ภาวะไขมันในเลือดสูง Hypercholesterolemia

ภาวะไขมันในเลือดสูง Hypercholesterolemia

ภาวะไขมันในเลือดสูง Hypercholesterolemia
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะไขมันในเลือดสูง นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้ นับเป็นโรคร้ายอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ เราสามารถควบคุมและป้องกัน ไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ไม่ยาก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อย่างมาก

ชนิดของไขมันในเลือด
ไขมันในเลือดที่สำคัญมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไขมันโคเลสเตอรอล (Cholesterol) และ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โดยทั่วไปในการตรวจไขมันในเลือดจะตรวจสารต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. โคเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้ขึ้นเองจากตับและลำไส้   หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป  อาหารที่มาจากพืชจะไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ  แต่จะพบมากในไขมันสัตว์  ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร โคเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย  โดยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หามมีไขมันโคเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน  ซึ่งไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง  หลอดเลือดหัวใจ  ฯลฯ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือด  ในอนาคตจะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณโคเลสเตอรอล และ มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ระดับปกติของโคเลสเตอรอลในเลือดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร


1.1  เอชดีแอล (High density lipoprotein-HDL) มีหน้าที่นำโครเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDLในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยลง HDL จะสูงได้จากการออกกำลังกาย ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร

1.2  แอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง ก็จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพอกหนาขึ้น จนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป หลอดเลือดจะตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร


2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้งหรือ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป  มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และ เค  ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องอยู่นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความ ต้องการ อย่างไรก็ตาม การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มี โคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)
 สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง
  - กรรมพันธุ์
  - การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
  - โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางอย่าง
  - โรคตับ โรคไตบางชนิด
  - ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ฮอร์โมนเพศ(ยาคุมกำเนิด) เป็นต้น
  - การตั้งครรภ์
  - การดื่มแอลกอฮอล์
  - ภาวะขาดการออกกำลังกาย

ผลของไขมันในเลือดสูง
จากการศึกษาพบว่า ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญอย่างมากกับการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่มีภาวะไขมันเลือดสูง จึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือดจนเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

จะทำอย่างไรถ้าไขมันในเลือดสูง
ถ้าตรวจพบว่าระดับไขมันในเลือดสูง ควรมีการควบคุมปริมาณไขมันในเลือด โดยการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
  1. การควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น ควรจำกัดไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน (ดูจากตารางปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหารแต่ละชนิด)
  2. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนเกินไปโดยจำกัดอาหารประเภทแป้ง - ข้าวต่าง ๆ ขนมหวาน
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เร่งการสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เจียว ควรใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็อดอกทานตะวัน ซึ่งมีกรดไลโนเลอิก เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาผลาญ ซึ่งจะช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
  5. ควรเพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก และอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น กากใยเหล่านี้จะช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
  6. รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ โรคตับ โรคไต และอื่น ๆ
  7. หยุดยาที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมันในเลือด หรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่น ๆ แล้วแต่ความเหมาะสม
  8. การออกกำลังกาย จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ครั้งละ 20 - 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง สำหรับการออกกำลังกายที่ดีที่สุดเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ คือ การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ การขี่จักรยาน แต่ถ้ามีอาการของโรคหัวใจอยู่แล้ว หรือมีอายุมากกว่า 40 ปี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนว่า การออกกำลังกายแบบใดจึงจะเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์โดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ
  9. ใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกับการรักษาดังหัวข้อที่กล่าวมาแล้วด้วย การใช้ยาแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่ได้ผล ควรควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และลักษณะนิสัยในการดำเนินชีวิตของตนเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook