มองชีวิต “ดีเจคลื่นวิทยุ” ผ่านสายตาดีเจรุ่นใหญ่ “เปิ้ล - หัทยา วงษ์กระจ่าง”

มองชีวิต “ดีเจคลื่นวิทยุ” ผ่านสายตาดีเจรุ่นใหญ่ “เปิ้ล - หัทยา วงษ์กระจ่าง”

มองชีวิต “ดีเจคลื่นวิทยุ” ผ่านสายตาดีเจรุ่นใหญ่ “เปิ้ล - หัทยา วงษ์กระจ่าง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่โลกทั้งใบมีขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือด้วยสมาร์ทโฟน และทำให้ไลฟ์สไตล์ของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะทำงาน อ่านหนังสือ ดูหนัง หาคู่ แม้แต่จะกินข้าว ก็มีแอปพลิเคชันต่างๆ ในสมาร์ทโฟนคอยอำนวยความสะดวกให้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ หากทุกวันนี้คนเราเลือกที่จะ “แก้เหงา” ด้วยความบันเทิงในโทรศัพท์ เพราะความหลากหลาย รวดเร็ว และง่ายดายนั่นเอง

และในไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป “การฟังเพลง” ก็เป็นอีกหนึ่งความบันเทิงที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เราเคยเป็น “คุณผู้ฟัง” ที่ฟังเพลงจากคลื่นวิทยุ หรือโทรหาดีเจเพื่อขอเพลง กลายเป็นการฟังเพลงในระบบสตรีมมิงจากแอปพลิเคชัน ที่นอกจากจะสามารถเลือกเพลงที่โดนใจเอาไว้ฟังเองโดยไม่ต้องง้อดีเจแล้ว ยังสามารถเหมาจ่ายรายเดือนหลักร้อยแต่ฟังเพลงได้เป็นล้านเพลงอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีโฆษณาคั่นให้รำคาญใจ

วิถีที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ก็ทำให้วงการดีเจและคลื่นวิทยุต้องปรับตัวขนานใหญ่ จากที่เคยอยู่แค่บนหน้าปัดวิทยุ ก็ขยายช่องทางการฟังเป็นจากคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ส่วนตัวดีเจเองก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่เปิดเพลงอย่างเดียว แต่ยังต้องเป็น “เอนเตอร์เทนเนอร์” พูดคุยตอบโต้กับแฟนคลับในโลกโซเชียล ขณะเดียวกันก็สร้างช่วงต่างๆ ในรายการสำหรับพูดคุยเนื้อหาเฉพาะ เพื่อสร้างความบันเทิงที่หลากหลายให้กับผู้ฟังมากกว่าแค่เปิดเพลง

เมื่อโลกต้องหมุนไปอยู่ทุกวัน งานดีเจก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น ลองมาฟังดีเจรุ่นใหญ่อย่าง “พี่เปิ้ล – หัทยา วงษ์กระจ่าง” ที่ครองตำแหน่ง “หลังไมค์” มาเป็นเวลากว่า 30 ปี แถมปัจจุบันยังควบตำแหน่งผู้บริหารคลื่นวิทยุน้องใหม่ 88.5 E-D-S Everyday Station กันดีกว่าว่างานดีเจของพี่เปิ้ลนั้น “เป็นมา” และจะ “เป็นไป” อย่างไร

 

ดีเจเมื่อ 30 ปีก่อน
“ทุกวันนี้ก็ยังทำรายการวิทยุอยู่ เพราะว่าวิทยุกับรายการวิทยุมันอยู่กับเราไปตลอด ขึ้นรถก็เปิดวิทยุ ก่อนนอนก็เปิดฟังเพื่อฟังเพลงและเรื่องราวต่างๆ มันก็เหมือนกับว่ามันไม่ได้หายไปไหน” พี่เปิ้ลอัพเดตความรู้สึกหลังจากที่ทำงานดีเจมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่การอ่านสปอตโฆษณาในวิทยุ และได้รับการติดต่อให้ทำเดโมเทป ก่อนที่จะเริ่มงานดีเจครั้งแรกที่คลื่น 97 จัดรายการคู่กับคุณบ็อบ เทริโอ คุณพ่อของนิโคล เทริโอ และตามด้วยงานที่คลื่นวิทยุสไมล์ เรดิโอ ซึ่งงานดีเจในยุค 80s นั้น เรียกว่าแทบจะเป็นระบบ “แมนนวล” ทั้งหมด จนดีเจต้องทำงานมือเป็นระวิงเลยทีเดียว

“สมัยก่อนยังใช้แผ่นเสียงอยู่เลย เป็นตัว LP เพลงที่เป็นอัลบั้มเต็ม อัลบั้มตัด เวลาคนส่งเพลงพิเศษมายังเป็นม้วนเทปอยู่เลย ดีเจก็ต้องเรียงเพลงเอง ต่อเพลงเอง ฟังเพลงเอง ใส่สปอตเอง ทำทุกอย่างเองหมด เพราะยังไม่มี Program Coordinator มาช่วย สมัยก่อนนี้เราต้องฟังเพลง เพลงจะจบแล้วต้องกดสปอต สปอตจะจบแล้ว เฮ้ย! จะเปิดเพลงจากเทิร์นเทเบิล หรือเปิดจากรีล เทป หรือคาสเซ็ต” พี่เปิ้ลเล่าถึงบรรยากาศในห้องส่งอย่างออกรส

และในบรรดาเพลงมากมายหลายแนว เพลงที่เปิดแล้วผู้ฟังรู้เลยว่าเป็นฝีมือดีเจเปิ้ล หัทยา ก็คือเพลงป็อบร็อก
“แนวแดนซ์ก็ชอบ แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นป็อบร็อกมากกว่า บางทีก็แนวให้กำลังใจ มันก็มีหลายแบบ พอโตขึ้นมาก็แนวเพื่อชีวิตซะเยอะ แต่ไม่ได้ฟังยาก ก็ผสมกันไป” พี่เปิ้ลกล่าวพร้อมร้องเพลงเป็นตัวอย่างให้ฟัง

“พี่เปิ้ลว่าเพลงที่ฟังได้นานๆ คือเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกเพราะ อย่างเพลงพี่เบิร์ดที่บางคนบอกว่าเป็นเพลงป็อบทั่วไป แต่มันก็มีบางเพลงที่ฟังแล้วโคตรเพราะ หรือเพลงอัสนี-วสันต์ พี่อาจจะฟังวัวลืมตัว มันแรงดี หรือ อำพล ลำพูน คนอื่นอาจจะฟังไว้ใจ แต่พี่จะฟังหยุดมันเอาไว้ พี่จะชอบอะไรที่ฟังแล้วรู้สึกว่านำมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตได้ เพลงสากลพี่ก็ฟัง พวก The Beatles หรือ Blondie ร็อกหน่อยๆ ก็ฟัง”

 

ดีเจคือเพื่อนของผู้ฟัง
จุดเด่นอย่างหนึ่งของงานดีเจคลื่นวิทยุที่การสตรีมเพลงแทนที่ไม่ได้ คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างดีเจและผู้ฟัง” ซึ่งหลายครั้งก็กลายเป็นความผูกพันระหว่างดีเจและแฟนรายการ

“ไม่ว่าจะเป็นสมัยก่อนหรือสมัยนี้ คนฟังก็ต้องการเพื่อน สมมติว่าคนนี้พูดจาถูกใจ เป็นกันเอง ฟังแล้วรู้สึกติดใจ ก็เหมือนดีเจคนนี้เป็นเพื่อนกับเขา ขณะที่บางคนฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ มันอยู่ที่เทคนิค การพูดคุย และอารมณ์ของรอยยิ้ม คือมันต้องมีอรรถรส ให้คนฟังรู้สึกได้อารมณ์ มีเหมือนกันที่อารมณ์ของเราไม่พร้อม แต่ถึงจุดหนึ่งแล้วเราต้องสลัดออกไปให้ได้ บางวันปวดท้องมากเลยแต่ไม่มีคนจัดรายการแทน ตอนจัดรายการเราก็ต้องยิ้มไป เราต้องทำให้คนฟังรู้สึกว่าอยู่กับเราแล้วมีความสุข อยู่กับเราแล้วได้กำลังใจ วันต่อไปอยากอยู่ อยากเจอเราอีก”

และยิ่งกว่าหน้าที่เปิดเพลงหรือเพื่อนแก้เหงา ดีเจยังต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ฟังด้วย โดยเฉพาะในยุคก่อนที่อินเตอร์เน็ตจะแพร่หลายในประเทศไทย

“เราเป็นเหมือนคนที่ให้ข้อมูลกับผู้ฟัง เช่น คุณรู้ไหมคะว่าทำไมนามปากกาของพี่นิ่ม สีฟ้า ถึงใช้ชื่อว่าสีฟ้า เพราะว่าเขามีแมวชื่อสีฟ้า เมื่อก่อนคนจะไปหาข้อมูลที่ไหนล่ะ เราก็ต้องไปหาข้อมูลให้เขา ไปสัมภาษณ์ศิลปิน แล้วเอาสิ่งนั้นมาบอกคนฟัง”

เมื่อเวลาผ่านไป คนไทยเสพข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนเป็นหลัก จนวิทยุแทบจะหมดบทบาทในชีวิตประจำวัน แต่ดูเหมือนว่าพี่เปิ้ลจะไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้เท่าไร

“จะบอกว่าคนไม่ฟังวิทยุเลยก็คงไม่ใช่ คนฟังวิทยุแต่วิธีการเปลี่ยนไป อาจจะไม่ได้ฟังจากสเตอริโอหรือวิทยุที่แบกไปแบกมา แต่อาจจะฟังบนมือถือ พี่ทำรายการวิทยุ พี่ก็รู้สึกว่าคนยังฟังวิทยุ เพียงแต่ว่าวิธีการเปลี่ยนไป คือไม่ได้ฟังจากหน้าปัดวิทยุ แต่สามารถฟังจากมือถือได้ มันก็สะดวกและเป็นประโยชน์เหมือนกัน” พี่เปิ้ลกล่าว

คู่ต่อสู้ที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ต
นอกเหนือจากช่องทางการฟังวิทยุที่เปลี่ยนไป บทบาทของดีเจก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ด้วยวิธีการจัดรายการที่สะดวกสบายมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย อีกทั้งดีเจหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย และต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้มี “พื้นที่” แสดงตัวตนและผลงาน ซึ่งพี่เปิ้ลมองว่านอกจากจะแข่งขันกับดีเจคนอื่นๆ แล้ว ตัวดีเจเองยังต้องค้นหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอด้วย

“ในขณะที่สมัยก่อนทางเลือกอาจจะน้อย เดี๋ยวนี้รายการบนหน้าปัดวิทยุมีเยอะ ดีเจก็เยอะแยะ ฉะนั้น ดีเจคนไหนสามารถที่จะโดดเด่นออกมาให้เป็นที่พูดถึงได้ ก็อยู่ที่วิธีการของแต่ละคน บางคนอาจจะโดดเด่นด้วยการพูดเก่ง บางคนแซว บางคนทะลึ่งตึงตัง แต่ก็ยังต้องทำการบ้านเหมือนกัน ต้องหาวิธีและหาตัวเองให้เจอให้ได้”

ไม่ใช่แค่ดีเจรุ่นเก่าเท่านั้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดีเจรุ่นใหม่เองก็ต้องพบกับความท้าทายในแง่นี้เช่นกัน โดยเฉพาะคู่ต่อสู้อย่าง “Google” ที่ช่วยให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างไม่จำกัด ดังนั้น จากที่เคยเป็นแหล่งข้อมูล ดีเจต้องถีบตัวอย่างแรงเพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่ไม่มีใน Google หรือสร้างเนื้อหาเป็นของตัวเอง และนำเนื้อหาเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังกับผู้ฟัง เพื่อรักษาสถานะความเป็น “แหล่งข้อมูล” บนคลื่นวิทยุเอาไว้

“พี่เปิ้ลจะแนะนำให้ดีเจเอาข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่มาบอกคนฟัง อย่างโอปอล์ ที่เล่นกีตาร์ได้และร้องเพลงมาตลอดชีวิต ฟางข้าว ที่เป็นคนเสียงแหบ แต่ร้องเพลงเสียงสูงได้ ก็เอาเทคนิคมาบอกคนฟัง นันท์เป็นคนป๊อบปูลาร์มาก ไปเจอแฟนคลับที่มาเลเซีย ก็เอามาเล่าให้คนฟัง เพราะเป็นสิ่งที่คุณไปเจอมาจริงๆ แต่จะเล่าอย่างไรให้สนุก ให้คนฟังไม่เบื่อ ไม่ยืดเยื้อ กระชับ ได้ใจความ ต้องทำการบ้านให้เยอะขึ้น แต่พี่เป็นดีเจมาตั้งแต่ยุคก่อน วันเสาร์พี่ก็มาจัดรายการ พี่จะไม่นั่งพูดอะไรซ้ำซากที่คนเขารู้แล้ว แต่ไปพูดอะไรที่คนไม่รู้หรือเฉพาะทางแทน”

Everyday Station
ด้วยความรักในงานดีเจ และความต้องการที่จะสร้างสรรค์แนวทางการฟังเพลงที่แปลกใหม่ พี่เปิ้ลตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารคลื่นวิทยุ และหันมาจัดตั้งคลื่นวิทยุของตัวเองที่มีชื่อว่า 88.5 E-D-S Everyday Station เมื่อช่วงปลายปี 2558 และเปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2559

“ก่อนที่จะมาทำคลื่นวิทยุของตัวเอง พี่เคยบริหารงานให้ FM One มาก่อน แต่ช่วงที่ลาพักร้อนเราก็รู้สึกว่าการที่เราเป็นผู้บริหารให้กับคนอื่น มันก็มีความสุข แต่บางทีเราก็ไม่ได้ทำอย่างที่เราอยากทำแบบเต็มร้อย ก็เลยคิดว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเรามีคลื่นเป็นของตัวเอง และไปประมูลคลื่น 88.5 ซึ่งแต่ก่อนเป็นสบายดีเรดิโอ ซึ่งเป็นคลื่นเป็นเพลงลูกทุ่งมาก่อน พี่ก็เขียนโปรแกรมให้เขาโดยเสนอเพลงไทยสากล เพราะถ้าเปลี่ยนจากลูกทุ่งมาเป็นสากลเลย คนฟังจะงง แล้วเราเลือกเพลงที่กลุ่มคนฟังเพลงลูกทุ่งฟังได้ อย่างเพลงของคาราบาว, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, พลพล ผสมเข้าไปกับเพลงยุคปัจจุบัน พอได้ปุ๊บ ก็หาสถานที่ หาคนทำงาน ต้องให้ได้คนที่เข้าใจวิทยุจริงๆ เพราะงานวิทยุค่อนข้างต่างจากงานอื่นๆ ทำอย่างไรให้คนฟังเสียงต่างๆ และคิดเป็นภาพตามเราได้ และรู้สึกว่าเขาสนุกไปกับเรา”

หลังจากที่ได้สถานที่แล้ว พี่เปิ้ลระดมความคิดเพื่อตั้งชื่อคลื่นวิทยุของตัวเอง โดยมองว่าคลื่น 88.5 ออกอากาศทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ จึงมาลงตัวที่ชื่อ Everyday Station พร้อมกับความตั้งใจคัดสรรเพลงเพื่อผู้ฟังทุกช่วงวัยในครอบครัว ให้ทุกวันของผู้ฟังเป็นวันพิเศษ

“วันจันทร์ต้องไปทำงาน คุณอาจจะขี้เกียจ แต่คุณเพิ่งหยุดเสาร์อาทิตย์มา วันจันทร์จึงเป็นวันที่เราต้องมีพลังแล้ว เราก็ทำให้เขารู้สึกว่า เพราะทุกวันเป็นวันพิเศษ เพราะทุกเพลงเป็นเพลงพิเศษ เพราะทุกคนเป็นคนพิเศษ เราก็ตั้งใจทำเพลงทุกเพลงให้เป็นเพลงพิเศษของคุณ คีย์เวิร์ดที่ทำให้เขารู้ว่าเราตั้งใจ นั่นคือ คลื่นเพลงไทยตั้งใจทำ เราตั้งใจทำจริงๆ ไม่ได้มาแบบฟลุกๆ ไม่ได้มาเล่นๆ และอยากให้คนฟังรู้สึกว่าไม่ได้ฟังเพลงแบบนี้มานานแล้ว”

 ฟางข้าว The Voice หนึ่งในดีเจของคลื่น 88.5 E-D-S Everyday Stationฟางข้าว The Voice หนึ่งในดีเจของคลื่น 88.5 E-D-S Everyday Station

นอกจากการเลือกเพลงให้ตรงใจผู้ฟังทุกกลุ่ม ดีเจที่จะมาจัดรายการให้กับคลื่นยังต้องเป็นดีเจรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งพี่เปิ้ลบอกว่าไม่ได้ต้องการคนเสียงเพราะ แต่ดีเจของ 88.5 E-D-S Everyday Station จะต้องมีคุณสมบัติมากกว่านั้น

“อย่างแรกคือฟังจากน้ำเสียงที่เขาจัดรายการ พี่ไม่ได้ต้องการคนเสียงเพราะ แต่พี่ต้องการคนที่มีวิธีการนำเสนอสไตล์ของตัวเองให้น่าสนใจ อย่างเช่นโอปอล์ เวลาพูดเสียงเขาไม่ได้เพราะมาก แต่เขามีวิธีการเล่าเรื่องที่เรารู้สึกว่าไปต่อได้ หรือฟางข้าว เวลาจัดรายการเขาจะยิ้ม หัวเราะ ฟังแล้วรู้สึกมีความสุข ส่วนแม็กซ์ คนนี้เสียงหล่อด้วย พูดจาน่าฟังด้วย บางคนที่เข้ามาแล้วเราไม่ได้เลือก ก็น่าเสียดายที่เด็กเกินไป เพราะเพลงของเราจะเป็นเพลงในยุค 80s – 90s จนถึงปัจจุบัน เราไม่ได้ต้องการดีเจอายุ 40 – 50 กว่า แต่เราต้องดูคนที่มีอายุเหมาะสม และมีวิธีการนำเสนอเรื่องราวที่ไม่ง้องแง้ง”

 

งานดีเจอยู่ในสายเลือด
ก่อนจากกัน พี่เปิ้ลพูดถึงสิ่งที่อยากเห็นในวงการดีเจ เรื่องความเป็นมืออาชีพและการสร้างความสุขให้กับผู้ฟัง แม้จะได้ยินแต่เสียงก็ตาม

“อยากให้ดีเจรู้สึกว่านักจัดรายการวิทยุเป็นอาชีพ เช่นเดียวกับงานพิธีกร พอได้รับมอบหมายงาน เราก็ต้องใส่ใจ อ่านสคริปต์ ทำความเข้าใจเรื่องราวที่เราจะนำเสนอ ดีเจก็เหมือนกัน เขาต้องรู้ว่าเขากำลังถ่ายทอดเรื่องราวอะไรให้คนฟัง วันนี้จะนำเสนอเพลงอะไรบ้าง อีกอย่างหนึ่งคือดีเจอยู่บนหน้าปัดวิทยุ แต่มีชีวิต เราได้ยินแต่เสียง แต่ทุกคนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งขณะที่ฟังรายการนั้นอยู่ บางทีการที่ไม่ได้เห็นหน้ากัน แต่ฟังเสียงแล้วรู้สึกรักดีเจคนนี้ จะฟังดีเจคนนี้ตลอดไป ถามว่ายากไหมก็ยาก แต่ถ้าทำได้แล้วมันก็ง่าย”

“บางคนถามว่าอยู่ในวงการมา 30 ปี แล้ว ไม่เบื่อเหรอ ไม่เบื่อหรอก มันรักไปแล้ว รักแล้วรักเลย” พี่เปิ้ลยืนยันด้วยสีหน้าสบายใจ แต่ใจความหนักแน่นมากทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook