“นางงามฟีเวอร์” สะท้อนอะไรในสังคมไทย

“นางงามฟีเวอร์” สะท้อนอะไรในสังคมไทย

“นางงามฟีเวอร์” สะท้อนอะไรในสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึง “สงคราม” สิ่งแรกที่จะผุดขึ้นมาในความคิดของเราก็น่าจะเป็นภาพทหารถืออาวุธมาต่อสู้กัน ท่ามกลางฝุ่นควัน ซากปรักหักพัง และกลิ่นคาวเลือด แต่รู้ตัวหรือไม่ว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามครั้งสำคัญ ที่ไม่ได้มีความโหดร้ายแต่อย่างใด เพราะสงครามครั้งนี้ฟาดฟันกันด้วย “ความงาม” และ “สติปัญญา” โดยมีมงกุฎเพชรเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่บอกว่าคุณเป็น “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก” สมรภูมิความงามที่ว่านี้ก็คือการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 66 ซึ่งในครั้งนี้ ตัวแทนสาวงามของไทยอย่างมารีญา พูลเลิศลาภ ก็ได้ทะยานเข้าสู่รอบ 5 คนสุดท้าย เป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปี เลยทีเดียว

มารีญา พูลเลิศลาภMiss Universe Thailandมารีญา พูลเลิศลาภ

ด้วยหน้าตาสวยงามกับบุคลิกภาพระดับอินเตอร์ ส่งให้มารีญาสามารถฝ่าฟันเหล่านางงามจากประเทศ “ตัวแม่” เข้าสู่รอบลึกๆ อย่างไม่น่าแปลกใจ แถมยังทำให้เหล่าแฟนคลับชาวไทยเกิดความหวัง ถึงขั้นมีแฮชแท็กสุดฮิตอย่าง #มงไม่ลงจะงงมาก ทว่าสุดท้ายนอกจากมงจะไม่ลง ยังทำเอาแฟนๆ งงไปกันใหญ่ ว่าน้องเลิศขนาดนี้ ทำไมมงไปลงหัวนางงามประเทศอื่นได้ ตามด้วยการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้มารีญาพลาดตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ทั้งคำถามที่ยากเกินไป ไปจนถึงเรื่องชุดราตรีที่ไม่สวยและทำให้นางงามของเราเสียความมั่นใจ กลายเป็นกระแสที่มีทั้งการวิเคราะห์อย่างจริงจังและดราม่าในวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่อีกคำถามหนึ่งที่หลายคนคงสงสัย (นอกจาก Social Movement คืออะไร) ก็คือเหตุใดคนไทยจึงต้อง “อิน” กับการประกวดมิสยูนิเวิร์สกันเบอร์นี้ การประกวดนางงามทำร้ายสิทธิสตรีหรือไม่ และปรากฏการณ์ “นางงามฟีเวอร์” นี้ สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมไทย

ปรากฏการณ์นางงามฟีเวอร์จากมุมมองแฟนคลับ
ก่อนที่จะเข้าสู่การวิเคราะห์หาสาเหตุความอินเบอร์แรง ก็ต้องมารู้จักที่มาที่ไปและภาพรวมของกระแสความตื่นตัวเรื่องการประกวดนางงาม ที่ดูจะคึกคักมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา จนแม้กระทั่งวงการแฟชั่นชั้นสูงของไทยต่างพากันตื่นตัวเรื่องนางงาม จากปากกูรูนางงามตัวจริงอย่าง “อุ๊บ วิริยะ พงษ์อาจหาญ” นักปั้นมือหนึ่งและผู้จัดการดาราชื่อดัง ผู้ติดตามชมการประกวดมิสยูนิเวิร์สมานานถึง 50 ปี และใฝ่ฝันจะเห็นมงกุฎมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 3 ของสาวไทย

อุ๊บ วิริยะ และมารีญา ก่อนเดินทางไปประกวดมิสยูนิเวิร์สที่สหรัฐอเมริกาวิริยะ พงษ์อาจหาญอุ๊บ วิริยะ และมารีญา ก่อนเดินทางไปประกวดมิสยูนิเวิร์สที่สหรัฐอเมริกา

