีครรภ์จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลเมื่อมาฝาก ครรภ์
การตรวจสุขภาพของมารดาและทารกเมื่อได้รับการฝากครรภ์
- เมื่อหญิงมีครรภ์มาฝากครรภ์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น แพทย์จะซักประวัติการขาดประจำเดือน โรคประจำตัวต่างๆ การตั้งครรภ์และการคลอดในอดีต ตลอดจนสภาวะของทารกในครรภ์ก่อนๆ เพื่อวินิจฉัยว่ามีการตั้งครรภ์และค้นหาสภาวะที่ต้องระวังสำหรับการตั้ง ครรภ์ครั้งนี้
- การตรวจร่างกายโดยละเอียด จะทำให้แพทย์ทราบถึงสุขภาพของหญิงมีครรภ์ การตรวจขนาดของมดลูกจะสามารถบอกสภาวะของเด็ก เช่น ถ้ามดลูกเล็กกว่าที่ควรอาจเป็นเพราะเด็กไม่หรือพิการ แต่ถ้ามดลูกใหญ่อาจเป็นเพราะเด็กตัวใหญ่เกินไป เป็นเด็กแฝด หรือมีปริมาณน้ำคร่ำมากผิดปกติ
- นอกจากนั้นการตรวจครรภ์ยังสามารถบอกท่าของเด็กที่อยู่ในครรภ์ และการฟังเสียงหัวใจเด็กก็ช่วยบอกว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่าง จำเป็นต้องทำเมื่อมีการตั้งครรภ์ เช่น การตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจความเข้มข้นของเลือด เพราะทารกต้องใช้ธาตุเหล็กจากแม่เพื่อการสร้างเลือด จึงอาจทำให้แม่มีสภาวะโลหิตจางได้ และการตรวจไข่ขาวในปัสสาวะเพื่อค้นหาความผิดปกติของไตหรือสภาวะครรภ์เป็นพิษ (pre-eclampsia)
- การตรวจน้ำเหลืองเพื่อดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และเอชไอวี ก็มีความจำเป็น ซึ่งถ้าเป็นบวกแพทย์จะต้องวางแผนป้องกันการถ่ายทอดโรคจากมารดาไปสู่ทารก
- บางกรณีอาจต้องมีการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัตราซาวนด์) เพื่อดูอายุครรภ์ที่แน่นอน ดูความผิดปกติของทารก เช่น ความพิการต่างๆ รวมทั้งการเต้นของหัวใจ เพื่อประเมินว่าเด็กมีชีวิตหรือไม่
การเฝ้าติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์
- การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์สามารถประเมินได้จากขนาดของมดลูก ที่ใหญ่ขึ้นเป็นสัดส่วนกับอายุครรภ์ และน้ำหนักของแม่ที่เพิ่มขึ้น
- สามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจะอยู่ในอุ้งเชิงกราน อายุครรภ์ครบห้าเดือน ยอดมดลูกอยู่ที่ระดับสะดือ และอยู่เกือบถึงลิ้นปี่เมื่อครรภ์ครบกำหนด
- ส่วนน้ำหนักของแม่ในสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์จะ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะหญิงมีครรภ์มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและรับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้นน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับประมาณเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยตลอด การตั้งครรภ์น้ำหนักของแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม ทั้งนี้เป็นส่วนของเด็ก รก และน้ำคร่ำประมาณ 5 กิโลกรัม เป็นส่วนของมดลูกและส่วนอื่นของแม่อีก 7 กิโลกรัม
- กรณีที่น้ำหนักของแม่เพิ่มน้อย หยุดเพิ่ม หรือน้ำหนักลดลง รวมทั้งยอดมดลูกไม่สูงขึ้น อาจแสดงถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น เด็กโตช้าหรือเด็กเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีตรงกันข้ามอาจเกิดจากครรภ์แผด น้ำคร่ำมากผิดปกติ หรือมีเนื้องอกของมดลูกและรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องวินิจฉัยสาเหตุที่แน่นอนเช่นกัน
สิ่งที่หญิงมีครรภ์ควรสังเกตและระมัดระวัง
- ยาหลายชนิดมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการชนิดต่างๆ การเจริญเติบโตช้า หรือสมองเสื่อม ดังนั้นการใช้ยาขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- บุหรี่ทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อย แม่จึงควรหยุดสูบบุหรี่เมื่อตั้งครรภ์ สุราก็ทำให้เด็กซึมและดิ้นน้อยลง จึงอาจมองข้ามความผิดปกติอย่างอื่นของเด็ก
- การดิ้นแสดงถึงความแข็งแรงของทารก ถ้าทารกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นต้องรีบไปพบแพทย์
- การบวม โดยเฉพาะการบวมทั้งตัว มักแสดงถึงพยาธิสภาพของไตหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงควรมารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด ถ้ามีสภาวะครรภ์เป็นพิษต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
- น้ำเดินเกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือ แตกซึ่งควรจะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไม่ใช่มูก ถ้ามีน้ำเดินและยังไม่มีการเจ็บครรภ์ภายใน 24 ชั่วโมง ควรพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาในโรงพยาบาลเพราะอาจเกิดการติดเชื้อในแม่และทารก หรือทารกเสียชีวิตได้
- อาการเลือดออกเล็กน้อย โดยเฉพาะที่มีมูกปน มักเป็นอาการนำของการเจ็บครรภ์คลอด แต่ถ้าเลือดออกมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงครรภ์ก่อนครบกำหนดหรือครบกำหนดแล้ว และจะร่วมกับการเจ็บครรภ์หรือไม่ก็ตาม ต้องรีบมาพบแพทย์เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากสภาวะรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัว ก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตของแม่และทารก
- ในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์หญิง บางคนจะมีอาการเจ็บครรภ์เพราะมดลูกรัดตัว แต่ไม่สม่ำเสมอและอาการปวดมักจะอยู่บริเวณท้องน้อยหรือขาหนีบ อาการเจ็บครรภ์แบบนี้เรียกว่าเจ็บเตือน ซึ่งจะหานไปเมื่อได้หลับพักผ่อน แต่ถ้าอาการเจ็บเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบไปโรงพยาบาล เพราะกระบวนการคลอดได้เริ่มขึ้นแล้ว