คลอดลูกในน้ำทางเลือกคลอดธรรมชาติ
หาก จะพูดถึงการคลอดตามธรรมชาติแล้ว คุณแม่ท้องหลายท่านคงนึกถึงการคลอดบนบกแบบเบ่งคลอด แต่ยังมีวิธีการคลอดตามธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่งที่ปลอดภัย ก็คือ ‘การคลอดในน้ำ' ถึงแม้การคลอดวิธีนี้จะยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยมากนัก เนื่องจากคุณแม่มักจะกลัวว่าน้ำจะเป็นอันตรายแก่ลูกน้อยและมีโรงพยาบาลเพียง ไม่กี่แห่งที่มีการคลอดในน้ำ แต่แท้จริงแล้วการคลอดในน้ำเป็นการคลอดที่ปลอดภัยและอํานวยความสะดวกให้แก่ คุณแม่ในการคลอด ทั้งยังทําให้คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างคลอดด้วย หากคุณแม่หาข้อมูลและปรึกษาขอคําแนะนําจากคุณหมอเกี่ยวกับวิธีการคลอดที่ เหมาะสมและทําใจให้สบายแล้ว การคลอดในน้ำก็ไม่ใช่วิธีที่อันตรายอย่างที่คิดเลยค่ะ
ทําความรู้จัก ‘คลอดในน้ำ'
การคลอดในน้ำ หรือ Water birth เกิดขึ้นในต่างประเทศ 30 กว่าปีมาแล้ว เป็นการคลอดลูกวิธีธรรมชาติ โดยแม่ท้องลงไปคลอดลูกในอ่างน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส โดยแรงพยุงตัวของน้ำอุ่นที่อยู่รอบตัวจะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของคุณแม่ผ่อนคลายและบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการคลอด ให้ลดลงอีกด้วย
โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของแม่ท้องจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตสารเอ็นโดรฟิน ระหว่างภาวะการคลอด เพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกายอย่างเพียงพอในการระงับความเจ็บปวด และเมื่อสิ้นสุดภาวะการคลอดแล้วสารเอ็นโดรฟินจะลดปริมาณลง
‘น้ำ' สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้โดยการทํางานร่วมกับสารเอ็นโดรฟิน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ใยประสาทส่วนที่รับและส่งความเจ็บปวดไปสู่สมองส่วนนอก โดยอาศัยความรู้สึกทางผิวหนังของแม่ระงับความเจ็บปวด อีกทางหนึ่งคือร่วมกับความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวผ่อนคลายความเครียด สภาพแวดล้อมทางใจและกายที่เป็นส่วนตัว ก็จะยิ่งสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้มากขึ้น
‘คลอดในน้ำ' ไม่อันตรายอย่างที่คิด
คุณแม่ท้องอาจมีความกังวลว่าน้ำในอ่างคลอดจะเป็น อันตรายต่อทารกในท้องหรือไม่ แล้วเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วจะจมน้ำหรือเปล่า? ที่จริงแล้ว น้ำในอ่างจะเป็นอันตรายต่อท้องของแม่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ในอ่าง ถ้าน้ำร้อนจนเกินไปก็จะเกิดความเสี่ยงต่อทั้งแม่และลูกในท้อง ดังนั้นอุณหภูมิของน้ำจะต้องอยู่ที่ 35-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำคร่ำในท้องแม่ ประมาณอุณหภูมิของร่างกายปกติ ไม่ร้อนจนเกินไป
ทั้งนี้ น้ำที่นํามาใช้ในอ่างน้ำคลอดได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยรังสีอัลตราไวโอเลต ที่สามารถกําจัดเชื้อแบคทีเรียได้หมด และกําจัดเชื้อไวรัสบางชนิด ทําให้ทารกปลอดภัยจากการติดเชื้อขณะอยู่ในน้ำ
ส่วนความกังวลว่าทารกจะจมน้ำหรือไม่นั้น ตอนที่เพิ่งออกจากท้องแม่และยังอยู่ในน้ำอุ่น ทารกจะยังคงได้รับออกซิเจนจากเลือดที่ผ่านจากรกเข้ามาทางสายสะดือ และสามารถปรับตัวได้ก่อนที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ นอกจากนี้แรงดันของน้ำจะช่วยพยุงตัวทารกไว้ให้สามารถลอยตัวอยู่ในอ่างน้ำที่ สภาพและความดันของน้ำเหมือนกับตอนที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ ทําให้ทารกรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่
ดังนั้น ถึงแม้ทารกจะยังไม่มีการหายใจจนกว่าใบหน้าหรือผิวหนังจะขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่ก็สามารถอยู่ใต้น้ำ ในอ่างเพื่อปรับตัวก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำได้นาน 40-60 วินาทีโดยไม่เป็นอันตราย และช่วงเวลานั้นจะช่วยลดความเครียดของทารกได้อีกด้วย เมื่อคุณแม่อุ้มทารกขึ้นสู่ผิวน้ำ ทารกก็จะหายใจทันทีเมื่อใบหน้าโผล่พ้นน้ำและผิวหนังถูกกระตุ้นจากการสัมผัส กับอากาศเย็นภายนอกท้องแม่
‘คลอดในน้ำ' ดีอย่างไร?
• มี ความสะดวกสบายและเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในการคลอด เพราะเมื่ออยู่ใต้น้ำ ร่างกายของแม่ท้องจะเบา มีอิสระในการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติและเปลี่ยนท่าได้สะดวก ซึ่งการอยู่ในท่าที่สบายในน้ำอุ่นจะช่วยให้กล้ามเนื้อเชิงกรานและช่องคลอด เปิดให้ส่วนนําของทารกผ่านลงมาได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนี้ แรงพยุงของน้ำช่วยให้กล้ามเนื้อ บริเวณเชิงกรานขยายได้ง่าย รวมถึงการฉีกขาดของช่องคลอดน้อยกว่าการคลอดวิธีอื่น ทําให้คุณแม่ฟื้นตัวจากการคลอดได้เร็ว
• การลอยตัวในน้ำอุ่นจะช่วยกระจายแรงหดรัดตัวของมดลูกออกไป ทําให้เลือดไหลเวียนได้ดีและมีออกซิเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยระงับอาการเจ็บท้อง ทําให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวและผ่อนคลายอาการเกร็งจากการลดระดับของอะดรีนาลิน และยังเพิ่มระดับของสารเอ็นโดรฟินและออกซิโทซิน ทําให้ความเจ็บปวดบรรเทาลงและระยะเวลาการคลอดสั้นลง
• การแช่ตัวในน้ำอุ่นจะช่วยลดอาการความดันโลหิตสูงที่เกิดจากความวิตกกังวล โดยแรงต้านหรือแรงลอยตัวของน้ำจะช่วยลดภาวะการกดหรือความเครียด ในช่องท้องด้วยการทําให้กล้ามเนื้อมดลูกได้รับออกซิเจนและบีบรัดตัวอย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ความเจ็บปวดของแม่ลดลง และทารกก็จะได้รับออกซิเจนมากขึ้นด้วย
คุณแม่ที่ไม่เหมาะกับการคลอดในน้ำ
• เป็นโรคติดต่อหรือติดเชื้อเริมที่ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ เนื่องจากเชื้อเริมแพร่กระจายได้ง่ายในน้ำ ดังนั้น ช่วงใกล้คลอด แม่ท้องควรได้รับการตรวจเกี่ยวกับเริมเป็นพิเศษและหากสงสัยว่าจะเป็นโรคเริม ควรรีบปรึกษาแพทย์
• ทารกไม่อยู่ในท่าเตรียมคลอดปกติหรือทารกเอาก้นลง (breech)
• ทารกมีน้ำหนักตัวมากเกินไป
• แม่ตกเลือดมากหรือมีอาการติดเชื้อ
• ตั้งท้องแฝด
• เจ็บท้องคลอดก่อนกําหนด 2 สัปดาห์หรือมากกว่า
• แม่ท้องที่มีความดันโลหิตสูงอันเนื่องมาจากเคยมีอาการชักในระหว่างตั้งครรภ์
กลับหน้าแรกผู้หญิง ดูอะไรหญิงๆ มากกว่านี้..