วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด
ช่วงหน้าหนาว นอกจากการเจ็บป่วยเป็นไข้หวัดในผู้ใหญ่แล้ว ในเด็กก็ยังมีอาการเป็นไข้หวัดได้ง่ายเช่นกัน และวิธีดูแลลูกเมื่อเป็นไข้หวัดจะต้องทำอย่างไร เรามีคำตอบมาฝากคุณพ่อคุณแม่แล้วค่ะ
หมั่นสังเกตอาการไข้ของลูก
ระยะแรกๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นกับเด็กมักจะมีอาการตัวร้อน หน้าแดง ตัวแดง เนื่องจากร่างกายกำลังพยายามระบายความร้อนออก แต่หากมีไข้สูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส โดยที่ไข้ยังไม่ลดลงภายในเวลา 4-6 ชั่วโมง คุณแม่ควรให้ลูกได้นอนพักผ่อนและควรเช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุ่น พร้อมกับให้ลูกทานยาลดไข้ ทั้งนี้หากไข้ไม่ลดลงภายในเวลา 24 ชั่วโมง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์จะดีที่สุด
ให้ลูกกินยาลดไข้
ในยามที่มีไข้ขึ้น หากเช็ดตัวแล้วไข้ยังไม่ลดลง ก็สามารถป้อนยาลดไข้ลูกได้ แต่ควรเป็นยาในกลุ่มของพาราเซตามอล เพราะยาชนิดนี้สามารถใช้ได้ในเด็กทุกวัย แต่ในเด็กเล็กนั้นควรกินในรูปแบบของน้ำตามปริมาณที่ฉลากยากำหนดไว้ และควรกินทุก 4-6 ชั่วโมง
ช่วยระบายน้ำมูก
เมื่อไรที่ลูกเป็นหวัดก็จะมีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาร่วมกับมีอาการคัดจมูก คุณแม่จะต้องช่วยระบายน้ำมูกที่ค้างในโพรงจมูกออกมา โดยการใช้ผ้าผืนนุ่มๆ ม้วนที่ปลายให้แหลม จากนั้นสอดเข้าไปยังรูจมูกเพื่อช่วยซับน้ำมูก หรืออาจจะดูดออกด้วยหลอดสำหรับดูดน้ำมูกหรือเครื่องดูดน้ำมูก เป็นต้น ส่วนในเด็กที่โตแล้ว แนะนำให้เขาสั่งน้ำมูกออกหรือจะใช้น้ำเกลือล้างจมูกก็ได้เช่นกัน
ทำอาหารที่ย่อยง่ายให้ลูกทาน
ในตอนที่ลูกเป็นหวัด แน่นอนว่าเขาจะไม่อยากทานอาหารเท่าไรนัก หรือมีอาการเบื่ออาหารนั่นเอง คุณแม่ควรทำอาหารประเภทที่ย่อยง่ายให้ลูกทาน เช่น ข้าวต้ม ซีเรียลสุก โจ๊ก มันบด ฟักทอง กล้วย ขนมปังปิ้งและแคร็กเกอร์ เป็นต้น
ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ
เมื่อลูกเป็นหวัด ร่างกายจำเป็นที่จะต้องระบายความร้อนที่อยู่ภายในออกมา คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำได้อีกด้วย นอกจากการดื่มน้ำเปล่าแล้ว อาจจะดื่มเป็นน้ำผลไม้คั้นสดอย่างน้ำส้มก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรให้ลูกดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือน้ำอัดลมเด็ดขาด
อาการที่ควรพาลูกไปพบแพทย์
1.มีไข้สูงถึง 38 องศาเซลเซียส สำหรับเด็กอายุ 3-6 เดือน หรือไข้สูงถึง 39.5 องศาเซลเซียส ในเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
2.มีไข้ขึ้นนานกว่า 24 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือไข้นานกว่า 72 ชั่วโมง ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี
3.มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ร้องไห้ไม่หยุด กระสับกระส่าย หายใจเร็ว หอบ ชัก ซึม อาเจียนหรือท้องเสีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กมีอาการผิดปกติ หลังจากที่ดูแลเบื้องต้นไปแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรพาเขาไปพบแพทย์จะดีที่สุด