“กระแสการเชียร์นางงามมันเริ่มมาจากกลุ่มเกย์ ซึ่งเป็นคนที่ชอบนางงามโดยสายเลือด เหมือนผู้ชายชอบดูฟุตบอล พวกเกย์เป็นกลุ่มที่มีบทบาทและมีพลังมากในการทำสิ่งต่างๆ และเราก็เป็นแรงบันดาลใจทำให้คนหันมาเชียร์นางงาม อย่างตอนนี้ก็มีการทำแฟนเพจ ก็จะมีแฟนคลับผู้ติดตามเป็นหมื่นเป็นแสนคนทั่วประเทศ ยิ่งตอนหลังเรามีการประกวดค่อนข้างเยอะ แล้วสาวไทยทำผลงานค่อนข้างดี มันก็เลยเกิดเสียงตอบรับที่ดี ทำให้กองเชียร์มีกำลังใจ สนุก พอถึงช่วงฤดูกาลประกวดนางงามเราก็จะรวมกลุ่มกัน จัดมีตติ้งกันเพื่อเชียร์นางงาม”

“เราก็มีความสุขในการเชียร์ เหมือนเชียร์ลูกหลาน” อุ๊บกล่าว

 มารีญาและแฟนคลับ ขณะออกเดินทางไปประกวดมิสยูนิเวิร์สที่สหรัฐอเมริกาMiss Universe Thailandมารีญาและแฟนคลับ ขณะออกเดินทางไปประกวดมิสยูนิเวิร์สที่สหรัฐอเมริกา

สงครามแบบสันติวิธี
แม้ว่าที่มาที่ไปของปรากฏการณ์นางงามฟีเวอร์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจและความคาดหวังที่จะเห็นสาวไทยก้าวสู่เวทีอันทรงเกียรติระดับโลก แต่ความภาคภูมิใจก็แฝงไปด้วยแง่มุมทางสังคมที่น่าสนใจ โดยนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่อย่าง “ชานันท์ ยอดหงษ์” ที่สนใจประเด็นเรื่องเพศและการเมือง ได้เปรียบเทียบการประกวดมิสยูนิเวิร์สว่าเป็น “การทำสงครามแบบสันติวิธี” เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

บรรยากาศการเก็บตัวของสาวงามจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส ที่สหรัฐอเมริกาGettyimagesบรรยากาศการเก็บตัวของสาวงามจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส ที่สหรัฐอเมริกา

“การประกวดนางงามก็เหมือนกับการทำสงครามรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งคนออกไปรบและเอาชัยชนะกลับมา เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือเอเชียนเกมส์ เป็นการทำสงครามที่เป็นสันติวิธี ก็เลยออกมาในรูปการประกวดความสวยความงาม เอาผู้หญิงไปเป็นนักรบของชาติ เพราะปกติร่างกายของผู้หญิงก็มีภาวะที่จะต้องแบกรับภาระของความเป็นชาติอยู่แล้วในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นดอกไม้ของชาติ เป็นความสง่างาม ส่วนสาเหตุที่คนไทยสนใจกันผมคิดว่าเป็นเพราะว่ายุคดิจิทัลตั้งแต่ 1990 เป็นต้นมา แล้วมีการให้กดโหวต ผู้เล่นก็เลยไม่ใช่นางงามอย่างเดียวแล้ว แต่มีองคาพยพอื่นๆ ด้วย”

 บรรยากาศบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สGettyimagesบรรยากาศบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส

ด้าน “ผศ.ดร.จเร สิงหโกวินท์” อาจารย์จากคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็มีความเห็นเป็นไปในทางเดียวกับคุณชานันท์ โดยเฉพาะการเป็นสงครามที่ไม่ได้มีผู้เล่นแค่นักรบนางงาม แต่ยังรวมไปถึงกำลังพลในภาคส่วนอื่นๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสงครามความงามในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา

“สาเหตุที่คนมาสนใจการประกวดนางงาม ผมมองว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของสถานีโทรทัศน์ ของผู้ที่ถือลิขสิทธิ์ รายได้จากสปอนเซอร์ รายได้จากการโฆษณา ประการที่สองคือการเมือง สังคม อาจจะเป็นเพราะเราถูกห้ามไม่ให้มีกิจกรรมทางการเมืองหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้ ก็เลยมาลงที่เรื่องที่ดูไร้สาระอย่างการประกวดนางงาม แต่ที่จริงมันไม่ได้ไร้สาระนะ ประการที่สาม การที่ความงามถูกพูดถึงมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นการประกวดระดับนานาชาติ ที่ตัวแทนไม่ใช่แค่การแข่งขันความงามของผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติเหมือนการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ที่สามารถสร้างเอกภาพให้กับคนทั้งประเทศได้ มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ความเป็นชาติ และการแข่งขันนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากผู้นำอีก และได้รับการสนับสนุนในทุกระดับ”

มารีญาและเพื่อนสาวงามจากเวทีมิสยูนิเวิร์สMiss Universe Thailandมารีญาและเพื่อนสาวงามจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส 

การประกวดนางงามเป็นการเหยียดเพศที่ไร้สาระจริงหรือไม่?
ไม่ว่าเวทีมิสยูนิเวิร์สที่จัดการประกวดสาวงามมายาวนานกว่า 60 ปี หรือเวทีรุ่นน้องอย่างมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ล้วนตกเป็นจำเลยในฐานะ “เวทีแห่งการเหยียดเพศ” นับตั้งแต่ยุคหลังทศวรรษ 1990 โดยเหล่าเฟมินิสต์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมบริโภคนิยม แฟชั่น ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจความงาม การแพทย์ รวมไปถึงการประกวดนางงาม ที่มุ่งประเด็นไปที่ความสวยงามของผู้หญิง ซึ่ง “จุฑาธร ประวัติยากูร” นักวิชาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายว่า

“สถาบันทางสังคมเหล่านี้ตั้งมาตรฐานสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าผู้หญิงควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นอันตรายต่อความเสมอภาคและความก้าวหน้าของผู้หญิง เพราะว่าผู้หญิงยุคนี้โดนสื่อและสถาบันสังคมตีกรอบไว้ว่า เป็นผู้หญิงมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องหน้าตา หุ่นดีแบบไหน ทำสวยแบบไหนถึงจะเป็นที่ต้องการของผู้ชาย เป็นที่ชื่นชอบของสังคม เฟมินิสต์เหล่านี้จะมีความคิดว่า การประกวดนางงามเป็นการวัดค่าของผู้หญิงที่ภายนอก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศไม่ต่างจากสินค้าชนิดหนึ่ง”

อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศไทย รับตำแหน่งในปี 1965Gettyimagesอาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศไทย รับตำแหน่งในปี 1965

“ในขณะที่ประเทศไทย การประกวดนางงามที่เฟื่องฟูในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีบทบาทต่อสังคมไทยโดยการสร้างมาตรฐานความเป็นหญิงไทย ตั้งแต่ระดับประเทศไปถึงการประกวดนางงามในระดับรากหญ้า ที่เห็นได้ชัดคือ การทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ประเมินความงามของผู้หญิงเป็นตัวเลข สมัยก่อนบางเวทีมีการให้คะแนนสัดส่วน หัวกะโหลก ความยาวขาแขน หน้าอกของนางงามก็มี แต่ในปัจจุบันการประกวดนางงามมีการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่เลยพยายามเน้นเรื่อง Women’s Empowerment แทน”

“นอกจากนั้น เราจะเห็นปัญหาต่างๆ ของสังคมไทยได้จากการประกวดนางงามเหมือนกัน เมื่อไรที่มีนางงามหน้าตา สีผิวไม่สอดคล้องกับความสวยในอุดมคติแบบไทยๆ เช่น ไม่ขาว ไม่ผอมเพรียว ก็จะเริ่มมีคำต่อว่าว่าทำไมไม่สวยเลย ไม่เหมาะสม นี่เป็นตัวอย่างว่าสังคมไทยมีรูปแบบความคิดว่าสวยต้องแบบไหน ผู้หญิงต้องเป็นแบบไหนถึงจะดี ซึ่งเวทีประกวดนางงามและสื่อได้ตอกย้ำมายาคติเหล่านี้” คุณจุฑาธรกล่าวเสริม

Gettyimages

ด้านเพจ “โลกสีเทา” ซึ่งเป็นแฟนเพจที่มีเนื้อหาวิจารณ์ด้านสังคมวิทยา ระบุว่าถึงแม้ทุกวันนี้ เวทีการประกวดนางงามใหญ่ๆ อย่างมิสยูนิเวิร์ส หรือมิสเวิลด์ จะพยายามก้าวข้ามการนำเสนอในทางเพศแล้วด้วยแนวคิด “ความงามอย่างมีคุณค่า” และพยายามปั้นนางงามที่สามารถเป็นผู้นำทางสังคมได้ แต่ก็ยังมี “จุดบอด” อยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ “เสียง” หรือตัวตนของนางงามเอง

“ช่วงระหว่างการเป็นนางงามในตำแหน่ง ดิฉันคิดว่าค่อนข้าง "เงียบ" มาก คือนางงามทำโครงการต่างๆ ตามแผนงานที่ต้นสังกัดเขียนใบสั่งมา ซึ่งจะโฟกัสอยู่แค่การเตรียมความพร้อมไปประกวดในระดับนานาชาติกับการออกงานสร้างรายได้ หรืองานการกุศลที่ต้นสังกัดคัดเลือกมาแล้ว ทำให้ไม่ได้ยิน "เสียง" ของตัวนางงามเองเลยว่าต้องการรณรงค์โครงการอะไรไปในแนวไหน ไม่เห็นแรงขับดันหรือความมุ่งมั่นจากตัวนางงาม ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าเสียดายโอกาสและดูย้อนแย้งกับการพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้นางงามมีคุณค่าในมุมของปัจเจกชนมากกว่าที่จะเป็นเพียง "หน้าตา" หรือพรีเซ็นเตอร์ของต้นสังกัด”

ภรณ์ทิพย์ ไซมอน (กลาง) มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของไทย รับตำแหน่งในปี 1988 เจ้าของคอนเซ็ปต์ Gettyimagesภรณ์ทิพย์ ไซมอน (กลาง) มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของไทย รับตำแหน่งในปี 1988 เจ้าของคอนเซ็ปต์

“ถ้าจะผลักดันให้ประชาชนเกิดมุมมองที่ดียิ่งขึ้นไปต่อการประกวดนางงาม ทางต้นสังกัดควรมองให้กว้าง และตั้งเป้าหมายให้ไกลกว่าการไปประกวดเวทีนานาชาติ คือนางงามควรมีคุณค่าในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่พยายามเพียงแค่ว่าต้องเข้า "บล็อก" ของความงามในการประกวด หรือว่าจับนางงามมาเป็น "แหล่งรายได้" ของบรรดาพวกผู้จัดการ” ผู้ดูแลเพจโลกสีเทาให้ความเห็นเพิ่มเติม

เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ สาวงามจากแอฟริกาใต้ ผู้คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2017Gettyimagesเดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์ สาวงามจากแอฟริกาใต้ ผู้คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2017 

นอกเหนือจากเรื่องการเหยียดเพศและทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุ การประกวดนางงามยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนหลายกลุ่มในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่ง “รศ. ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์” นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ขยายความทัศนคตินี้

“ในบางสังคม การประกวดนางงามดูเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา เป็นเพราะความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 พอโลกมันเปลี่ยนมากๆ เร็วๆ คนคว้าไม่ค่อยทัน ก็เปลี่ยนไปหาสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย สิ่งที่เข้าใจได้ หรือคุณค่าที่คุ้นเคย และมีทักษะพอจะจัดการได้ เช่น ศาสนา เรื่องร่างกายความงามก็คือเรื่องหนึ่ง เพราะคุณใช้มันในทางเศรษฐกิจได้ ใช้ความรู้สึกในการจัดการควบคุมชีวิตตัวเองได้ ถ้าพูดเฉพาะสังคมไทย สังคมไทยในเวลานี้มีความไม่แน่นอนสูง อยู่ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเร็วมากและไม่รู้จะเปลี่ยนเป็นอะไร คุณก็หาอะไรที่เข้าใจได้เพื่อที่จะออกความเห็นหรือชื่นชมก่นด่า การประกวดนางงามก็เป็นเรื่องหนึ่ง” 

“และเนื่องจากตอนหลังมันมีเรื่องธุรกิจเข้าไปเยอะ การประกวดนางงามส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของทรัพย์สิน แต่ที่สำคัญมากคือเรื่องโอกาสในชีวิตที่คุณจะเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่อไป เพราะฉะนั้น การประกวดนางงามในหลายๆ ประเทศ กลายเป็นทางเลือกหลักของผู้หญิง ถ้าคุณต้องการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม อย่างบางประเทศในละตินอเมริกา ก็มีการฝึกเพื่อการประกวดนางงาม มีการทำให้สวยเพื่อประกวดนางงาม มันไม่ใช่เรื่องปัญญาอ่อน มันคือการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย”

มารีญาในชุดประจำชาติ Miss Universe Thailandมารีญาในชุดประจำชาติ

นางงามกับชาตินิยม
เมื่อมีการต่อสู้เกิดขึ้นในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบด้วยอาวุธ ทักษะด้านกีฬา หรือแม้กระทั่งความงาม สิ่งที่ตามมาโดยธรรมชาติก็คือ “แนวคิดชาตินิยม” ที่ส่งผลให้เหล่ากองเชียร์พร้อมจะลุกขึ้นมาห้ำหั่นกันในทุกวิถีทาง และเมื่อมีอาวุธใหม่อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ก กระแสชาตินิยมก็ยิ่งเปิดเผยอย่างกว้างขวางและเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการรบพุ่งกันระหว่างแฟนคลับนางงามชาวไทยและชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันแทบทุกเวที และงัดเอากลเม็ดต่างๆ มาขัดแข้งขัดขากันอย่างออกรส

“ในยุคปัจจุบัน เราจะเห็นว่าหลายประเทศในโลกมีกระบวนการขับเคลื่อนเรื่องชาตินิยมสูงมาก ยิ่งหลังการปฏิวัติครั้งล่าสุด แนวคิดเรื่องชาตินิยมและความเป็นปึกแผ่นมั่นคง มันถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการเข้าสู่อำนาจ การปล่อยให้ประชาชนมาให้ความสำคัญกับการแข่งขันความสวยความงาม ในทางหนึ่งก็เป็นการส่งเสริมความมั่นคงไปในตัว คนก็รู้สึกฮึกเหิม นางงามเป็นศูนย์รวมใจให้คนได้ตั้งความหวัง” ดร. จเรกล่าว

อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ในชุดรถตุ๊กตุ๊กอันโด่งดัง ที่คว้ารางวัลชุดประจำชาติเมื่อปี 2015อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ในชุดรถตุ๊กตุ๊กอันโด่งดัง ที่คว้ารางวัลชุดประจำชาติเมื่อปี 2015

กระแสความอินหลังสิ้นสุดสงคราม
นอกจากกระแสฟีเวอร์ตั้งแต่ก่อนมารีญาก้าวสู่สมรภูมิมิสยูนิเวิร์ส จนกระทั่งเริ่มการประกวด อีกกระแสที่อาจจะรุนแรงมากกว่าตอนประกวดก็คือ กระแสหลังจากที่แฟนคลับชาวไทยทราบข่าวว่ามารีญาไม่ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งส่งผลให้คนจากหลายแวดวงพากันวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมสาวงามของไทยจึงพลาดตำแหน่ง แม้ว่าจะมีศักยภาพมากพอ ยิ่งกว่านั้น การครุ่นคิดหาเหตุผลดังกล่าวยังลุกลามกลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์ ทั้งการกล่าวโทษว่าคำถามยากเกินไป และชุดราตรีที่ไม่ส่งเสริมบุคลิกและทำลายความมั่นใจของสาวงามไทย

สำหรับสาเหตุความ “อิน” ที่กลายเป็นดราม่าในที่สุดนี้ นักวิชาการทั้งหลายมองว่ามาจากความคาดหวังของแฟนคลับ และธรรมชาติของการประกวดความงามที่เป็นนามธรรม รวมทั้งสามารถถกเถียงได้อย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลหรือความรู้เฉพาะทาง

Gettyimages

“เพราะว่าเราตั้งความหวังไว้สูง พอผิดหวัง ส่วนใหญ่เราก็มักจะโทษคนอื่นไว้ก่อน ก็เลยเกิดประเด็นเรื่องชุดไม่สวย ถึงแม้ว่าจะพูดถึงการตอบคำถาม แต่สื่อหลักกลับไปจับประเด็นเรื่องเสื้อผ้าเป็นหลัก ที่ทำให้มารีญารู้สึกไม่สบายใจ ไม่มั่นใจ แล้วก็มีผลต่อการตอบคำถาม ผมว่าเป็นการเบี่ยงประเด็นนะครับ เพราะจริงๆ แล้ว การที่ไปเน้นรูปร่างหน้าตา หรือบอกว่าเสื้อผ้ามีผลมากเสียจนคนจะได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลแล้วล่ะก็ ก็แสดงว่าความเป็นผู้หญิงหรือตัวแทนของชาติเราก็อยู่แค่ที่เรือนร่าง แค่ร่างกายของผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้น มันก็สะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ของคนที่เขียนข่าวนี้ ว่าที่จริงแล้วเขาก็ยังมองว่าความงามของผู้หญิงหรือคุณค่าของความเป็นผู้หญิงอยู่ที่ความงามหรือเรือนร่างของผู้หญิงเท่านั้น ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำการเป็นปิตาธิปไตยของสังคมไทย” ดร. จเรได้ให้ความเห็นไว้

“แต่จริงๆ จะไปโทษสื่อก็ไม่ได้ เพราะเราถูกฝังหัวกับเรื่องเหล่านี้มานาน ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีโฆษณาชวนเชื่อออกมา เช่น ผู้หญิงคือดอกไม้ของชาติ ผู้ชายคือรั้วของชาติ วาทกรรมเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำมานานถึง 70 – 80 ปี เพราะฉะนั้น คนก็คุ้นเคยกับวาทกรรมนี้ จึงไม่ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะคำถาม หรือเป็นเพราะคำตอบของมารีญาหรือเปล่าที่เป็นสาเหตุให้ไม่ได้เข้ารอบ ไม่ใช่เสื้อผ้า”

มารีญา ขณะตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้าย และชุดราตรีที่ถูกวิจารณ์Gettyimagesมารีญา ขณะตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้าย และชุดราตรีที่ถูกวิจารณ์

รศ.ดร. ชลิดาภรณ์กล่าวเสริมว่า “คนไทยมีความคาดหวังกับการประกวดนางงามในระดับโลกในช่วง 2 – 3 ปี อยู่มาก ของเราก็มีหวังว่าจะชนะ เราเชียร์สุดชีวิตขนาดนี้ แล้วจริงๆ ก็คือดูเหมือนเกือบได้ ทีนี้ก็นำมาสู่การถกเถียง โต้เถียงว่าทำไมคุณไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เถียงได้ มันไม่ซับซ้อน ประเด็นเลยถูกหยิบขึ้นมา คุณจะถกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญเหรอ เรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องเศรษฐกิจมันต้องอาศัยข้อมูลเฉพาะ ต้องติดตามข้อมูล ไม่ใช่อยู่ดีๆ คุณจะพูดก็พูดได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เถียงกันง่าย เข้าใจได้ว่ามันคืออะไร พร้อมที่จะถกเถียงกันได้ค่ะ

Gettyimages

รอบตัดสิน: อินนางงามแล้วผิดหรือไม่?
จากความเห็นในหลายมุมของนักวิชาการและแฟนนางงามตัวยง เห็นได้ชัดว่าเรื่องการประกวดนางงามนั้นมีแง่มุมที่หลากหลายให้พูดคุยกัน นอกเหนือจากเรื่องความสวยความงาม ต่างคนต่างก็มีเหตุผลของความ “อิน” หรือ “ไม่อิน” แตกต่างกันไป นั่นหมายความว่าการให้คุณค่ากับประเด็นนี้ ก็ย่อมแตกต่างไปตามมุมมองของแต่ละคนด้วยว่าจะมองเรื่องนี้ผ่านกรอบไหน อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะคิดตรงกันก็คือ “รูปลักษณ์ภายนอก” ไม่สามารถนำมาวัดหรือตัดสินคุณค่าภายในของผู้หญิงได้ และคงจะดีไม่น้อย หากเราสามารถใช้ปรากฏการณ์ “นางงามฟีเวอร์” นี้ เป็นพื้นที่ให้พูดคุยเกี่ยวกับคุณค่าของผู้หญิงอย่างสร้างสรรค์ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook