ท้องด้วย ก็สวยได้

ท้องด้วย ก็สวยได้

ท้องด้วย ก็สวยได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ 
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

เรื่องของความสวยความงามกับผู้หญิงนั้นถือเป็นของคู่กัน ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนที่กำลังท้องอยู่ คุณผู้หญิงทุกคนก็ยังอยากที่จะดูดีและดูสวยเหมือนเดิม แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติระหว่างตั้งครรภ์อันเป็นผลมาจากฮอร์โมนในร่างกายที่สูงขึ้นผิดไปจากภาวะปกติทำให้สรีระร่างกายของคุณผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างที่ใหญ่ขึ้นเพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ผิวบอบบางแพ้ง่าย มีปัญหาสิวอักเสบอุดตัน สีผิวเข้มขึ้นในหลายๆ ตำแหน่ง เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบหน้าท้อง และรอบหัวนม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าที่คุณผู้หญิงกลัวกันมากที่สุดคือฝ้า ซึ่งเป็นผลจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่สูงขึ้นจากภาวะปกติ

มิหนำซ้ำระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง เป็นผลให้เจ็บป่วยได้บ่อยอีกด้วย ทำให้คุณแม่ทั้งหลายต่างพยายามหาสาระพัดวิธีที่จะดูแลความสวยความงามของตัวเองป้องกันเอาไว้ก่อนแต่เชื่อว่าคุณแม่หลายๆท่านก็คงอดกังวลไม่ได้ว่าครีมหรือเครื่องสำอางที่ตัวเองเคยใช้อยู่ หรือที่กำลังจะไปหาซื้อมาใช้นั้นจริงๆ แล้วสามารถใช้ได้หรือไม่ จะปลอดภัยกับลูกในท้องรึเปล่าทำให้บางคนถึงขั้นกลัวไม่กล้าใช้เครื่องสำอางไปเลยก็มี ยอมไม่แต่งหน้า จำใจปล่อยให้ตัวเองดูโทรม ทั้งที่จริงๆ แล้วแม้ว่าจะกำลังตั้งครรภ์อยู่ก็ยังสามารถรักสวยรักงามได้อย่างปลอดภัยเพียงแต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ

ในการเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ถูกต้อง รวมไปถึงการปฏิบัติตัวดูแลความสวยความงามได้อย่างเหมาะสมด้วยนะครับ ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้หรือควรทำด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกที่เป็นช่วงสำคัญที่สุดในการเจริญพัฒนาอวัยวะทุกส่วนของทารก หากได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายในช่วงนี้จึงมีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อทารกรุนแรงถึงขั้นพิการได้มากกว่าช่วงอื่นๆ ดังนั้นในช่วง 3 เดือนแรกนี้ ควรรหลีกเลี่ยงยาสารเคมี หรือ การปฏิบัติ ตัวที่มีความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นให้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกในท้องให้มากที่สุดยังไงล่ะครับ

สวยอย่างไรให้ปลอดภัย

ครีมบำรุงผิว
แนะนำว่าควรตรวจสอบฉลากหรือสอบถามผู้ขายว่าครีมบำรุงที่สนใจจะใช้นั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง และมีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน โดยแนะนำว่าควรสอบถามให้ชัดเจนว่ามีส่วนประกอบของสารต่อไปนี้หรือไม่ เพื่อจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อครับ

• AHA (เอเอ็ชเอ) หรือ กรดผลไม้ : เนื่องจากปริมาณที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้นั้นมีค่าต่ำมาก จึงไม่มีอันตรายใดๆ ต่อทารกในครรภ์ แต่สาเหตุที่ควรหลีกเลี่ยงนั่นก็เพราะในกรณีที่ใช้ AHA ความเข้มข้นสูงมากๆเช่น การทำทรีทเม้นท์ในร้านเสริมสวยมักจะใช้ความเข้มข้นสูงกว่า 30% อาจทำให้เกิดระคายเคืองต่อผิวได้ เพราะผิวหน้าช่วงตั้งครรภ์ จะอ่อนแอและบอบบางกว่าปกติ แนะนำว่าควรเลือกใช้ AHA ที่มีความเข้มข้นต่ำ และทาให้บางที่สุด และไม่ทิ้งไว้นานจนเกินไป ถ้ามีอาการระคายเคืองให้หยุดใช้ครับ

• BHA (บีเอ็ชเอ) คือ กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังและมักทำให้ผิวลอกได้ ซึ่งมีรายงานว่าการรับประทานยา acetylsalicylic acid มีผลรบกวนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ แต่การใช้ salicylic acid ในรูปแบบครีมบำรุงผิว หรือ เครื่องสำอางนั้นพบว่าการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่น่ามีอันตรายร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ แต่แนะนำว่าก็ควรใช้ BHA ที่มีความเข้มข้นต่ำๆ เช่น ไม่เกิน 2% จะปลอดภัยมากกว่าครับ


ครีมกันแดด

แนะนำว่าช่วงตั้งครรภ์ควรต้องใช้ครีมกันแดด เพราะผิวหนังช่วงตั้งครรภ์จะมีการสร้างเม็ดสีได้มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้าได้ง่ายขึ้น จึงควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB และควรเลือกค่า SPF 30 ขึ้นไป แต่ถ้าสูงมากๆ ก็อาจทำให้หน้ามัน ล้างออกยากได้เช่นกัน ทำให้ เกิดการตกค้างของสิ่งสกปรกในรูขุมขนจึงทำให้เกิดสิวอุดตันได้ง่ายขึ้นด้วยนะครับ


ครีมทาฝ้า 

ควรหลีกเลี่ยงครีมทาฝ้าหรือครีมหน้าขาว เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น ปรอท ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทของทารก ทำให้สมองพิการได้ โดยเฉพาะครีมที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจาก อย. ยิ่งอันตรายมากครับ



การแต่งหน้า
คุณแม่ทั้งหลายยังสามารถแต่งหน้ากันได้ตามปกตินะครับ เพียงแต่ต้องระวังปัญหาเรื่องสิวอุดตันเอาไว้ด้วย เพราะช่วงท้องผิวหน้าอาจมีความมันมากขึ้นกว่าปกติ หากแต่งหน้าหนามากจนเกินไป หรือล้างหน้าไม่สะอาด จากสวยๆกลายเป็นหมดสวยได้เช่นกันนะครับ


ยารักษาสิว

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่หลายๆ คนสงสัย เพราะปัญหาสิวสามารถเกิดได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือบางคนเพิ่งจะมาเป็นช่วงตั้งครรภ์ หรือบางคนตั้งครรภ์แล้วเป็นหนักมากขึ้นกว่าเดิมอีก จึงจำเป็นต้องพึ่งยารักษาสิว แต่ยารักษาสิวก็มีมากมายหลายชนิด หลายรูปแบบ ซึ่งในช่วงที่ตั้งครรภ์มีทั้งยาที่ใช้ได้ ยาที่ห้ามใช้ และยาที่ควรอยู่ในการดูแลแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปแล้วยารักษาสิวที่ใช้กันหลักๆ ก็ได้แก่

ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งมีทั้งรูปแบบรับประทานและรูปแบบทาแต่กำเนิดได้ ดังนั้นผู้ที่ได้รับยา isotretinoin ต้องคุมกำเนิดก่อนเริ่มรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และต้องคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ และต้องหยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

รูปแบบทาเฉพาะที่ ตัวอย่างชื่อทางการค้าในท้องตลาดเช่น Retin-A (เรติน-เอ) Stieva- A (สตีว่า-เอ) Renova (รีโนว่า) Differin (ดิฟเฟอริน) แม้ว่ากรดวิตามินเอ รูปแบบทาเฉพาะที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับรูปแบบรับประทาน แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้ในช่วง ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกก็อาจส่งผลกระทบต่อทารกได้เช่นกัน ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรต้องหยุดใช้ยาทันที

ยาทารักษาสิว เบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เรียกชื่อย่อๆ ว่า บีพี (BP) ชื่อทางการค้า คือ Benzac (เบนแซค) สามารถใช้ได้ครับแต่ให้ระมัดระวังอาการระคายเคืองต่อผิวหน้าได้ง่าย ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ระดับความเข้มข้นต่ำก่อน เช่น ต่ำกว่า 5% ก่อนนะครับ

การตั้งครรภ์

 ยาฆ่าเชื้อชนิดทาเฉพาะที่
มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ erythromycin และ clindamycin ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ไปลดการอักเสบโดยการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และถึงแม้ว่ายาจะถูกดูดซึมน้อยมากเมื่อเทียบกับรูปแบบรับประทาน แต่แนะนำว่าอย่าเสี่ยงดีกว่านะครับ และควรอยู่ในการดูแลแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิดครับ


เจลอาบน้ำ ยาสระผม

ไม่มีข้อห้ามอะไรมากมายครับแนะนำว่าควรมองหาผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนเหมาะกับสภาพผมและสภาพผิวของตัวเอง หรือเลือกผลิตภัณฑ์สกัดมาจากธรรมชาติเพื่อลดโอกาสเกิดอาการแพ้ หรือลดอาการผมร่วงในช่วงตั้งครรภ์ได้อีกด้วยครับ


การอบผม ไดร์ผม สปาผม

สามารถทำได้แต่ไม่ควรใช้ความร้อนสูง หรือ อบไว้นานจนเกินไป เพราะการได้รับความร้อนนานๆ อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดเป็นลมได้


การทำสีผม ยืดผม ดัดผม

แนะนำว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ควรเลี่ยงไปก่อน เพราะแม้ว่าการทำสีผมนั้นจะมีโอกาสที่สารเคมีจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงเล็กน้อยแต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆก็ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป เช่น ไม่ควรทำสีผมมากกว่าหนึ่งครั้งใน 3 เดือน และควรทำสีผมที่ใกล้เคียงกับสีผมธรรมชาติเดิมมากที่สุด หรือทำเพียงไฮไลต์ผมแทนการทำสีผมทั้งศีรษะ และพยายามให้สารเคมีสัมผัสกับผิวหนังให้น้อยที่สุด

ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้น้ำยาย้อมผมที่ทำจากธรรมชาติ เพื่อลดอันตรายจากสารเคมีที่อาจดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดถึงแม้ว่าการทำสีผมจะไม่ผลกระทบร้ายแรงชัดเจนต่อทารก แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่ได้เหมือนกัน เช่นอาการแพ้ ผิวหนังอักเสบระคายเคืองจากสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้ หรือมีอาการวิงเวียนศีรษะจากการสูดดมกลิ่นแอมโมเนีย ที่เป็นส่วนประกอบในน้ำยาย้อมผม ดังนั้นควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อลดการสูดดมกลิ่นสารเคมีที่จะทำให้เกิดอาการครับ


การทำเล็บ ทาเล็บ

สามารถทำได้ครับ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมกลิ่นสียาทาเล็บ หรือน้ำยาล้างเล็บ โดยตรงเป็นเวลานานๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้ ดังนั้นจึงควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ระหว่างการทำเล็บ


การเข้าซาวน่า

แนะนำว่าควรเลี่ยงการทำซาวน่าไปก่อนจะดีกว่านะครับ เพราะมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ที่จำเป็นมากเกินไป จากการที่อยู่ในห้องที่มีความร้อนสูงเป็นเวลานานๆ ทำให้เลือดข้นหนืดมากขึ้นการไหลเวียนของเลือดช้าลง ซึ่งช่วงที่ตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้มากกว่าปกติอยู่แล้ว จึงอาจทำให้มีโอกาสเกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ความร้อนจากการซาวน่าทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายขยายตัวประกอบกับความดันโลหิตที่ต่ำลงช่วงที่ตั้งครรภ์ยิ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง อาจทำให้มีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ง่ายด้วยครับ


การขัดตัว

เพราะฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผิวพรรณดูหมองคล้ำ รักแร้ดำ ขาหนีบดำ ถ้าอยากจะไป ขัดตัว หรือไปสครับผิวกันบ้างก็ยังสามารถทำได้นะครับ แต่ไม่ควรขัดแรงมากเกินไป เพราะคนท้องผิวจะบอบบางแพ้ง่าย มีโอกาสเกิดการระคายเคืองได้ง่ายกว่าปกติ



การนวดเป็นการผ่อนคลาย

สามารถทำได้ครับแต่ควรรอให้พ้นระยะสามเดือนแรกไปก่อน และควรหลีกเลี่ยงการนวดบริเวณท้องเพราะการนวดบริเวณท้อง สามารถกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบรัดตัว อาจทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้


การฉีดโบท็อกซ์
แนะนำว่าไม่ควรฉีดโบท็อกซ์ในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะโบท็อกซ์คือสารพิษที่ผลิตจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เส้นประสาทอัมพาตชั่วคราว กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดจึงไม่ทำงาน ทำให้รอยเหี่ยวย่นลดลง กล้ามเนื้อฝ่อเล็กลง แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไป หรือผู้ฉีดไม่มีความชำนาญเกิดพลาดฉีดยาเข้าสู่กระแสเลือด พิษของแบคทีเรียชนิดนี้ก็อาจจะส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ได้จึงถือว่าเป็นอันตรายมากครับ


การฉีดฟิลเลอร์ ร้อยไหม

สามารถทำได้นะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ก็ต้องมีคุณภาพ ได้รับการรับรองจากอย. และถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แนะนำว่าควรเลื่อนไปก่อนน่าจะเหมาะสมมากกว่านะครับ

 

ถึงตอนนี้คุณแม่ทั้งหลายคงสบายใจกันขึ้นบ้างแล้วนะครับ ว่าต่อจากนี้ไปเราก็พอที่จะมีความรู้ในการเลือกใช้เครื่องสำอางหรือเลือกวิธีการดูแลความสวยความงามของตัวเองได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยกับตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ได้บ้างแล้ว อย่าลืมอ่านฉลากข้างกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ทุกครั้งว่ามีคำเตือนว่าห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือไม่ หรือมองหาส่วนผสมที่เป็นสารอันตรายห้ามใช้รึเปล่า

หากมีข้อสงสัยแนะนำว่าควรสอบถามจากเภสัชกรประจำร้าน และควรแจ้งเภสัชกรด้วยทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ก่อนที่จะซื้อยาหรือเครื่องสำอางมาใช้ที่สำคัญควรปรึกษาหมอเจ้าของไข้เพื่อขอคำแนะนำว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้หรือไม่ และอะไรที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนหมอแนะนำว่าควรเลื่อนไปใช้หลังคลอดจะดีกว่านะครับ เลือกที่มั่นใจว่าปลอดภัยที่สุดก่อนดีกว่า นอกจากนี้การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบ้าง ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพียงเท่านี้ก็ได้สุขภาพที่ดีจากภายในส่งผลให้สวยถึงภายนอกได้เช่นกันนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook