การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

การผ่าตัดมดลูก เป็นการผ่าตัดที่กระทำบ่อยมากในการผ่าตัดทางนรีเวช ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูกในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง มีหลายข้อ เช่น
1.เนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri)
2.เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)
3.เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia)
4.เซลในเยื่อบุผิวปากมดลูกผิดปกติ (Cervical intraepithelial neoplasia)
5.เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal uterine bleeding) เป็นต้น

วิธีการผ่าตัดมดลูก (Techniques of hysterectomy) ในปัจจุบันมี 4 วิธี ได้แก่
1.การผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy)
2.การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic hysterectomy)
3.การผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็ก (เล็กกว่า หรือเท่ากับ 6 ซม.) (Minilaparotomy hysterectomy)
4.การผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy)

จากหลักฐานทางการแพทย์ (Medical evidence) จนถึงปัจจุบันนี้ พบว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hystertomy) ให้ผลที่ดีกว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง ทั้งในเรื่องความปลอดภัย (Safety), ความสวยงาม (Cosmetic), ระยะพักฟื้น (Recovery period), ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล (Hospital stays) และความประหยัด (Cost-effective)

การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง ((Laparoscopic hysterectomy) ให้ผลดีกว่า การผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy) ในเรื่องของระยะพักฟื้นที่สั้นกว่า (Shorter recovery period), ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่า (Shorter hospital stay) และการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดน้อยกว่า (Fewer wound infections) แต่การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องมีระยะการผ่าตัดที่นานกว่า (Longer operation time) และมีภาวะแทรกซ้อนเรื่องการบาดเจ็บต่อท่อไต และกระเพาะปัสสวะมากกว่า (More urinary tract injuries)

 

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเอามดลูกออกจากร่างกายโดยไม่มีแผลภายนอกร่างกาย (Scarless hysterectomy) นับเป็นนวัตกรรมทางการผ่าตัดมดลูกสำหรับประเทศไทย

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด เริ่มทำครั้งแรกในโลกโดยนายแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Langenbeck เมื่อปี ค.ศ.1831 (ประมาณ 180 ปีที่แล้ว) ช่วงเริ่มต้น เทคนิคการผ่าตัดนี้ ทำเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะมดลูก และกระบังลมหย่อน ต่อมามีการพัฒนาเทคนิคของการผ่าตัด ทำให้สามารถผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้ ในกรณีที่ไม่มีภาวะมดลูก หรือกระบังลมหย่อน

นอกจากจะเป็นการผ่าตัดซึ่งปราศจากแผลภายนอกร่างกายแล้ว จากหลักฐานทางการแพทย์ (Medical evidence) จนถึงปัจจุบันนี้ พบว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hystertomy) ให้ผลที่ดีกว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล

สภาสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American congress of obstetrician and gynaecologist ACOG) ได้ตีพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการ (Committee opinion) ลงในวารสาร Obstet & Gynecol ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2009 แนะนำว่า เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูกในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง ควรเลือกการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) เป็นอันดับแรก (Procedure of choice) เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และยังประหยัดที่สุดอีกด้วย โดยพบว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด มีภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดน้อยกว่า และระยะการพักฟื้นก็สั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านทางผนังหน้าท้อง

Up-To-Date โปรแกรมที่ให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ update และน่าเชื่อถืออันดับตันๆของโลก กล่าวถึง การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดว่า เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บน้อยกว่า (less invasive), สวยงามมากกว่า (more cosmetic) เนื่องจากไม่มีแผลภายนอกร่างกายเลย, ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า, ราคาถูกกว่า และระยะเวลาพักฟื้นสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดมดลูกด้วยวิธีอื่น

ปัจจุบันการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด สามารถทำได้ในหลายข้อบ่งชี้ โดยไม่จำเป็นต้องมี การหย่อนของมดลูก หรือกระบังลม เช่น เนื้องอกมดลูก, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก, เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นผิดปกติ, เซลปากมดลูกผิดปกติ, ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ทั้งนี้ขึ้นกับทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัด

ข้อจำกัดของการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด ได้แก่
- พยาธิสภาพของปีกมดลูก เช่น ถุงน้ำในรังไข่
- มีพังผืดหนาในอุ้งเชิงกราน
- ขนาดมดลูกใหญ่มากเกินไป
- ทักษะ และความชำนาญ ของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ (Single), ผู้ป่วยที่ไม่เคยตั้งครรภ์ (Nulliparity) และผู้ป่วยที่มีประวัติผ่าตัดคลอด (Previous cesarian section) ไม่ใช่ข้อจำกัดของการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (หลายการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่สามารถทำการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้ ในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มนี้)

ในประเทศไทย พบว่ามีการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด ในกรณีที่ไม่มีภาวะมดลูก และกระบังลมหย่อนน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีการฝึกอบรมทักษะการผ่าตัดชนิดนี้อย่างเป็นระบบ (Formal training)

นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดบางท่าน ในอเมริกา ยุโรป และอินเดีย รายงานว่า สามารถทำการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้ถึง 80-90% ของการผ่าตัดมดลูกทั้งหมด (ในข้อบ่งชี้ที่ไม่ใช่มะเร็ง) ในประสบการณ์ของผู้เขียนเอง พบว่า 70-80% ของการผ่าตัดมดลูกทั้งหมดสามารถทำผ่านทางช่องคลอดได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook