นักออกแบบหน้าใหม่ ในรายการ “เดอะ ดีไซเนอร์”
นี่คือปรากฏการณ์ครั้งใหม่ แห่งวงการแฟชั่นไทย กับนักออกแบบหน้าใหม่ที่เหลือเพียง 11 คนจากบ้าน "เดอะ ดีไซเนอร์" ที่จะต้องดีไซน์ฝันของตัวเองเพื่อที่จะเป็นสุดยอดดีไซน์เนอร์หน้าใหม่แห่งวงการแฟชั่นไทย เพื่อก้าวสู่เวทีสากลกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่สาวน้อยผู้มากด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่าง หยินมี่ - นภัสณพชร สนณ์ณกิตตน์กุล ได้โบกมือลาบ้าน "เดอะ ดีไซเนอร์" ฝันตามคิด ชีวิตมีดีไซน์ จากโจทย์ รีไซเคิล ในสัปดาห์ที่แล้ว ไปก่อนคนแรกแล้ว ล่าสุด เหลืออีก 11 ชีวิตที่ยังมีสิทธิ์คว้าตำแหน่ง "เดอะ ดีไซเนอร์"
ซึ่งทั้งหมดได้ประชันไอเดียออกแบบสร้างสรรค์สไตล์คนรุ่นใหม่ กับโจทย์ในสัปดาห์ที่ 2 "ไทย คอตตอน ทู รันเวย์" (Thai Cotton to Runway) กับการนำผ้าไทยมาออกแบบและตัดเย็บในคอลเลคชั่นออธั่มวินเทอร์ เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์แห่งผืนผ้าไทยว่ามีศักยภาพที่สามารถก้าวไกลในระดับนานาชาติ โดยก่อนการแข่งขันทั้งหมดได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผ้าที่โรงงานธนไพศาล ของ ปิลันธ์ ธรรมมงคล สถานที่ที่นำงานทอมือแบบชาวบ้านมาพัฒนาให้ใช้งาน ง่ายขึ้น ดูแลง่ายขึ้น และผลิตงานเร็วขึ้น ทันสมัยขึ้น
ซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ตัดเย็บโดยมีเวลาเลือกผ้าเพียง 15 นาที รวมทั้งได้รับเกียรติจาก เมตตา ตันติสัจจธรรม จากห้องเสื้อ Metta รับหน้าที่เป็นวิทยากรพิเศษ ให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยต่างๆ และได้คอมเม้นต์หลังจากเห็นผลงานของผู้เข้าแข่งขันว่า "ลำบากใจ บางคนทำดีมาก แต่หลายคนมีปัญหา ถ้ามีโอกาสใช้ผ้าไทยอีก อยากให้เน้นในเรื่องความประณีตและการตัดเย็บที่ดีกว่านี้"
ผ้าไทย คือ ผ้าทอมือที่มีการผลิตในประเทศไทย โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่มีการถ่ายทอดจากบรรพชนสู่สังคมยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าผ้าไทยกับเด็กรุ่นใหม่อาจจะไปด้วยกันยาก แต่ว่าไม่ใช่กับ 11 ผู้เข้าแข่งขัน "เดอะ ดีไซเนอร์" ที่แม้จะเจอโจทย์ท้าท้ายความสามารถ แต่ทั้งหมดล้วนออกปากว่าหลงใหลในเอกลักษณ์ของผ้าไทย และชื่นชอบที่ได้นำผ้าไทยมาออกแบบในสไตล์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของตนเอง พร้อมร่วมเผยวิธีผลักดันผ้าไทยสู่สากล เริ่มที่สาวมั่นอย่าง มะเหมี่ยว - สุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ กล่าวว่า "มะเหมี่ยวจะนำผ้าไทยมาประยุกต์กับผ้าใหม่ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมกับการดีไซน์ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น และต้องอาศัยเทคนิคการเลือกสีผ้าด้วยค่ะ เพราะว่าผ้าไทยส่วนใหญ่สีจะเป็นสีเก่าๆ ดูค่อนข้างโบราณค่ะ"
ขณะที่หนุ่มปักษ์ใต้หุ่นเจ้าเนื้อ อั๋น - วรวุฒิ วิศพันธุ์ กล่าวว่า "การจะทำให้ผ้าไทยน่าสนใจนั้น ผมว่าควรเอาจุดเด่นของผ้าไทยมาใช้ให้เหมาะสม เช่น ความพลิ้วไหวของผ้า ซึ่งอาจจะเอามาใช้เป็นเสื้อคลุม หรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระโปรง ที่ต้องอาศัยวอลุ่มทำให้ผู้สวมใส่ดูสวย สง่า เวลาก้าวเดิน หรือลายผ้า เราอาจจะนำมาพับหรือผสมกับลายผ้าอื่นๆ ให้มีลูกเล่นมากขึ้น นอกจากนี้ ผ้าไทยยังสามารถประยุกต์ร่วมกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ถุงน่อง เลคกิ้ง รองเท้า ก็จะช่วยเพิ่มความร่วมสมัยให้ผ้าไทยน่าสนใจมากขึ้น"
ด้านหนุ่มมีสไตล์อย่าง เกียรติ - เกียรติกร เจริญพานิช กล่าวว่า "ส่วนตัวผมเป็นคนชอบที่จะทำให้ผ้าผืนหนึ่งใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ทำให้ใส่ได้หลากหลายแบบมากกว่า 1 ชุด สามารถจับไปใส่กับชุดโน้น ชุดนี้ได้ ซึ่งผ้าไทยก็มีศักยภาพในตัวอยู่แล้วสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องอาศัยดีไซน์เข้ามาช่วย"
มาถึงชายมากประสบการณ์ วัช - วัชรดล อริยเมธกุล กล่าวว่า "ที่สำคัญ คือ ความคิด ทัศนคติของคนไทย ถ้าคนไทยปราศจากความภูมิใจในผ้าไทย ไม่ว่าจะนำมาดัดแปลง นำมาดีไซน์สวยเพียงใดก็ไม่สำเร็จอยู่ดี ซึ่งตรงนี้คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผ้าไทยไปได้ไกลในระดับนานาชาติ"
สำหรับสาวอารมณ์ดีอย่าง สุ่ย - อภิสรา สารคุณประดิษฐ์ กล่าวว่า "เสน่ห์ของผ้าไทยอยู่ที่พื้นผิวของเนื้อผ้า ที่เป็นงานทอมือค่ะ และการจะทำให้ผ้าไทยดูน่าสนใจนั้น คิดว่าต้องอาศัยการออกแบบ เพิ่มเทคนิคต่างๆ ในการออกแบบ พยายามทำให้สามารถสวมใส่ได้จริง และลบทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับผ้าไทย อาจจะนำลวดลายของผ้าต่างๆ มาผสมกัน ให้ดูทันสมัยขึ้น ให้สนุก มีลูกเล่น พร้อมกับการปรับสีสันของผ้าไทยให้วัยรุ่นเข้าถึงได้"
ต่อด้วยหนุ่มหน้าใส แบงค์ - สุธร เศรษฐมังกร กล่าวว่า "ถ้าจะทำให้ผ้าไทยก้าวสู่สากล ผมว่าต้องเริ่มตั้งแต่การผลิต ไม่ว่าจะเป็นแบบ หรือลวดลาย ที่ไม่เข้ากับสมัยปัจจุบัน จึงต้องอาศัยการดีไซน์ การออกแบบ ให้มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ สามารถใส่ได้ในหลายๆ โอกาส หรือเป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับผ้าแต่ละผืนที่นำมาใช้ เพราะด้วยตัวผ้าแล้ว ค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่เยอะ เสน่ห์ของผ้าไทย น่าจะเป็นที่ลวดลายอย่างผ้าทางเหนือ ผ้าลายยกดอก หรืออย่างผ้าไหม ที่ให้ความรู้สึกหรูหรา สง่างาม"
หนึ่งคนที่มีผลงานน่าสนใจอย่าง แมนดี้ - ชนะพล เล็กประเสริฐ กล่าวว่า "ผ้าไทยมีลวดลายประณีต และสีที่สวยงาม ถ้ามีการนำมาออกแบบให้เหมาะสมร่วมสมัย ทั้งการดีไซน์ รูปทรง ตลอดจนการสวมใส่ที่ง่ายเหมาะสมกับยุคปัจจุบันน่าจะส่งเสริมให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่านี้ ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย และที่สำคัญคนในประเทศต้องภูมิใจและสนับสนุนการใช้ผ้าไทย"
ส่วนหนุ่มร่างยาวที่รักการออกแบบ ยอด - นายศิรัส ตันติยาพงศ์ กล่าวว่า "ผ้าไทยมีหลากหลายลวดลายให้เลือก แต่ทัศนคติคนไทยจะคิดว่าผ้าไทยเหมาะกับผู้ใหญ่ที่อาวุโสมาก ถ้านำมาใช้ใส่ในชีวิตประจำวันจะดูแก่เกินไป แต่แท้จริงแล้วผ้าไทยในมุมของผมมองว่าอยู่ที่การออกแบบ ที่จริงผ้าไทยสามารถอยู่ได้ทุกที่ทุกเวลา"
หนุ่มหน้าอ่อนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดุ๊กดิ๊ก - นายวรรณกร อุ่นวิเศษ กล่าวว่า "ผ้าไทยมีเสน่ห์ ทั้งเนื้อผ้า และกรรมวิธีการทอ ตลอดจนลวดลายต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ถ้าเราเติมลูกเล่น ความสนุกลงไปในการดีไซน์ ผ้าไทยจะเพิ่มความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อาทิ การพับ หรือการสร้างแพทเทิร์น เลเยอร์ต่างๆ เราก็ผสมผ้าไทย ลายไทยเข้าไป ผสมผสานกับแฟชั่นของตะวันตก เชื่อว่าผ้าไทยจะส่งถึงตลาดโลกครับ"
เจ้าของทรงผมเอกลักษณ์ เบียร์ - เฉลิม อินทลักษณ์ กล่าวว่า "ผ้าไทยสวยและมีความน่าสนใจอยู่ในตัวเอง แต่การที่จะให้ผ้าไทยไปได้ในตลาดโลก นั่นคือ การส่งเสริมการทำผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ตอบโจทย์ตลาดต่างชาติ เพราะผ้าไทยระบายความร้อนง่ายเกินไป ทำให้อาจป้องกันความหนาวไม่ได้ดี และควรมีการประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนจากภาครัฐในการใช้ผ้าไทย ให้คนไทยเองมีค่านิยมที่ดีต่อผ้าไทยของตน"
ปิดท้ายที่หนุ่มน้อยตัวเล็ก มิวสิค - นายพิทวัส จันทศร กล่าวว่า "เสน่ห์ผ้าไทย อยู่ที่เส้นใยที่มีความพิเศษ สวมใส่สบาย ลวดลายเกิดจากการทอมือ กว่าจะได้แต่ละลายต้องใช้ความยากลำบากมาก และปัจจุบันเนื้อผ้าก็มีการพัฒนามาก ตลอดจนวิธีการทำ ขาดแต่การออกแบบ ซึ่งอยู่ที่ตัวดีไซเนอร์ที่จะต้องรู้จักนำเสนอวัตถุดิบผ่านการออกแบบ รวมทั้งการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องด้วยครับ"
ฟังไอเดียดีๆ ที่เหล่าผู้แข่งขันมีต่อผ้าไทยหมดแล้ว ชักอยากรู้แล้วว่าผ้า 8 หลา ที่มีเวลาเลือกเพียง 15 นาที แต่ละคนจะใช้เทคนิคการดีไซน์ออกมาเป็นชุดในคอลเลคชั่นออธั่มวินเทอร์ได้อย่างไร ภายในเวลาจำกัดเพียง 24 ชั่วโมง
ติดตามพร้อมกันในรายการ "เดอะ ดีไซเนอร์" กับโจทย์ในสัปดาห์ที่ 2 "ไทย คอตตอน ทู รันเวย์" ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคมศกนี้ เวลา 21.30 - 22.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์