โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ของเด็กในครรภ์

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ของเด็กในครรภ์

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ของเด็กในครรภ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง โดยพบประมาณ 8 คน ต่อเด็กคลอดมีชีพ 1,000 คน และมีประมาณ 30% ที่มีความผิดปกติค่อนข้างมาก มีผลต่อการไหลเวียนของโลหิต และบางรายอาจเสียชีวิตภายหลังคลอด ในรายการที่ทารกในครรภ์มารดาเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างรุนแรงก็อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในขณะตั้งครรภ์ได้


ระยะการเกิดความผิดปกติหัวใจทารกในครรภ์


หลังจากการปฏิสนธิจะเริ่มการสร้าง (form) หัวใจขึ้นโดยเมื่อทารกในครรภ์มารดาอายุประมาณ 3 สัปดาห์ หัวใจจะเป็นเพียงท่อยาวๆ อายุ 4 สัปดาห์จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างคล้ายหัวใจ ประมาณ 8 สัปดาห์เป็นรูปหัวใจที่เกือบสมบูรณ์ และเมื่ออายุ 10-12 สัปดาห์จะเป็นหัวใจที่สมบูรณ์ มีกล้ามเนื้อและลิ้นหัวใจครบทุกอย่าง


ถ้าเด็กมีความผิดปกติของหัวใจก็จะเกิดในช่วงพัฒนาหัวใจในระยะดังกล่าว และสามารถเห็นความผิดปกติของหัวใจจาการทำอัลตร้าซาวด์เมื่อประมาณอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ การทำอัลตร้าซาวด์มี 2 วิธีด้วยกัน คือ การใส่สายตรวจ( Transducer) เข้าไปทางช่องคลอด และอีกวิธีหนึ่งที่นิยมคือการตรวจผ่านหน้าท้องของมารดา

สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแบ่งได้กว้างๆ ดังนี้


1. เกิดจากความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม หรือโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม
2. มารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะภายใน 3 เดือนแรก เช่น ติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน เอ็นโทโรไวรัส เป็นต้น
3. มารดาป่วยเป็นโรคร้ายแรง หรือมีโรคประจำตัว เช่น เอสแอลอี เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
4. มารดารับประทานยาหรือสารบางอย่าง เช่น Amphetamine ยากันชักบางชนิด สเตอรอยด์ สุรา และบุหรี่ เป็นต้น
5. มารดาได้รับรังสีเอกซ์ ( x-ray) ขณะตั้งครรภ์ภายใน 3 เดือนแรก
6. ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบเป็นส่วนมาก

 

เมื่อทารกในครรภ์มารดามีความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด มารดาจะไม่ทราบเพราะทารกในครรภ์มารดาได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากแม่ผ่านทารก ดังนั้นการที่จะทราบได้ก่อนคลอดว่าทารกในครรภ์มารดาป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ โดยวิธีการตรวจอัลตร้าซาวด์เท่านั้น


ซึ่งมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้สามารถวางแนวทางการรักษาได้ตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงหลังคลอด ทำให้ทารกให้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา และมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าทารกที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่ไม่ทราบว่ามีความพิการของหัวใจ

 

การทำ Fetal Echocardiogram


สามารถทำได้ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึงใกล้คลอดโดยอายุครรภ์ที่เหมาะสมในการทำ คือ 18-22 สัปดาห์ และถ้าเป็นไปได้ควรทำ Fetal Echocardiogram ให้แก่ทารกในครรภ์มารดาทุกราย หรือเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้


1. ทารกมีปัจจัยเสี่ยงหรือมีความผิดปกติของทารกในครรภ์จากการตรวจของสูติแพทย์ เช่น ทารกไม่โต มีความผิดปกติของอวัยวะบางอย่าง เช่น ปากแหว่ง ความผิดปกติของสมอง,กระดูก มีการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติหรือขนาดของหัวใจทารกผิดปกติ รวมทั้งตรวจพบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ เป็นต้น

 

2. มารดามีปัจจัยเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวเช่น มารดาป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรค SLE.Connective tissue disease เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เช่น เชื้อไวรัสหัดเยอรมัน Toxoplasmosis Coxsachie virus รวมทั้งคางทูม เป็นต้น

 

3. มีความเสี่ยงในครอบครัว เช่น มีประวัติญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติทางด้านโครโมโซม

 

4. มารดาอายุมากขณะตั้งครรภ์ (อายุเกิน 35 ปี)

 

ประโยชน์จากการทำ Fetal Echocardiogram


นอกจากจะช่วยให้ทราบว่าทารกในครรภ์มารดาเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงความรุนแรงของความผิดปกตินั้นด้วย ทำให้สามารถวางแนวทางการรักษาได้ซึ่งอาจให้การรักษาขณะตั้งครรภ์อยู่เช่น กรณีที่ทารกในครรภ์มารดามีการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าปกติ ก็สามารถให้การรักษาได้โดยให้ยาผ่านทางมารดา หรือฉีดยาเข้าทางสายสะดือเด็ก โดยผ่านทางหน้าท้องของมารดา


ในกรณีที่เด็กทารกในครรภ์มารดามีการแสดงของภาวะหัวใจวาย ก็สามารถให้ยาผ่านทางมารดาไปยังทารกได้เช่นกัน ทำให้สามารถประคับประคองให้การไหลเวียนของกระแสโลหิตดีขึ้นจนทารกโตพอที่จะคลอดมีชีวิตได้จึงทำคลอดหรือรอจนคลอดเองได้ เป็นต้น

 

นอกจากนี้การทราบว่าทารกในครรภ์มาดาป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ ยังใช้เป็นข้อมูลเสริมให้แก่สูติแพทย์ในการพิจารณาทำการตรวจเพิ่มเติมอื่นต่อไปเพราะมักมีความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ อีก รวมทั้งความผิดปกติทางด้านโครโมโซมร่วมด้วย ทำให้สามารถวางแนวทางการดูแลรักษาทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง และไม่ควรใช้ข้อมูลของ Fetal Echocardiogram ว่าทารกใดป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ในการเป็นข้อบ่งชี้การหยุดตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook