โรคหืดในเด็ก (asthma)
โรคหืดคืออะไร
ตอบ โรคหืดคือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุทางเดินหายใจ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหืด
ตอบ มีสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
: ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม
: ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุโดยตรง ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ (ไรฝุ่น, แมลงสาบ, สุนัข, แมว, เชื้อรา หรือเกสรหญ้า เป็นต้น)
: ปัจจัยที่เป็นสาเหตุส่งเสริม ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดแสดงอาการออกมาหรือมีอาการมากขึ้น
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุส่งเสริมได้แก่อะไรบ้าง
ตอบ 1. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คออักเสบ, ไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น
2. สารระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ ฝุ่นละออง, ควันบุหรี่, ควันไฟ, ควันท่อไอเสีย, กลิ่นน้ำหอม, หรือกลิ่นสี เป็นต้น
3. การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือความกดอากาศ
4. การออกกำลังกาย
5. ภาวะทางจิตใจ
โรคนี้จะเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่
ตอบ โรคนี้พบได้ทุกเชื้อชาติและทุกอายุ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในวัยเด็ก ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหืด จะมีอาการหอบ
: ในขวบปีแรกประมาณร้อยละ 25-30
: ใน 2 ปีแรกประมาณร้อยละ 50
: ใน 5 ปีแรกประมาณร้อยละ 80
โรคนี้พบได้ทั้งสองเพศ ในวัยเด็กก่อนวัยหนุ่มสาวจะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ด้วยอัตราส่วนประมาณ 1.5-2.0:1.0 เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว อุบัติการณ์ในทั้งสองเพศจะใกล้เคียงกัน ในคนสูงอายุจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
ผู้ป่วยโรคหืดมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมอย่างไรบ้าง
ตอบ 1. กล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ หลอดลมเกิดการหดเกร็งตัว
2. เยื่อบุผิวของหลอดลมเกิดการบวมน้ำ
3. เยื่อบุผิวของหลอดลมมีการสร้างเสมหะมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการอย่างไรบ้าง
ตอบ : อาการไอ ส่วนมากผู้ป่วยจะไอช่วงกลางคืน, ภายหลังจากการออกกำลังกาย, ภายหลังจากสัมผัสกับ อากาศเย็นหรือควันบุหรี่
: หายใจได้ยินเสียงวี๊ด โดยเฉพาะในช่วงของการหายใจออก
: หายใจเร็วผิดปกติ นับจำนวนครั้งการหายใจของผู้ป่วยใน 1 นาที แล้วเปรียบเทียบกับอัตราการหายใจของผู้ป่วยในขณะที่ไม่มีอาการ
: หายใจมีหน้าอกบุ๋ม สังเกตได้ชัดเจนในตำแหน่งของช่องซี่โครง หรือทางด้านหน้าของลำคอ
โรคนี้รักษาได้อย่างไร
ตอบ 1. การควบคุมสารก่อภูมิแพ้
: โดยมีแนวทางการควบคุม 2 แนวทาง คือ
1.1 ควบคุมต้นกำเนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่จะผลิตขึ้นใหม่ ได้แก่ ตัวไรฝุ่นที่มีชีวิต สัตว์เลี้ยง แมลงสาบ เป็นต้น
1.2 ควบคุมแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ที่นอน พรม เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น
2. การรักษาด้วยยาและวิธีร่วมอื่น ๆ
2.1 การรักษาด้วยยาพ่น
2.1.1 ยาบรรเทาอาการ
: ยาในกลุ่มที่มีคุณสมบัติในการช่วยขยายหลอดลม ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาขยายหลอดลม ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหอบ อย่างเฉียบพลัน
: มีในรูปยารับประทาน ยาฉีด และยาพ่น
: ในรูปของยาพ่นจะมีประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด เนื่องจากว่า สามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว และมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยกว่า ยาในรูปแบบอื่น
: ยามีคุณสมบัติเพียงแค่บรรเทาอาการของผู้ป่วย จากการที่มีการตีบแคบของหลอดลม แต่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการรักษาโรค เนื่องจากยา ไม่สามารถช่วยลดการอักเสบของหลอดลมได้
2.1.2 ยาควบคุมอาการ
: ยาในกลุ่มที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ยาในกลุ่มนี้ ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาสเตียรอยด์
: ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการหอบ
: มีในรูปยารับประทาน ยาฉีด และยาพ่น
: ในรูปของยาพ่นจะมีประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด เนื่องจากว่า มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยกว่ายาในรูปแบบอื่น
2.2 การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
: การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในอากาศที่ติดตามขนจมูกและเยื่อบุจมูก เป็นวิธีการรักษาอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือจากการใช้ยา
3. การฉีดวัคซีน
: ผู้ป่วยที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน ได้แก่
3.1 ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้ว ไม่สามารถที่จะควบคุมอาการได้ดี
3.2 ผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในขนาดสูงเพื่อควบคุมอาการ
3.3 ผู้ป่วยที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้ได้ ในชีวิตประจำวัน
3.4 ผู้ป่วยที่ไม่ร่วมมือในการใช้ยา หรือกังวลผลข้างเคียงของการใช้ ยาพ่นสเตียรอยด์